โรค Aphasia ที่บรูซ วิลลิส ป่วย เกิดจากอะไร รักษาได้ไหม
ข่าวดังในวงการฮอลลีวูดที่พระเอกนักบู๊ บรูซ วิลลิส ป่วยด้วย โรค aphasia (อะเฟเซีย) ที่มีผลทำให้เกิดความผิดปกติในการใช้ภาษา และการสื่อความ เป็นผลทำให้เขาต้องอำลาวงการบันเทิง ซึ่งข่าวอาการป่วยนี้ น่าสนใจมากค่ะว่าเกิดจากอะไร รักษาได้ไหม และจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้กับคุณพ่อคุณแม่ หรือลูกน้อยหรือไม่ เรามาทำความรู้จักโรคนี้กันค่ะ
โรค Aphasia คืออะไร
Aphasia หรือภาวะบกพร่องทางการสื่อความ เป็นความผิดปกติทางการสื่อสาร ซึ่งมักเป็นผลมาจากสมองได้รับความเสียหายจากภาวะเส้นเลือดในสมองแตก หรือการได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ ทำให้มีความผิดปกติในด้านทักษะของการสื่อสารและการใช้ภาษา ไม่สามารถโต้ตอบหรือทำความเข้าใจได้ และอาจมีปัญหาทางด้านการอ่านและการเขียนร่วมด้วย
สาเหตุของ Aphasia
เป็นผลมาจากการที่สมองส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมการใช้ภาษาได้รับความเสียหาย ทำให้การลำเลียงเลือดเข้าสู่ในบริเวณดังกล่าวถูกขัดขวาง จนทำให้เนื้อสมองตายในที่สุด อาจเกิดขึ้นได้อย่างกะทันหันหลังเกิดภาวะเส้นเลือดในสมองแตก ภาวะสมองขาดเลือด การได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ หรือการเข้ารับการผ่าตัดสมอง
ในบางรายอาการอาจจะเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ โดยสาเหตุอาจมาจากเนื้องอก การติดเชื้อในสมอง โรคทางระบบประสาท หรือภาวะเสื่อมถอยของสมองอย่างโรคสมองเสื่อม เป็นต้น
ภาวะ Aphasia มักพบในผู้ป่วยที่มีอาการเส้นเลือดในสมองแตกมากที่สุด สำหรับภาวะ Aphasia แบบชั่วคราวมักมีสาเหตุมาจากอาการไมเกรน อาการชัก หรือภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (TIA) ซึ่งเป็นภาวะที่เสี่ยงต่อการเกิดอาการเส้นเลือดในสมองแตก หรือโรคหลอดเลือดสมองได้ในอนาคต
อาการของ Aphasia
ภาวะ Aphasia ในแต่ละคนจะมีอาการที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับบริเวณที่สมองได้รับความเสียหาย และระดับความรุนแรงของความเสียหายนั้น ภาวะนี้ส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาต่อการพูด การทำความเข้าใจ การอ่าน การเขียน การสื่อสารและการรับสาร เช่น พูดได้แค่ประโยคสั้น ๆ หรือพูดไม่จบประโยค เรียบเรียงประโยคในการพูดหรือการเขียนให้คนอื่นเข้าใจไม่ได้ ใช้คำไม่เหมาะสม เลือกใช้คำหนึ่งแทนที่อีกคำ พูดคำที่ไม่มีความหมาย หรือไม่เข้าใจในบทสนทนาของผู้อื่น เป็นต้น
โดยภาวะ Aphasia ในแต่ละรูปแบบจะมีอาการที่แตกต่างกันไปตาม เช่น
ภาวะบกพร่องทางการสื่อความแบบที่สามารถสื่อสารได้ หรือ Wernicke’s Aphasia
เกิดจากส่วนกลางของสมองซีกซ้ายได้รับความเสียหาย ผู้ป่วยพูดได้ปกติ แต่ไม่สามารถเข้าใจในสิ่งที่ผู้อื่นพูด ไม่สามารถใช้ภาษาได้อย่างถูกต้อง มีแนวโน้มที่จะพูดประโยคยาว ๆ หรือประโยคที่ซับซ้อนติดต่อกันโดยไม่มีความหมาย ใช้คำที่ไร้สาระ คำฟุ่มเฟือย หรือใช้คำไม่ถูก และไม่ทราบว่าผู้อื่นไม่เข้าใจ
ภาวะบกพร่องทางการสื่อความแบบที่ไม่สามารถสื่อสารได้ หรือ Broca Aphasia
เป็นผลมาจากส่วนหน้าของสมองซีกซ้ายได้รับความเสียหาย จะเข้าใจสิ่งที่ผู้อื่นสื่อสารได้ดีกว่าการพูดสื่อสารออกไป ผู้ป่วยจะสื่อสารได้แค่ประโยคสั้น ๆ พูดไม่จบประโยค หรืออาจลืมคำบางคำ และไม่สามารถเข้าใจสิ่งที่ผู้อื่นสื่อสารได้ทั้งหมด รู้สึกผิดหวังหรือไม่พอใจหากผู้อื่นไม่เข้าใจสิ่งที่ตนเองต้องการจะสื่อ มีอาการอ่อนแรงหรือเป็นอัมพาตในซีกขวา
ภาวะบกพร่องทางการสื่อความแบบ Conduction
