มดลูกโต คุณรู้จักโรคนี้มากแค่ไหน สิ่งสำคัญที่ผู้หญิงควรรู้ อาการแบบไหนที่อยู่ภาวะเสี่ยงโรค สาเหตุ การรักษาเป็นแบบใด หากรู้เร็วไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องผ่า!!
เช็กอาการ มดลูกโต สังเกตได้จากอะไร? รู้เร็วไม่ต้องผ่า!
โรคที่เกี่ยวกับอวัยวะสืบพันธุ์ของผู้หญิงนั้น มีหลายโรคที่ทำให้ผู้หญิงอย่างเราต้องคอยเฝ้าระวัง ไม่ว่าจะเป็น โรคมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เนื้องงอกในมดลูก และมดลูกโต เป็นต้น ซึ่งโรคต่าง ๆ เหล่านี้มักมีอาการสัญญาณเตือน อาการเจ็บป่วยมาก่อนล่วงหน้า ให้เราได้สังเกตเห็นถึงความผิดปกติ แต่ที่น่ากังวลใจนั่นคือ มดลูกโต แม้ไม่มีอาการแสดงผู้หญิงก็มีโอกาสเป็นได้
รู้จัก มดลูกโต คืออะไร??
มดลูกโต คือ ภาวะที่มดลูกขยายตัวมากกว่าปกติ โดยอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น การตั้งครรภ์ เนื้องอกในมดลูก โรคมะเร็งบางชนิด เป็นต้น เมื่อเกิดภาวะนี้ขึ้นจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบายตัว หรือรู้สึกหนักบริเวณช่องท้องส่วนล่าง ปกติแล้วภาวะมดลูกโตไม่มีอันตรายร้ายแรง แต่หากมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีเลือดออกบริเวณช่องคลอด มีอาการปวดบริเวณกระดูกเชิงกราน เป็นต้น ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพราะอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้
สาเหตุของมดลูกโต
ภาวะมดลูกโตเกิดได้จากหลายสาเหตุ บางอย่างก็ไม่ใช่สาเหตุอันตราย อย่างการตั้งครรภ์ที่จะทำให้มดลูกขยายใหญ่ขึ้น ซึ่งปกติแล้วมดลูกจะมีขนาดประมาณเท่ากับลูกแอปเปิ้ล แต่เมื่อตั้งครรภ์อาจทำให้มดลูกขยายตัวจนมีขนาดเท่ากับลูกแตงโมได้ โดยมดลูกจะหดตัวกลับสู่สภาพเดิมหลังคลอดประมาณ 1 เดือน
อ่านต่อ⇒⇒ เทคนิคลดน้ำหนักหลังคลอดฉบับญี่ปุ่น เห็นผลใน 5 วัน
อย่าวางใจ หากมดลูกโตเพราะสาเหตุเหล่านี้ อันตราย!!
