เช็กเลย! อาการ โอมิครอน ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก ต่างกันอย่างไร - Amarin Baby & Kids
อาการ โอมิครอน ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก

เช็กเลย! อาการ โอมิครอน ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก ต่างกันอย่างไร

Alternative Textaccount_circle
event
อาการ โอมิครอน ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก
อาการ โอมิครอน ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก

แม้จะผ่านมามากกว่า 2 ปีแล้ว แต่การระบาดของโรคโควิด 19 ก็ยังไม่น้อยลงไปเลย โดยเฉพาะสายพันธุ์โอมิครอน ที่ระบาดง่าย ติดง่าย จนยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นแม้จะมีการฉีดวัคซีนมากขึ้นแล้วก็ตาม นอกจากต้องระวังโควิดแล้ว ล่าสุด ไข้หวัดใหญ่กับไข้เลือดออก ก็กำลังระบาดและมีแนวโน้มว่าจำนวนเด็กป่วยจะมากขึ้นทุกวัน แล้วถ้าลูกเราป่วยขึ้นมาเราจะรู้ได้อย่างไร ว่าลุกเราป่วยเป็นอะไรกันแน่ เราจะมีวิธีการสังเกต อาการ โอมิครอน ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก ว่าเป็นอย่างไร และต่างกัน อย่างไร ทีมแม่ ABK ชวนเช็คอาการของโรคทั้ง 3 ค่ะ

อาการ โอมิครอน ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก ต่างกันอย่างไร

อาการโควิด 19 โอมิครอน

ตอนนี้โควิดสายพันธุ์โอมิครอน กำลังระบาดหนัก จนทำให้มียอดผู้ติดเชื้อต่อวัน ถึงหลักหมื่นราย พบว่า ผู้ติดเชื้อโควิดโอมิครอน แต่ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ โดยอาการที่พบบ่อย เรียงจากมากไปน้อย ได้แก่

  • มีไข้
  • ไอ เจ็บคอ
  • ปวดกล้ามเนื้อ
  • มีน้ำมูก
  • ปวดศีรษะ
  • หายใจลำบาก
  • ได้กลิ่นลดลง

โดยส่วนมากแล้ว การติดเชื้อโควิดโอมิครอน จะเป็นการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจส่วนบน ไม่ได้ลงปอด จึงทำให้อาจพบเจอผู้ป่วยเหล่านี้ ปะปนกับคนทั่วไป ในที่สาธารณะได้ง่าย แม้จะฉีดวัคซีนป้องกันโควิดแล้ว ก็ยังสามารถติดเชื้อได้ แต่ก็ช่วยลดความรุนแรงของอาการลงไปได้มาก ดังนั้น จึงควรป้องกันตนเอง ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย 2 ชั้น โดยไม่ควรเป็นหน้ากากผ้าเพียงอย่างเดียว เพราะป้องกันเชื้อโรคไม่ให้เข้าหาเราไม่ได้ ล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อย ๆ เพื่อเสริมการป้องกัน ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

อาการโรคไข้หวัดใหญ่

โรคไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคระบบทางเดินหายใจ เกิดจากการติดเชื้อ ไวรัสอินฟลูเอนซา เป็นเชื้อที่พบมานานแล้ว ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ ในส่วนของจมูก ลำคอ และปอด อาการเบื้องต้นคล้าย ไข้หวัดธรรมดา มีไข้ ตัวร้อน น้ำมูกไหล ไอหรือจาม แต่มีความรุนแรง และมีโอกาสพัฒนาสู่ภาวะแทรกซ้อน ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่พบ ปัจจุบันได้กลายเป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ที่พบปะปนกับสายพันธุ์ต่าง ๆ ทั่วไป อาการทั่วไปคล้ายกับโควิดค่อนข้างมาก ในระยะเริ่มต้น ของอาการป่วยลักษณะนี้ เวลาที่ไปพบแพทย์ แพทย์จะทำการส่งตรวจเชื้อไข้หวัดใหญ่ก่อนอันดับแรก เพื่อตัดประเด็นความคล้ายคลึงกันของอาการออกไป

