15 คำถามข้องใจกับการ ล้างจมูก ให้ปลอดภัยในวัยเด็ก - Amarin Baby & Kids
ล้างจมูก ในวัยเด็ก

15 คำถามข้องใจกับการ ล้างจมูก ให้ปลอดภัยในวัยเด็ก

Alternative Textaccount_circle
event
ล้างจมูก ในวัยเด็ก
ล้างจมูก ในวัยเด็ก

ล้างจมูก แล้วแก้วหูจะทะลุไหม ทำไมลูกสำลักเวลาล้าง น้ำเกลือแบบไหนเหมาะแก่การล้างจมูกลูก สารพัดสารพันปัญหาที่คุณแม่อยากรู้ วันนี้คุณหมอจะมาเฉลยวิธีให้ทราบกัน

15 คำถามข้องใจกับการ ล้างจมูก ให้ปลอดภัยในวัยเด็ก

ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ สามารถชะล้างสิ่งสกปรกออกจากโพรงจมูก และยังช่วยป้องกันการเกิดโรคภัยไข้เจ็บอื่น ๆ อีกมากมาย โดยเฉพาะในวัยเด็กที่มักติดเชื้อง่าย อีกทั้งในปัจจุบันที่โลกเราเต็มไปด้วยมลภาวะเป็นพิษ ทั้งปัญหาจากฝุ่นควัน ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5  ที่เมื่อลูกเราหายใจเข้าไปแล้วไปสะสมภายในจมูกมาก ๆ ก็ก่อให้เกิดการอุดกั้นในระบบทางเดินหายใจ ทำให้หายใจไม่สะดวก โดยเฉพาะในเด็กที่ไม่สามารถบอกอาการกับเราได้ การล้างจมูกจึงเป็นวิธีที่ดีในการช่วยแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ แต่หากไม่รู้วิธี หรือไม่ระมัดระวังมากพอ การล้างจมูกในวัยเด็ก ก็อาจก่อให้เกิดโทษได้เช่นกัน จึงทำให้คุณพ่อคุณแม่มีคำถามเกิดขึ้นในใจมากมายที่ต้องการทราบจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อความสบายใจ และปลอดภัยต่อลูกน้อยของเรา วันนี้ทาง ทีมแม่ ABK จึงได้นำคลิปวิดีโอเกี่ยวกับการล้างจมูกของคุณหมอ ศ.พญ. อรุณวรรณ พฤทธิพันธ์ุ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ และ ภญ.นรินทร อาศิรพรพงศ์ เภสัชกรคลินิก ฝ่ายเภสัชกรรม รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มาฝากกัน พร้อมทั้งรวบรวมคำถาม และคำตอบของคุณหมอมาให้คุณพ่อคุณแม่ได้คลายข้อสงสัยกันด้วย

คำถามที่ 1 การล้างจมูก คืออะไร?

คือ การล้างสิ่งที่สกปรกในจมูกให้ออกมา เรียกว่าเป็นการล้างจมูกแบบธรรมชาติ ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรค โดยเฉพาะการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ มีบรรจุอยู่ในแนวทางการรักษาโรคได้ด้วย เช่น โรคไข้หวัด โรคไซนัสอักเสบ โรคภูมิแพ้ เพราะยอมรับกันแล้วว่าสามารถช่วยให้อาการของโรคเหล่านี้ดีขึ้นจนสามารถลดการใช้ยาลงได้

คำถามที่ 2 ใครที่ต้องได้รับการล้างจมูก?

การล้างจมูกสามารถทำได้ในทุกเพศ ทุกวัย ทุกคนไม่เฉพาะแต่ผู้ป่วยเท่านั้น แต่อาจจะมีวิธีการที่ต่างกันในแต่ละวัย ต้องศึกษา และทำความเข้าใจก่อน เพราะอาจเกิดอันตรายยิ่งโดยเฉพาะในวัยเด็ก ที่ยังไม่สามารถกลั้นหายใจได้ หรือในผู้ป่วยบางรายที่มีปัญหาเกี่ยวกับการกลืน ภาวะเลือดกำเดาไหล อาจจะสำลักน้ำเกลือได้

คำถามที่ 3 การล้างจมูกในเด็กอย่างไร? ให้มีประสิทธิภาพ และไร้ซึ่งภาวะแทรกซ้อน

ต้องได้รับความร่วมมือในการล้างจมูกจากลูก อาจใช้วิธีทางจิตวิทยาช่วยให้เด็กร่วมมือ เช่น การเปิดคลิปวิดีโอการล้างจมูกของเด็กคนอื่น เมื่อเห็นตัวอย่างก็จะช่วยลดความกลัวของลูกลงไปได้

ล้างจมูก ป้องกันหวัด
ล้างจมูก ป้องกันหวัด

คำถามที่ 4 หากบังคับให้ลูกล้างจมูกโดยที่เขายังไม่ยินยอมจะเป็นอย่างไร?

