หมอออกมาโพสต์เตือน! แม่ๆ สังเกตตัวเองและลูกสาวให้ดี หากมีน้ำหนักขึ้น แถมมีอาการปวดท้องหน่วง “อย่าคิดว่าอ้วน” รีบไปโรงพยาบาลตรวจเช็ก อาจเสี่ยงเป็น เนื้องอกรังไข่
หมอเตือน! ลูกน้ำหนักขึ้น “อย่าคิดว่าอ้วน”
หลังพบ เนื้องอกรังไข่ ในด.ญ. อายุ 12 ปี
โดยปกติแล้ว เนื้องอกรังไข่ จะไม่มีอาการ เป็นได้ทั้งก้อนเล็ก ก้อนใหญ่ และไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคที่ชัดเจน ซึ่งเกิดได้ทั้งในผู้หญิงที่แต่งงานแล้วและยังไม่แต่งงาน รวมไปถึงสามารถเกิดได้กับผู้หญิงทุกคนทุกวัย โดยเฉพาะหญิงวัยเจริญพันธุ์ เช่นเดียวกับเด็กหญิงวัย 12 ขวบ คนนี้ที่น้ำหนักขึ้น และแม่คิดว่าลูกอ้วน แต่สุดท้ายตรวจพบเนื้องอกรังไข่ ขนาดใหญ่ถึง 60 ซม.
โดยเรื่องเรื่องนี้ นพ.ณัฏฐ์ เกียรติอภิวสุ สูตินรีแพทย์ รพ.เจ้าพระยายมราช จ.สุพรรณบุรี ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Nath Kaitaphiwasu ระบุว่า…
“Staff Day 597 : บางทีคุณอาจจะไม่ใช่คนอ้วนก็ได้นะ” ในวันที่ยุค Healthy Boom แบบนี้ Fitness Trainner อาหารเสริม กับการออกกำลังกายก็มาพร้อมๆ กัน กับการลดน้ำหนัก แต่อย่างที่ผมบอก อย่าคิดว่าการที่เราอ้วน เป็นเพราะน้ำหนักขึ้นอย่างเดียวนะครับ หลังจากกลับจาก Vacation trip ยาวๆ ผมกลับมาพร้อมสู้ กับงานหนักๆ ที่รออยู่เบื้องหน้าแล้วครับ แล้ววันนี้ก็ได้พบงานหนัก ที่หนักจริงๆ เข้าแล้ว
น้องอายุ 12 ขวบ ถูกส่งตัวมาจาก โรงพยาบาลชุมชน ว่ามีอาการปวดท้องรุนแรง เฉียบพลัน หาสาเหตุไม่ได้ น้องแพทย์ที่โรงพยาบาลชุมชน โทรมาปรึกษาเคส แล้วขอส่งตัวน้องมาหาผม ให้ผมช่วยประเมินให้ทีเพราะอาการดูไม่สู้ดีนัก เด็กหญิงตัวน้อยๆ ถูกส่งตัวถึงผมทันเวลา เด็กน้อยที่เป็นสุดที่รักที่สุดของบ้าน
วันนี้ผมต้องแบกความหวังและความรู้สึกของคุณพ่อและคุณแม่ไว้อย่างเต็มที่ ผมส่งตัวน้องเข้าไปอุโมงค์ (CT Scan ) พบ เนื้องอกรังไข่ Ovarian Tumor ราว 60 เซนติเมตร มาถึงตรงนี้ หลายคนคงกำลังคิดอยู่ใช่มั้ยว่าเป็นไปได้หรอ คุณแม่จับมือผม พร้อมแววตาที่เปี่ยมไปด้วยการฝากความหวังว่าหมอจะสามารถช่วยได้ คุณแม่บอกผม ลูกบ่นมาหลายเดือนแล้วว่าปวดหน่วงท้อง และรู้สึกว่าน้ำหนักขึ้น แต่คุณแม่ก็ไม่ทันเอ๊ะใจคิดว่าอ้วนแค่นั้น หนึ่งชั่วโมงต่อมา ผมเข้าทำการผ่าตัด ก้อนเนื้องอกรังไข่ออกมา โดยไม่แตก น้องสูญเสียเลือดจากการผ่าตัดแค่ 20 มิลลิตร ปริมาณน้ำในก้อน 18,000 มิลลิลิตร ก้อนบิดเกลียว 1 รอบ