มดลูกโต นอกจากภาวะที่เกิดจากสาเหตุที่ไม่อันตรายแล้ว ยังมีสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดได้ ซึ่งเป็นสาเหตุที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ดังนี้
- เกิดจากการมีเนื้องอกในมดลูก อาจมีเนื้องอกเจริญเติบโตขึ้นได้ทั้งด้านใน และด้านนอกของผนังมดลูก ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะนี้ยังไม่ปรากฏแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากปัจจัยบางอย่าง เช่น ฮอร์โมนเอสโตรเจน กรรมพันธุ์ และความอ้วน เป็นต้น โดยเนื้องอกในมดลูกเป็นสาเหตุหลักอย่างหนึ่งของภาวะมดลูกโต ซึ่งส่วนใหญ่เกิดในผู้หญิงอายุ 50 ปีขึ้นไป
- เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ที่พบ โรคมดลูกโตจากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Adenomyosis) คือ การที่เนื้อเยื่อในโพรงมดลูกเจริญหรือแทรกซึมเข้าไปในกล้ามเนื้อมดลูก ทำให้กล้ามเนื้อมดลูกเกิดภาวะอักเสบเรื้อรังจนเกิดพังผืดในชั้นกล้ามเนื้อมดลูก สุดท้ายมดลูกเกิดการขยายตัวและหนาขึ้น เกิดภาวะมดลูกโต ทำให้เกิดอาการประจำเดือนมามากผิดปกติ และอาการต่าง ๆ ที่แตกต่างกันในแต่ละบุคคล โดยสาเหตุนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ปัจจัยที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะนี้ คือ ฮอร์โมนเอสโตรเจนที่มีน้อยลงในผู้หญิงอายุมากกว่า 30 ปี หรือผู้ที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน อีกทั้งผู้หญิงที่เคยผ่านการผ่าคลอดก็อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะนี้เช่นเดียวกัน
- มะเร็งในระบบสืบพันธุ์ โรคมะเร็งที่เกิดในบริเวณระบบสืบพันธุ์อย่างมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก อาจเป็นสาเหตุของภาวะมดลูกโตได้ โดยขึ้นอยู่กับขนาดของเนื้อร้าย และขนาดของมดลูกด้วย
√√√เช็กอาการ! หากเข้าข่ายระวัง ภาวะมดลูกโต
แม้ว่าภาวะมดลูกโตอาจไม่แสดงอาการใด ๆ แต่ยังมีสัญญาณเตือนบางอย่างที่ช่วยให้เราตั้งข้อสงสัยว่าอาจเกิดภาวะมดลูกโตได้เช่นกัน อาการของโรคนี้จะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล อาจมีอาการไม่ครบทุกสัญญาณเตือน แต่หากพบอาการเหล่านี้ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจละเอียด
- ประจำเดือนมามากกว่าปกติ
- ปวดท้องประจำเดือนมากผิดปกติ และปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ จนทนไม่ไหว
- มีลิ่มเลือดขนาดใหญ่เท่าลูกปิงปองออกมาขณะมีประจำเดือน แต่ถ้าลิ่มเลือดมีขนาดเท่าเม็ดถั่วยังไม่ถือว่าผิดปกติ
- มีอาการคล้าย ๆ ตกเลือดขณะมีประจำเดือน คือ เมื่อขณะยืนในห้องน้ำแล้วเลือดไหลพรวดลงมาในปริมาณมาก
- ปวดเชิงกราน และช่องท้อง
- รู้สึกแน่น และหนักบริเวณช่องท้องส่วนล่าง
- เจ็บปวดมากขณะมีเพศสัมพันธ์
นอกจากนี้เมื่อมดลูกโตอาจส่งผลให้มีอาการท้องอืดหรือท้องผูก เพราะมดลูกโตจนเบียดลำไส้ ปัสสาวะบ่อยเพราะมดลูกเบียดกระเพาะปัสสาวะ อีกทั้งอาจมีอาการร่วมด้วยเพิ่มขึ้น ได้แก่ ปวดหลัง ปวดกระดูกเชิงกราน ตะคริวบริเวณท้อง เลือดออกจากช่องคลอด รวมถึงมีบุตรยาก เพราะการตั้งครรภ์ไม่สมบูรณ์
ประจำเดือนปกติเป็นแบบไหน?
- ประจำเดือนมาไม่เกิน 80 ซีซีต่อวัน
- ประจำเดือนมามากเฉพาะช่วง 3 วันแรก
- ประจำเดือนมาไม่เกิน 7 วัน
- ลิ่มเลือดระหว่างมีประจำเดือนขนาดเท่าเม็ดถั่ว
ผู้หญิงที่ป่วยเป็นโรคมดลูกโตนั้นมักไม่ทราบอาการจนเมื่อเข้าสู่ระยะรุนแรง ดังนั้นการหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายตนเองอยู่เสมอคือสิ่งสำคัญ และควรใส่ใจตรวจเช็กสุขภาพภายในกับสูติ-นรีแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
การตรวจวินิจฉัยโรคมดลูกโต สามารถทำได้โดย
- ซักประวัติโดยสูติ – นรีแพทย์อย่างละเอียด
- สูติ – นรีแพทย์ตรวจภายใน
- อัลตราซาวนด์ทางช่องคลอด หรือทวารหนักในกรณีที่ผู้ป่วยยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน
- ตรวจ MRI ช่องท้องส่วนล่าง (MRI Lower Abdomen) ในกรณีที่ต้องการยืนยัน และหรือประเมินความรุนแรงของโรคว่าเกิดพังผืดต่ออวัยวะข้างเคียงหรือไม่
รักษาอย่างไร?
การรักษาภาวะมดลูกโตขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการด้วย ซึ่งสามารถรักษาได้ด้วยวิธีการแตกต่างกันไป ดังนี้
มดลูกโตจากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
ไม่ต้องผ่าตัด หากเราตรวจพบในระยะขั้นไม่รุนแรง ผู้ที่มีภาวะนี้ส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องรักษา แต่อาจต้องใช้ยาเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวด โดยแพทย์อาจให้ยาไอบูโพรเฟนเพื่อช่วยให้อาการอักเสบดีขึ้น และอาจให้ยาคุมกำเนิดหรือใช้ห่วงคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนผสมอยู่ เพื่อบรรเทาอาการปวด และช่วยให้เลือดไหลน้อยลง ทำให้เนื้องอกหยุดเจริญเติบโต แต่หากอาการรุนแรง แพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัดมดลูกด้วย
มดลูกโตจากเนื้องอกในมดลูก
ไม่ผ่าตัด หากอยู่ในขั้นไม่รุนแรง สามารถรักษาเหมือนกับภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ได้ การรักษาโดยการผ่าตัดนำเนื้องอกในมดลูกออกหากประเมินแล้วว่าจำเป็น ส่วนวิธีการผ่าตัดนั้นขึ้นอยู่กับขนาดของเนื้องอก และบริเวณที่เกิดเนื้องอก นอกจากนี้ อาจรักษาด้วยการอุดเส้นเลือด (Embolization) โดยแพทย์จะใช้ท่อขนาดเล็กสอดเข้าไปในมดลูก และปล่อยอนุภาคเพื่อตัดเส้นเลือดแดงที่ไปเลี้ยงเนื้องอก ซึ่งจะทำให้เนื้องอกมีขนาดเล็กลงได้
มดลูกโตจากโรคมะเร็ง
อาจจำเป็นต้องรักษาด้วยการฉายรังสีหรือรับยาเคมีบำบัด ในกรณีที่มีอาการรุนแรงหรือก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่ อาจต้องใช้วิธีผ่าตัดนำก้อนเนื้อหรือนำมดลูกออกไป
ภาวะแทรกซ้อนของมดลูกโต
อาการมดลูกโตนั้นไม่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงใด ๆ ต่อร่างกาย แต่สาเหตุที่ทำให้เกิดมดลูกโต อาจส่งผลให้เกิดอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมาได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ดังนี้
- มีอาการปวด และไม่สบายตัว
- ท้องผูก เนื่องจากมดลูกโตจนไปเบียดลำไส้ และไส้ตรง
- ปัสสาวะบ่อย เนื่องจากมดลูกไปเบียดกระเพาะปัสสาวะ
- มีปัญหาด้านการเจริญพันธุ์ หรือประสบภาวะมีบุตรยาก
- อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทารกในครรภ์
ป้องกันได้อย่างไร?