การล้างจมูกแบบผิดวิธี หรือการที่ลูกยังไม่ให้ความร่วมมือนั้น เป็นสิ่งที่อันตราย อาจจะได้รับผลเสียมากกว่าประโยชน์ของการล้างจมูกด้วยซ้ำไป เพราะการที่เด็กไม่ให้ความร่วมมือนั้น เขาอาจจะเกิดการสำลักน้ำเกลือได้ และทำให้เชื่้อโรค หรือสิ่งสกปรกที่ต้องการล้างออกนั้น เข้าไปสู่หู หรือส่วนอื่น ๆ ทำให้ไปกระทบกระเทือนต่อหู อาจทำให้ปวดหู หูอักเสบ หรือมีอาการเดินเซ เวียนหัวได้

คำถามที่ 5 การล้างจมูกเริ่มได้ตั้งแต่วัยไหน?

สามารถเริ่มได้ตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงผู้ใหญ่เลย แต่การล้างจมูกในเด็กแรกเกิดต้องมีอุปกรณ์เฉพาะเรียกว่า เครื่อง SUCTION เครื่องดูดเสมหะเด็ก ร่วมกับอุปกรณ์อีกชิ้นที่ทางรพ.รามาธิบดีได้คิดและผลิตเป็นเวชภัณฑ์สำหรับดูดน้ำมูกเด็ก ชื่อว่า MU-TIP จะนิ่มเหมาะสำหรับเด็กแรกเกิด สามารถใส่น้ำเกลือข้างหนึ่ง และดูดน้ำมูกอีกข้างหนึ่งได้เลย แต่ถึงมีอุปกรณ์แล้วก็ต้องมีวิธีการทำ และต้องใช้ความเชี่ยวชาญในการล้างจมูกเด็กแรกเกิดเพื่อความปลอดภัย

คำถามที่ 6 ทำไมต้องล้างจมูก? และควรล้างบ่อยแค่ไหน?

แนะนำให้ล้างจมูก เพราะการล้างจมูกเป็นการล้างทำความสะอาดชะล้างสิ่งสกปรกที่ยังคงค้างอยู่ในโพรงจมูกที่เป็นทั้งน้ำมูก น้ำหนอง เลือดในโพรงจมูกให้เคลียร์ และโล่งขึ้น

โดยทั่วไปจำนวนครั้งในการล้างจมูกขั้นต่ำประมาณ 2 ครั้งต่อวัน คือ ช่วงเช้า และก่อนนอน หรือตอนที่มีอาการคัดจมูก แน่นจมูก ก็สามารถทำได้บ่อยไม่จำกัดจำนวนครั้ง

คำถามที่ 7 ใช้น้ำอะไรในการล้างจมูก?

น้ำที่นำมาใช้ในการล้างจมูกควรเป็นน้ำเกลือที่มีความเข้มข้น 0.9% เพราะมีความเข้มข้นใกล้เคียงกับน้ำในเซลล์ร่างกาย ความเข้มข้นเดียวกับเลือด ไม่ควรใช้น้ำเปล่าหรือน้ำเกลือที่มีความเข้มข้นต่ำกว่า 0.9 % มาล้างจมูก เพราะจะทำให้ระคายเคืองจมูกเพิ่มขึ้นและอาจมีการอักเสบ แสบจมูก และมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายขึ้นด้วย

คำถามที่ 8 ใช้เกลือที่บ้านมาละลายน้ำใช้ล้างจมูกได้ไหม?

สามารถทำได้ แต่ต้องใช้เกลือสะอาด 4.5 กรัม และน้ำสะอาด 750 cc. ผสมรวมกัน และข้อสำคัญคือต้องเน้นเรื่องความสะอาด จึงต้องมีวิธีขั้นตอนในการผสม เพราะหากไม่สะอาดพออาจทำให้ติดเชื้อได้ ควรใช้ภายใน 24 ชั่วโมง และต้องใช้ครั้งเดียวทิ้ง ไม่สามารถเก็บได้ ป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรค เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เพราะไม่มีสารกันเสีย

คำถามที่ 9 น้ำเกลือสำเร็จรูปที่มีขายทั่วไป สามารถเก็บไว้ใช้ครั้งต่อไปได้ไหม?

น้ำเกลือขวดสำเร็จรูปถ้าเวลาใช้ ถ้าเทถ่ายใส่ภาชนะอื่นก่อนใช้ ก็สามารถเก็บน้ำเกลือขวดไว้ใช้ต่อได้ หรือถ้าเก็บไว้ในตู้เย็นก็สามารถยืดประสิทธิภาพของน้ำเกลือให้เก็บไว้ใช้ได้นานขึ้น

ล้างจมูก แล้วปวดหู
ล้างจมูก แล้วปวดหู

คำถามที่ 10 วิธีทำน้ำเกลือไว้ใช้เองอย่างถูกวิธี ทำอย่างไร?