ทุกคนสามารถช่วยเด็กสาวตัวน้อยๆ ไว้ได้ พร้อมกับ เนื้องอกรังไข่ที่เป็นต้นเหตุเรื่องราวทั้งหลายเหล่านี้ เรื่องราวดีๆ จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่ได้ทีมของโรงพยาบาลเจ้าพระยายมราชสุพรรณบุรีที่ช่วยกัน เรื่องราวทั้งหมดได้ขออนุญาติน้อง และคุณแม่แล้ว เพื่อบอกและส่งต่อเรื่องราวผ่านใครอีกหลายคนในโลกนี้ ที่กลัวการไปหาหมอ การตรวจร่างกาย หรือการตรวจภายในประจำปี เพราะคุณ อาจจะไม่ใช่แค่คนอ้วน ก็เป็นได้
- วิธีสังเกตอาการ ซีสต์ในรังไข่ รู้ไว้..รักษาได้ทัน ไม่อันตราย!
- ถุงน้ำรังไข่ หรือ เดอร์มอยด์ซีสต์ อีกหนึ่งโรคใกล้ตัวที่ผู้หญิงต้องระวัง!
- มะเร็งรังไข่ ภัยร้ายเงียบ ทำผู้หญิงเสียชีวิตมากกว่ารอด
เนื้องอกรังไข่ เกิดจากอะไร
เนื้องอกรังไข่อาจจะดูเหมือนเป็นโรคธรรมดาแต่สำหรับผู้หญิงแล้วไม่ควรมองข้ามโรคนี้ เนื่องจากปัจจุบันพบผู้ป่วยด้วยโรคเนื้องอกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สำหรับเนื้องอกในรังไข่ แบ่งได้เป็น 3 ชนิด คือ
1.ชนิดที่เป็นถุงน้ำ หรือซีสต์ (Cyst) เป็นเนื้องอกที่มีลักษณะเป็นถุง ภายในมีของเหลว น้ำ เนื้อเยื่อต่างๆ
2.เนื้องอกธรรมดา หรือ Benign เป็นก้อนเนื้อที่เกิดขึ้นในรังไข่ แต่ไม่ใช่เนื้อร้ายหรือมะเร็ง
3.เนื้องอกที่เป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็ง เรียกว่า Malignant เนื้องอกชนิดนี้ถ้าปล่อยทิ้งไว้จะกลายเป็นมะเร็งรังไข่ มีความเสี่ยงที่จะทำให้อาการรุนแรงขึ้นจนถึงขั้นเสียชีวิตได้หากเป็นในระยะที่ลุกลามแล้ว
อาการของเนื้องอกรังไข่ชนิดไม่ร้ายแรง
สำหรับข้อสังเกตของ เนื้องอกรังไข่ อาการ ที่ไม่ร้ายแรง จะมีสัญญาณ คือ มีความผิดปกติของประจำเดือน ปัสสาวะบ่อยขึ้น เนื่องจากเนื้องอกอาจไปกดเบียดกระเพาะปัสสาวะ มีลักษณะ ท้องโตขึ้น เหมือนอ้วน
รวมไปถึงอาจ ท้องอืด เบื่ออาหาร หรือท้องผูก เนื่องจากเนื้องอกอาจไปกดเบียดลำไส้ และปวดท้องเฉียบพลัน ซึ่งอาจเกิดจากภาวะแทรกซ้อน เมื่อเนื้องอกมีขนาดใหญ่ขึ้นเกิดการแกว่งตัวบิดขั้ว แตกออก เกิดการตกเลือด ติดเชื้อ
- หยุดพฤติกรรมเสี่ยง ทำลายรังไข่ และมดลูก
- สัญญาณเตือนโรค “มะเร็งรังไข่” ภัยเงียบที่ผู้หญิงควรรู้!
