ผศ.ดร.พญ.ภัทรวลัย ตลึงจิตร ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา สาขาวิชาสูติศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล อธิบายถึงภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนดว่า
“ภาวะดังกล่าวมักเกิดขึ้นกับคุณแม่ท้องแก่ อายุครรภ์ 36 สัปดาห์ขึ้นไป มีอาการหลายรูปแบบ เช่น ปวดท้อง หรือ ปวดมดลูก เพราะมดลูกบีบตัวบ่อยทำให้ท้องแข็งเป็นพักๆ บางคนรู้สึกท้องแข็งเกร็ง และปวดตลอดเวลา แต่มีแม่ท้องมากถึงร้อยละ 40 อาจไม่แสดงอาการใดเลย แต่มาตรวจพบหลังคลอดลูก และคลอดรก”
ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด ที่เกิดกับคุณแม่แต่ละคนแตกต่างกัน สามารถแบ่งออกเป็น 4 ระดับคร่าวๆ ไว้ให้คุณแม่คอยสังเกตตัวเองดังต่อไปนี้
*ระดับไม่แสดงอาการ : ไม่พบอาการปวดหรือเจ็บท้อง ไม่มีเลือดออก มักตรวจพบหลังคลอดแล้ว
*รกลอกตัวเล็กน้อย : ปวดท้องและมีเลือดเล็กน้อย รกยังทำงานได้ตามปกติ แม่ต้องนอนพักผ่อนมากๆและอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด
*รกลอกตัวปานกลาง: รกลอกตัวไปแล้ว 1 ใน 4 มีเลือดออกมาประมาณ 0.5 – 1 ลิตร ปวดท้องรุนแรง กดเจ็บที่มดลูก ความดันไม่คงที่ หัวใจของลูกในครรภ์เต้นผิดปกติ คุณแม่ต้องได้รับการให้เลือด และอยู่ในภาวะใกล้คลอด พร้อมผ่าตัดคลอดได้ตลอดเวลา
*รกลอกตัวรุนแรง: รกลอกตัวออกมาแล้ว 2 ใน 3 หรือทั้งหมด เกิดได้ราว 20-25% เลือดออกมามากกว่า 2 ลิตร แม่จะปวดท้องมาก มดลูกรัดตัวตลอดเวลา เสียเลือดมากใกล้ช็อก ส่วนทารกมักเสียชีวิตในครรภ์
แม่ท้องอ้วนมาก ความดันสูง มีลูกแฝดเสี่ยงที่สุด
สาเหตุหลักของมาจากทั้งปัจจัยภายนอก เช่น การกระแทกหหน้าท้องรุนแรงจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ ตกจากที่สูง และปัจจัยภายใน เช่น น้ำเดินเร็วผิดปกติ ความผิดปกติของร่างกายคุณแม่ แม่ท้องที่น้ำหนักเพิ่มอย่างรวดเร็วระหว่างตั้งครรภ์จนเข้าสู่ “ภาวะอ้วน” ครรภ์เป็นพิษ ความดันโลหิตสูง ภาวะเลือดออกง่าย มีลูกแฝด
ส่วนกรณีคุณแม่ท่านนี้พบว่ามีความเสี่ยงหลายด้าน ทั้งเรื่องที่เดิมน้ำหนักตัวมาก และปล่อยให้น้ำหนักขึ้นเยอะเกินไป โดยปกติควรควบคุมน้ำหนักไว้ให้ไม่เกิน 13-15 กิโลกรัมตลอดการตั้งครรภ์ ลูกตัวโต น้ำคร่ำมาก แม่ท้องส่วนใหญ่มักไม่ค่อยสังเกตและกลับเข้าใจว่าต้องบำรุงให้มากช่วงตั้งท้องเพื่อให้ลูกแข็งแรงสมบูรณ์
MUST READ : 5 วิธี ควบคุมน้ำหนักตอนท้อง อย่างไรให้เหมาะสม
MUST READ : น้ำหนักแม่ท้องควรขึ้นกี่กิโลกรัม
แต่ความจริงแล้วการบำรุงด้วยอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรต น้ำตาล และไขมันสูง ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่แม่ท้องเสี่ยงจะเป็นโรคความดันโลหิตสูง และเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ซึ่งส่งผลต่อลูกน้อยในครรภ์ทั้งคลอดก่อนกำหนด หรือเลวร้ายถึงขนาดเสียชีวิตในครรภ์ได้ นอกจากนี้ยังมีภาวะอื่นๆที่สุ่มเสี่ยงจะทำให้แม่ท้องเกิดภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนดด้วย ได้แก่
- แม่เคยมี ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด (ไม่ว่าระยะใด) มาก่อน
- สายสะดือเด็กสั้น
- การเจาะเลือดสายสะดือทารก (หัตถการของแพทย์)
- ความผิดปกติของรกตามธรรมชาติ
- แม่สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์
- ขาดสารอาหารสำคัญที่จำเป็นต่อการตั้งครรภ์
รกลอกก่อนกำหนดเป็นเรื่องฉุกเฉิน พบหมอด่วน รอไม่ได้
ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนดเป็นภาวะฉุกเฉินและอันตรายต่อทั้งแม่ท้องและลูกน้อยในครรภ์ แม่จำเป็นคอยสังเกตตัวเอง หมั่นนับดิ้นลูกอย่างสม่ำเสมอ หากมีอาการเจ็บท้อง ท้องแข็งตลอดเวลา ซึ่งต่างจากการเจ็บเตือนใกล้คลอด ที่จะปวดและคลายตัว ขอให้สงสัยไว้ก่อนว่ามีภาวะรกลอกก่อนกำหนด ให้ไปยังโรงพยาบาลใกล้บ้านให้เร็วที่สุด เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที
การรักษาของแพทย์จะขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงณ.เวลานั้น และอายุครรภ์เป็นสำคัญ หากอายุครรภ์ยังน้อยและรกลอกตัวไม่รุนแรง คุณแม่และลูกยังปลอดภัยดี ยังตั้งครรภ์ต่อได้ตามปกติแต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลแพทย์อย่างใกล้ชิด แต่ถ้าอยู่ในขั้นรุนแรง อาจต้องตัดสินใจผ่าตัดคลอดเพื่อรักษาชีวิตของแม่และลูกไว้ ทางที่ดีที่สุด แม่ควรดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง กินอาหารหลากหลายให้ครบทั้ง 5 หมู่และจำกัดปริมาณให้เหมาะสม ไม่ใช่ว่าท้องแล้วจะกินเท่าไหร่ก็ได้ เพราะทุกอย่างที่แม่กินมีผลต่อพัฒนาการในครรภ์และชีวิตลูกน้อยตั้งแต่ในครรภ์ จึงต้องระมัดระวังให้มาก
บทความน่าสนใจอื่นๆ
คุณแม่ท้อง ออกกำลังกาย ได้ไหม?
10 อาหารที่คนท้องควรกิน พร้อมเมนูอร่อยสำหรับแม่และลูก
“ท้อง” แล้วยังออกกำลังกายได้หรือไม่ ?
ขอบคุณข้อมูลจาก www.thairath.co.th และ www.medthai.com