ภาวะมดลูกโตมักเป็นส่วนหนึ่งของโรคหรือภาวะอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดมดลูกโต ฉะนั้น การป้องกันภาวะมดลูกโตจึงอาจต้องป้องกันโรคหรือภาวะต่าง ๆ ที่เป็นต้นเหตุ ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
- ลดน้ำหนัก เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดเนื้องอกในมดลูก
- ผู้หญิงอายุ 50 ปีขึ้นไป ควรปรึกษาแพทย์เรื่องการรับมือเมื่อมีฮอร์โมนเอสโตรเจนลดน้อยลง
- ตรวจร่างกาย และตรวจภายในเป็นระยะสม่ำเสมอ
- เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งที่เป็นสาเหตุในการเกิดมดลูกโต เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เป็นต้น
เป็นมดลูกโต สามารถตั้งครรภ์ได้หรือไม่?
มดลูกเป็นอวัยวะที่อยู่ในระบบสืบพันธุ์ของคุณผู้หญิง ดังนั้นหากมีภาวะที่ไม่เป็นปกติ ก็อาจส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์ได้ การเป็นมดลูกโตแล้วจะตั้งครรภ์ได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้มดลูกโต เช่น หากเป็นมดลูกโตจากเนื้องอก การจะดูว่าผู้ป่วยสามารถตั้งครรภ์ได้หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาที่ชนิด ขนาด ตำแหน่ง และจำนวนของเนื้องอกมดลูก
ถ้าเป็นมดลูกโตจากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ นั้นสามารถตั้งครรภ์ได้ และการตั้งครรภ์จะทำให้อาการของโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่สงบลง คือ อาการปวดท้องประจำเดือนจะหายไป แต่ในทางกลับกันตัวโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่เองก็เป็นสาเหตุนึงของการมีบุตรยากฉะนั้นผู้ป่วยท่านใดที่มีภาวะดังกล่าวก็ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ถ้าเป็นมดลูกโตจากมะเร็งมาก่อนที่จะมีการตั้งครรภ์แพทย์จะแนะนำให้ทำการรักษาตัวโรคมะเร็งให้หาย และสงบก่อน มะเร็งบางชนิดหลังจากที่โรคสงบแล้วจะสามารถตั้งครรภ์ได้แต่บางชนิดก็ไม่แนะนำให้ตั้งครรภ์ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญทั้งโรคมะเร็งเอง และแพทย์เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ก่อนการตัดสินใจตั้งครรภ์
อ่านต่อ ⇒⇒เป็นเนื้องอกมดลูก มีลูกได้ไหม?
มดลูกโต ควรกินอะไรบ้าง?
สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นมดลูกโตนั้น เป็นความผิดปกติของการทำงานของร่างกาย ดังนั้นการดูแลตนเองนอกจากจะเฝ้าดู สังเกตอาการที่ผิดปกติที่จะเป็นสัญญาณเตือนแล้ว เรายังสามารถดูแลตนเองในเรื่องอาหารการกิน เพื่อช่วยให้ร่างกายแข็งแรง และไม่ไปสร้างภาระให้กับการทำงานของอวัยวะในร่างกายที่เกี่ยวข้องอีกด้วย ดังนี้
- ควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
- เน้นหนักในอาหารที่มีกากใย และไฟเบอร์
- ควรงดเว้นของที่มีปริมาณไขมันมาก หรือของที่พลังงานสูง เนื่องจากจะทำให้น้ำหนักในร่างกายเพิ่มขึ้น และทำให้ปริมาณมวลไขมันในร่างกายเพิ่มขึ้นอีกด้วย
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ เพื่อไม่ให้ร่างกายปรับระดับฮอร์โมนที่ผิดปกติ ระดับฮอร์โมนต่าง ๆ ในร่างกายหากผิดปกติไป อาจทำให้เป็นสาเหตุของมดลูกโต
ข้อมูลอ้างอิงจาก www.pobpad.com/www.bangkokhospital.com/hd.co.th
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
เนื้องอกในมดลูก โรคยอดฮิตของหญิงทุกวัย ไม่ใช่มะเร็ง แต่ไม่ควรมองข้าม!
สัญญาณมะเร็งเต้านม ก้อนเนื้อที่เต้านมเป็นเพราะอะไร พร้อมวิธีตรวจด้วยตัวเอง
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่