- มะเร็งมดลูก มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก รู้ทัน รักษาเร็ว โอกาสหายขาดสูง!
แนวทางการรักษา เนื้องอกรังไข่
- กรณีที่หมอตรวจวินิจฉัยแล้ว พบว่าเป็นเนื้องอกรังไข่ชนิดไม่ร้ายแรงจะรักษาด้วยยาและเฝ้าติดตามอาการว่าเนื้องอกยุบลงหรือโตขึ้น อาจจะนัดอัลตราซาวด์เป็นระยะ
- แต่หากวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งรังไข่ แพทย์จะผ่าตัดเนื้อร้ายออกให้มากที่สุดและรักษาร่วมกับยาเคมีบำบัดหรือรังสีรักษา
- กรณีผ่าตัดสำหรับเนื้องอกรังไข่ชนิดธรรมดา โดยพิจารณาข้อบ่งชี้ คือ หากรักษาด้วยยาและติดตามการรักษาเป็นระยะแล้วก้อนไม่ยุบ โตขึ้นหรือมีภาวะแทรกซ้อนปวดเฉียบพลันจากการบิดขั้วของเนื้องอก มีการแตกของเนื้องอก มีเลือดออก แพทย์จะแนะนำให้ทำการผ่าตัด
อย่างไรก็ตามทางที่ดีแล้ว เมื่อพบว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น เช่น เรื่องของประจำเดือน การตกขาว อาการปวดท้องรุนแรงที่เกิดขึ้นบ่อยๆ อย่าปล่อยทิ้งไว้ ไม่ว่าจะเป็นที่ตัวคุณแม่เองหรือลูกสาว ควรรีบไปหาหมอตรวจและรักษาอย่างทันท่วงที เพราะเนื้องอกธรรมดาที่ไม่ใช่มะเร็งสามารถรักษาให้หายขาดได้ เช่นเดียวกับมะเร็งที่พบในระยะเริ่มแรกก็สามารถรักษาให้หายขาดได้เช่นเดียวกัน
สำหรับเรื่อง เนื้องอกรังไข่ ที่เกิดขึ้นกับเด็กหญิงวัย 12 ปีนี้ ถือเป็นหนึ่งในเรื่องของ HQ : Health Quotient คือ ความฉลาดในการดูแลรักษาสุขภาพ ซึ่งคนที่มี HQ ดี จะรู้จักดูแลสุขภาพของตัวเองให้ดีเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง เช่น กินอาหารที่ดี ครบ 5 หมู่ ขับถ่ายดี ได้ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ดูแลรักษาความสะอาดร่างกายของตัวเอง ฯลฯ สำหรับเด็กเล็กเราอาจจะยังไม่เห็นพัฒนาการด้านนี้ชัดเจน แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มปลูกฝังและใส่ใจเรื่องสุขภาพ การดูแลร่างกายในการทำกิจวัตรประจำวันได้ทุกวัน เพื่อให้ลูกซึมซับและดูแลใส่ใจสุขภาพตัวเอง ซึ่งก็จะเป็นการสร้าง HQ ที่ดีในตัวลูกได้ ยิ่งในปัจจุบันโรคภัยไข้เจ็บมีเยอะขึ้น โรคใหม่ๆ แปลกๆ เชื้อโรคที่พัฒนาขึ้นจาก สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง และมลภาวะต่างๆ เราจึงต้องสอนให้ลูกของเราฉลาดใส่ใจดูแลสุขภาพให้แข็งแรง และมีภูมิคุ้มกันต่อโรคภัยต่างๆ รอบตัว เพราะการไม่มีโรค คือลาภอันประเสริฐนั่นเองค่ะ
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก : www.facebook.com/nath.kaitaphiwasu.3 , www.phyathai.com
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิกที่ภาพด้านล่าง ⇓
ผู้หญิงมีหนวดเสี่ยงถุงน้ำรังไข่หลายใบ เพิ่มโอกาสมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
เลือดออกทางช่องคลอด ไม่ใช่เลือดประจำเดือน สัญญาณอันตรายที่ต้องไปหาหมอ!