ผู้ป่วยมีความเข้าใจและสามารถใช้ภาษาได้ดีทั้งการพูดและการเขียน พูดได้คล่อง แต่ไม่สามารถพูดตามได้หรือหากพูดตามจะพูดผิด
ภาวะบกพร่องทางการสื่อความแบบ Global
เป็นผลจากสมองซีกซ้ายได้รับความเสียหายทั้งส่วนหน้าและส่วนกลาง จะมีปัญหาทั้งการสื่อสารและการรับสาร ไม่สามารถอ่านหรือเขียนได้ มีภาวะบกพร่องทางการสื่อความแบบที่สามารถสื่อสารได้และไม่ได้รวมกัน
หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นว่าตนเองมีปัญหาในการใช้หรือการเข้าใจคำพูด การนึกคำ การเขียน และการอ่าน ควรพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
การรักษา Aphasia
แพทย์จะรักษาด้วยวิธีการบำบัดทางการพูดและภาษาเป็นหลัก เพื่อฟื้นฟูความสามารถด้านการใช้ภาษาและเสริมทักษะการสื่อสาร มีทั้งการบำบัดกับผู้เชี่ยวชาญ การทำกลุ่มบำบัด และการทำครอบครัวบำบัด
แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญจะฝึกหรือทบทวนการใช้คำ ใช้ประโยคที่ถูกต้อง การพูดทวน และการถามตอบที่เหมาะสมให้แก่ผู้ป่วย รวมทั้งมีการใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้คำศัพท์และเสียงของคำต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถพัฒนาทักษะด้านการสื่อสาร เข้าร่วมบทสนทนา สื่อสารได้เมื่อถึงเวลาของตนเอง เข้าใจในข้อผิดพลาดทางการใช้คำและแก้ไขบทสนทนาที่ผิดพลาดนั้นได้
อาการของผู้ป่วยจะค่อย ๆ ได้ผลดีขึ้นหลังทำการบำบัดติดต่อกัน แต่บางรายอาจใช้เวลานานกว่าปกติในการบำบัด การบำบัดจะได้ผลที่ดีที่สุด เมื่อเริ่มทันทีหลังจากที่ร่างกายและสมองเริ่มฟื้นตัวจากอาการบาดเจ็บจนอยู่ในอาการที่ปลอดภัย
นอกจากนี้ ยังมีการใช้ยาเพื่อรักษาภาวะ Aphasia แต่อยู่ในระหว่างการศึกษาและทดสอบ ซึ่งยาดังกล่าวเป็นยาที่ช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือดภายในสมอง ช่วยในการฟื้นฟูการทำงานของสมอง หรือเป็นยาที่ช่วยทดแทนสารสื่อประสาทในสมองของผู้ป่วยที่ขาดหรือหมดไป
ภาวะแทรกซ้อนของ Aphasia
ภาวะ Aphasia เป็นภาวะที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เนื่องจากผู้ป่วยจะมีปัญหาด้านการสื่อสาร จึงอาจกระทบต่อความสัมพันธ์ การทำงาน หรือการทำกิจกรรมในแต่ละวัน อีกทั้งอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอับอาย หดหู่ เนื่องจากไม่สามารถสื่อสารได้ตามปกติ
การป้องกัน Aphasia
ทำได้โดยหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่สร้างความเสียหายต่อสมองและดูแลสุขภาพของสมองด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- รับประทานอาหารที่มีโซเดียมและไขมันต่ำ
- งดการสูบบุหรี่
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่เหมาะสมและเท่าที่จำเป็น
- ควบคุมระดับความดันโลหิตและไขมันในเลือด
- ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน หรือมีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับระบบการไหลเวียนโลหิต ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
- หากสงสัยว่ามีอาการของภาวะเส้นเลือดในสมองแตก ควรเข้าพบแพทย์โดยเร็วที่สุด รวมถึงหากมีภาวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ ควรเข้าพบแพทย์เพื่อรักษาอาการเช่นกัน
โรคนี้ไม่ใช่โรคที่คุณพ่อคุณแม่จะประมาทได้เลย ขอให้รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ดูแลสมองด้วยวิธีที่แนะนำ แค่นี้ก็จะห่างไกลจากอาการ Aphasia ได้ค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ ,pobpad
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก