ลูกคันก้น นอนไม่หลับ ดิ้น งอแง อาจเป็นเพราะพยาธิ! พยาธิในเด็ก ภัยร้ายที่พบบ่อยในเด็กเล็ก
ลูกคันก้น อาจเกิดจากพยาธิในเด็ก
เด็กเล็ก ๆ ที่อยู่ในวัยซน มักจะพบเจอพยาธิได้บ่อย เพราะกำลังชอบเล่น ชอบลอง และยังชอบเอามือเข้าปาก ซึ่งพ่อแม่สามารถสังเกตอาการเบื้องต้นของเด็กที่มีพยาธิได้ง่าย ๆ เช่น ลูกชอบมีอาการคันที่ก้น ร้องงอแง นอนไม่ค่อยหลับ อาการเหล่านี้ถ้าไม่สังเกตให้ดีจะไม่รู้เลยว่า ลูกเป็นอะไรกันแน่ ลองมาอ่านประสบการณ์แม่ ๆ ที่พบพยาธิในตัวลูกกันค่ะ
คุณแม่ท่านหนึ่ง ได้โพสต์เล่าประสบการณ์เจอพยาธิเส้นด้ายออกจากก้นไชเข้าช่องคลอดของลูกว่า พยาธิเส้นด้าย ออกจากก้นเด็ก ไชเข้าช่องคลอด พยาธิไชในช่องคลอดลูก 2 ตัว ไชวนไปวนมาอย่างไว จนลูกสาววัย 3 ขวบนอนงอแง ร้องไห้แต่ยังไม่ตื่น แม่เลยลูบหลังเบา ๆ ลูกสาวนอนขดตัวไปมา แม่เลยถามน้องเป็นอะไร? ลูกสาวบอก คันอวัยวะเพศมาก
“แว๊บแรกที่คิดคือ แพ้ผ้าอ้อมหรือเปล่าเพราะเปลี่ยนยี่ห้อ แม่รีบถอดผ้าอ้อม แต่น้องร้องดังกว่าเดิม เลยเอาไฟฉายส่องดูที่อวัยวะเพศ เจอพยาธิ 2 ตัวไชวนไปวนมา ไวมาก มิน่าน้องถึงร้องโยเยดึก ๆ พอเอาออกน้องหลับสนิทเลยค่ะ”
คุณแม่ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับทีมแม่ ABK ด้วยว่า เคยเจอประสบการณ์นี้จากลูกสาวคนโตมาแล้ว เลยรู้ว่าพยาธิไชก้นเด็ก ถ้าเด็กคันก้น เจ็บอวัยวะเพศ ให้หมั่นตรวจดูและปรึกษาคุณหมอ ไม่ต้องตกใจหรือกังวล เพราะคุณหมอบอกว่า เป็นเรื่องปกติที่จะเจอพยาธิในเด็กเล็ก เราไม่อาจดูแลเรื่องความสะอาดได้ 100% เด็ก ๆ มีพยาธิได้ ทานยาหมอ พยาธิเส้นด้ายจะหมดไปเอง คุณหมอบอกด้วยว่า พยาธิจะวางไข่ใกล้ ๆ รูทวาร พอดึก ๆ พยาธิจะฟักเป็นตัวไชไปทุกที่ ที่ใกล้ ๆ ทำให้เด็กคันหรือรู้สึกไม่สบายตัวได้
เช่นเดียวกับคุณแม่อีกท่านหนึ่งที่พบพยาธิในอวัยวะเพศของลูกสาววัย 4 ขวบ โดยสังเกตว่า ลูกสาวมักมีอาการคันอวัยวะเพศ พอสังเกตดูจึงเจอพยาธิเส้นด้าย แม่รู้สึกสงสารลูกมาก เวลาเอาออกลูกร้องเจ็บตลอด
“ตอนพาลูกไปเจอคุณหมอ ก็ให้กินยาถ่ายพยาธิ 3 วัน อาการก็ดีขึ้นค่ะ คุณหมอถามด้วยว่า ได้ปล่อยให้น้องเล่นน้ำหรือแช่น้ำบ้างไหม ตรงนี้อาจจะมีส่วนทำให้ลูกมีพยาธิได้ค่ะ”
พยาธิเป็นสิ่งที่พบได้บ่อยในเด็กเล็ก ๆ มาทำความรู้สึกพยาธิ เพื่อป้องกันอันตรายให้กับลูกน้อยกันนะคะ
ทำไมพยาธิเข้าสู่ร่างกายได้
พยาธิเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ เพราะประเทศไทยอยู่ในเขตร้อน โดยพยาธิบางชนิดระบาดเฉพาะท้องถิ่น แต่บางชนิดพบได้ทั่วไป แล้วแต่สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีชีวิตอยู่ พยาธิอยู่ในจำพวกปรสิต ดำรงชีวิตด้วยการแย่งและดูดสารอาหารจากร่างกายของมนุษย์ ซึ่งพยาธิจะเข้าสู่ร่างกายได้ดังนี้
- ทางปาก การกินอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อน ไข่ซิสต์หรือตัวอ่อนพยาธิ
- ไชเข้าทางผิวหนัง เช่น การเดินเท้าเปล่าบนพื้นดิน
- ทางการหายใจ สูดดมไข่พยาธิที่ลอยในอากาศ
- ทางรก พยาธิติดต่อเชื้อผ่านจากแม่ท้องสู่ทารกในครรภ์ได้
- เพศสัมพันธ์ เชื้อบางชนิดติดต่อได้ด้วยการร่วมเพศ
พยาธิที่พบได้บ่อย ๆ ในเด็ก
การติดเชื้อที่สำคัญและพบบ่อยในเด็ก จนทำให้เด็กเกิดอาการคันบริเวณทวารหนัก คือ การติดเชื้อจากพยาธิเข็มหมุด (Pinworm) หรือพยาธิเส้นด้าย (Threadworm) เป็นพยาธิตัวกลมชนิดหนึ่งมีขนาดเล็กประมาณ 2-10 มิลลิเมตรสีซีด รูปร่างคล้ายเข็มหมุดหรือเส้นด้ายเมื่อมองด้วยตาเปล่า อาศัยในทางเดินอาหารโดยเฉพาะทางเดินอาหารส่วนล่าง จะแย่งกินอาหารของคน และทำให้เกิดอาการคันรอบทวารหนัก พบมากในเด็กวัยเรียน 5-8 ปี โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กที่อยู่รวมกัน เช่น เด็กในสถานเลี้ยงเด็ก หรือโรงเรียนประจำ