ต้มน้ำให้เดือดเพื่อฆ่าเชื้อ 750 ซีซี ผสมเกลือป่น 1ช้อนชาปาดหรือ ประมาณ 4.5 กรัม คนให้ละลาย ต้มให้เดือดแล้วปิดไฟ ตั้งทิ้งไว้ให้อุ่นก่อนใช้ เก็บไว้ใช้ได้เพียง 1 วัน ที่เหลือควรทิ้งไป เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโรค

คำถามที่ 11 ต้องเตรียมอุปกรณ์ที่ใช้ในการล้างจมูกอะไรบ้าง?

  1. น้ำเกลือเข้มข้น 0.9%สำหรับล้างจมูก(0.9%Normal Saline)
  2. Syringe (กระบอกฉีดยา)ขนาด 10-20 cc.
  3. จุกล้างจมูก (ถ้ามี)
  4. ภาชนะสำหรับใส่น้ำเกลือ เทน้ำเกลือจากขวดออกมาก่อนจะได้เก็บน้ำเกลือที่เหลือไว้ใช้ต่อได้

คำถาที่ 12 ขั้นตอนการล้างจมูกสำหรับเด็กทั่วไปเป็นอย่างไร?

  1. ล้างมือ และอุปกรณ์ทุกอย่างให้สะอาด
  2. เทน้ำเกลือ หรือดูดน้ำเกลือเข้ากระบอกฉีดยา
  3. สวมจุกล้างจมูกที่ปลายกระบอกฉีด
  4. กลั้นหายใจ ก้มหน้า อ้าปาก ค่อย ๆ ฉีดน้ำเกลือเข้ารูจมูก น้ำเกลือจะไหลเข้าไปในโพรงจมูก และไหลออกทางรูจมูกอีกด้าน หรืออาจลงลำคอ
  5. สั่งน้ำมูก และทำซ้ำอีกจนสังเกตได้ว่าหายใจสะดวกขึ้น

คำถาที่ 13 การล้างจมูกช่วยเรื่องโรคภูมิแพ้จริงไหม?

ประโยชน์ของการล้างจมูก คือ การช่วยลดความเหนียวข้นของน้ำมูก ก็เป็นการช่วยลดอาการคัดแน่นในโพรงจมูก ที่เป็นอาการหนึ่งของโรคภูมิแพ้ ก็นับว่าเป็นการช่วยลดอาการภูมิแพ้ได้

 

คำถามที่ 14 ข้อควรระวังในการล้างจมูกมีอะไรบ้าง?

สิ่งที่ควรระวังในการล้างจมูกอย่างเดียวเลย คือ ระวังการสำลัก อาจเริ่มจากการกลั้นหายใจก่อน แล้วค่อย ๆ เพิ่มปริมาณของน้ำเกลือทีละน้อย และอาจจะดูเรื่องอุณหภูมิของน้ำเกลือ ยิ่งโดยเฉพาะบ้านไหนที่เก็บน้ำเกลือไว้ในตู้เย็น อาจจะต้องอุ่นน้ำเกลือให้มีอุณหภูมิปกติ อุณหภูมิห้องก่อน เพราะเด็กอาจจะตกใจความเย็นแล้วด้วยสัญชาตญาณจะหายใจเข้าไปก็อาจจะเกิดการสำลักได้ และการใช้น้ำเกลือที่ไม่ได้อุ่นล้างจมูก อาจทำให้เกิดการคัดจมูกหลังการล้างได้

คำถามข้อที่ 15 ทำไมลูกล้างจมูกแล้วมีอาการปวดหู?

เวลาล้างจมูก เมื่อฉีดน้ำเกลือเข้าจมูกแล้ว ต้องทำการสั่งน้ำมูกออกมา ในขั้นตอนนี้ ให้ลูกสั่งน้ำมูกออกมาจากจมูกทั้งซ้ายขวาพร้อมกันโดยไม่ต้องอุดรูจมูกอีกข้าง เพราะจะทำให้มีอาการปวดหูได้ ให้ลูกบ้วนน้ำเกลือ น้ำมูกและเสมหะออกมา แต่ถ้าเป็นเด็กเล็กบ้วนไม่เป็น ก็จะกลืนลงหลอดอาหาร แต่คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวลไป เพราะเชื้อโรคจะถูกกำจัดในกระเพาะอาหารเอง

ขอขอบคุณคลิปวิดีโอ และข้อมูลอ้างอิง จาก RAMA CHANNAL/ FB:สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

“ภูมิแพ้ผิวหนัง” โรคที่พบบ่อยในเด็ก เป็นแล้วรักษาไม่หาย

ล้างจมูกลูก อย่างไรให้ปลอดภัย ถูกต้องแต่ละช่วงวัย

ลมพิษในเด็ก เกิดจากอะไร? และ 3 วิธีรักษาด้วยสมุนไพร

เตือนแม่ ของติดจมูกลูก ห้ามล้างจมูกเด็ดขาด

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up