  • มีไข้สูงเกิน 38 องศาฯ
  • ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อมาก
  • ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย หนาวสั่น
  • เบื่ออาหาร
  • คัดจมูก มีน้ำมูกใส ๆ ไอแห้ง ๆ
  • บางราย มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน

โรคไข้หวัดใหญ่ สามารถป้องกันได้ด้วยการ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ปีละ 1 ครั้ง สามารถฉีดได้ทุกเพศทุกวัย ในเด็กสามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือน ส่วนคุณแม่ตั้งครรภ์ สามารถฉีดได้ เพื่อป้องกันลูกน้อยที่เพิ่งคลอด และยังไม่ถึงเกณฑ์ที่จะฉีดวัคซีนได้

อาการ โอมิครอน ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก
อาการโรคไข้เลือดออก

อาการโรคไข้เลือดออก

สถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ทำให้คนอยู่ดูแลบ้าน จึงกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายไปได้มากขึ้น การระบาดของโรค จึงเงียบหายไป 2 ปี แต่ปีนี้ โรคไข้เลือดออก กลับมาระบาดอีกครั้ง เพราะคนเริ่มออกจากบ้าน จนการป้องกันลดลง โรคไข้เลือดออก มียุงลายเป็นพาหะนำโรค โดยยุงลายที่ดูดเลือดของผู้ที่ติดเชื้อไวรัสเดงกี่ จะแพร่เชื้อเข้าสู่ร่างกายผู้ที่ถูกยุงกัดคนต่อไป ไข้เลือดออก เป็นหนึ่งในโรคที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้เป็นโรคที่ควรเฝ้าระวัง อาการของไข้เลือดออก สามารถสังเกตได้ ดังนี้

  • มีไข้สูงแบบเฉียบพลัน และต่อเนื่องเป็นเวลา 2-7 วัน
  • ปวดศีรษะ
  • ปวดเมื่อยตามตัว
  • ส่วนใหญ่มีอาการหน้าแดง
  • อาจมีจุดแดงเล็ก ๆ ขึ้นตามลำตัว แขน ขา
  • ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก
  • มักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน
  • ปวดท้องและเบื่ออาหาร

โดยทั่วไป ผู้ป่วยไข้เลือดออก จะมีไข้สูงมาก และปวดหัวรุนแรง เบื้องต้นจึงใช้ยาระงับอาการ เช่น พาราเซตามอล แก้ปวด และลดไข้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ ยาแอสไพริน ซึ่งจะมีผลต่อเซลล์เม็ดเลือด อาจกระทบต่อภาวะที่มีเลือดออก ซึ่งทำให้อาการแย่ลง หากพบว่ามีอาการไข้ลดลง อย่าเพิ่งชะล่าใจ เพราะอาจเกิดภาวะช็อก จนกระทั่งเสียชีวิตได้ หรือถ้ามีไข้สูงต่อเนื่องกว่า 2 วัน แม้จะเช็ดตัว หรือทานยาลดไข้แล้วก็ไม่ดีขึ้น ให้สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออกไว้ก่อน แล้วควรนำส่งโรงพยาบาล เพื่อตรวจอาการและรักษาได้ทันเวลาค่ะ

ตารางเปรียบเทียบอาการ โอมิครอน ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก ต่างกันอย่างไร

อาการ โอมิรอน ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก

ขอบคุณภาพจาก ไทยรัฐออนไลน์

แม้อาการของทั้ง 3 โรค จะแตกต่างกัน แต่หากเรารู้ข้อมูลเหล่านี้ ก็จะมีจุดสังเกตุ ที่ช่วยให้เราแยกแยะได้ดีขึ้น แต่หากไม่มั่นใจ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องนะคะคุณแม่

 

ขอบคุณข้อมูลจาก
pobpad, ไทยรัฐออนไลน์, kbkclinic

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

ระวัง ไข้หวัดใหญ่ในเด็ก หวั่นระบาดซ้อนโควิด

หมอธีระ แนะ เด็กติดโอไมครอน ต้องเตรียมอะไรบ้าง?

เป็นไข้เลือดออก ได้กี่ครั้ง ซ้ำรอบสองทำไมรุนแรงกว่ารอบแรก

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up