พญ.เปรมจิต ไวยาวัจมัย ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อธิบายว่า เมื่อพยาธิเข็มหมุดเจริญเติบโตและสืบพันธุ์ในระบบทางเดินอาหารของคน พยาธิตัวผู้จะตาย ส่วนพยาธิตัวเมียจะออกมาวางไข่บริเวณรูเปิดทวารหนัก โดยเฉพาะในเวลากลางคืน 4-6 ชั่วโมงไข่จะสามารถเจริญเป็นไข่ ระยะติดต่อได้เมื่ออยู่ในสภาวะที่เหมาะสม ไข่พยาธิจะกระตุ้นให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง ทำให้คัน เมื่อเด็กหรือผู้ติดเชื้อเกา ไข่ของพยาธิจะติดไปตามเล็บ ง่ามนิ้วมือ หรืออาจตกลงไปบนที่นอน ผ้าห่ม เสื้อผ้าได้ โดยติดเชื้อได้ดังนี้
- การรับประทาน เมื่อเด็กเกาทวารหนัก ไข่ระยะติดต่อจะติดอยู่ตามง่ามนิ้วมือ เล็บและสามารถกลับสู่ทางเดินอาหารได้เมื่อเด็กเอามือเข้าปาก อมนิ้ว หรือการหยิบอาหารเข้าปาก หรือแม้แต่ไข่พยาธิที่ติดอยู่ตามเสื้อผ้า ผ้าห่มของใช้ในบ้าน เมื่อสัมผัสแล้วเอาเข้าปากก็จะเกิดการติดต่อได้เช่นกัน
- การหายใจ ไข่พยาธิสามารถฟุ้งกระจายในอากาศ สูดดมก็ทำให้ได้รับไข่พยาธิเข้าไปในทางเดินหายใจ เนื่องจากทางเดินหายใจและทางเดินอาหารมีบางส่วนต่อเนื่องกัน ทำให้เด็กกลืนไข่พยาธิลงไปในทางเดินอาหารได้
- การติดเชื้อย้อนกลับทางทวารหนัก ไข่พยาธิทนอยู่ได้นานถึง 3 สัปดาห์และเจริญต่อเป็นตัวอ่อนซึ่งจะชอนไชกลับเข้าไปทางทวารหนักและทางเดินอาหาร
อาการของลูกเมื่อมีพยาธิ
- คันบริเวณทวารหนักโดยเฉพาะในเวลากลางคืน
- ลูกนอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ร้องกวน
- เกามากจนเกิดแผลถลอกและเป็นสาเหตุให้มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน
- หากมีพยาธิจำนวนมากชอนไชในเยื่อบุลำไส้ ทำให้เกิดการระคายเคืองเยื่อบุผนังลำไส้ มีอาการปวดท้อง เบื่ออาหาร
- เมื่อติดเชื้อย้อนกลับโดยกลับเข้าทางช่องคลอดในเพศหญิง พยาธิจะชอนไชไปในช่องคลอด มดลูกทำให้เกิดการอักเสบทางอวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิงโดยมีอาการคันและตกขาว
แพทย์มักจะให้ยาถ่ายพยาธิ Albendazole 400 mg หรือ Mebendazole 100 mg หนึ่งครั้ง หลังจากนั้นให้ยาซ้ำอีกภายใน 2 สัปดาห์เพื่อป้องกันการติดเชื้อซ้ำ ควรให้ยารักษาทั้งครอบครัวเพราะติดต่อกันได้ง่าย อย่างไรก็ตาม ในหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร และในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงยาถ่ายพยาธินี้
วิธีป้องกันการแพร่ของพยาธิและการรักษาความสะอาดของลูก
- ควรหมั่นรักษาความสะอาดร่างกาย
- ทำความสะอาดข้าวของใช้ต่าง ๆ เช่น เสื้อผ้า ผ้าห่ม ที่นอน หมอน
- ต้องตัดเล็บมือของลูกให้สั้น
- สอนลูกล้างมือบ่อย ๆ ให้สะอาด โดยเฉพาะเวลาก่อนรับประทานอาหารและหลังจากเข้าห้องน้ำ
- อาบน้ำตอนเช้าเพื่อลดการสัมผัสไข่พยาธิ
- หลีกเลี่ยงการเกาบริเวณทวารหนัก
การดูแลรักษาความสะอาดในสภาพแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญ และต้องคอยดูแลลูก หากลูกไปเล่นนอกบ้านเพื่อป้องกันพยาธิไม่ให้มาทำร้ายลูกได้
อ้างอิงข้อมูล : si.mahidol.ac.th และ sci2.hcu.ac.th
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม
Rhinovirus แตกต่างจาก RSV อย่างไร ระวังลูกเป็นโรคทางเดินหายใจ