โรคใหลตาย สัญญาณอันตราย ความตายที่ไม่รู้ตัว
เหตุการณ์น่าตกใจล่าสุดที่พระเอกหนุ่มเสียชีวิตอย่างกะทันหันขณะนอนหลับ ซึ่งแม้ยังไม่รู้สาเหตุที่แท้จริงแต่หลายฝ่ายก็ตั้งข้อสงสัยว่าเป็นอาการของ โรคใหลตาย เนื่องจากโรคนี้เกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน คุณพ่อคุณแม่ที่ยังอยู่ในวัยทำงานและทำงานหนักหามรุ่งหามค่ำควรระวังรักษาร่างกายให้แข็งแรง ใช้ชีวิตให้ห่างจากปัจจัยกระตุ้นโรค โรคนี้มีสาเหตุมาจากอะไร และมีวิธีป้องกันและช่วยเหลือได้อย่างไร ทีมแม่ ABK นำข้อมูลมาฝากคุณพ่อคุณแม่ค่ะ
โรคใหลตายคืออะไร
ใหลตาย ทางการแพทย์เรียกภาวะนี้ว่า กลุ่มอาการบรูกาดา (Brugada Syndrome) เกิดขึ้นจากคลื่นไฟฟ้าหัวใจทำงานผิดปกติ ทำให้หัวใจเต้นเร็ว หรือเต้นไม่เป็นจังหวะ และสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ไม่เพียงพอ ส่งผลให้ผู้ป่วยหมดสติ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้สมองตาย และเสียชีวิตอย่างเฉียบพลัน แต่ภาวะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นระหว่างนอนหลับเท่านั้น แต่อาจเกิดขึ้นในขณะตื่นได้เช่นกัน
คนไข้ส่วนใหญ่ที่เป็นโรคใหลตายในวันปกติจะไม่มีผลอะไรเกิดขึ้น แต่ในวันพักผ่อนน้อย ดื่มเหล้า หรือใช้สารเสพติด รวมถึงยาบางอย่างหรือในวันที่ไม่สบาย อาจทำให้อาการใหลตายเกิดขึ้นและเสียชีวิตกระทันหันในวันเหล่านั้น
โรคใหลตายมีสาเหตุมาจากอะไร
ใหลตายเกิดจากหลายปัจจัย ได้แก่
- ความผิดปกติทางพันธุกรรม ของการนำเกลือแร่โซเดียมเข้าออกเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะขั้นรุนแรง และเสียชีวิตกะทันหันได้
- ภาวะร่างกายขาดแร่ธาตุโพแทสเซียม ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง ส่งผลให้หัวใจเต้นแรงขึ้น และเสียชีวิตในที่สุด
- การบริโภคอาหารที่มีสารพิษวันละเล็กน้อย จนเกิดการสะสม และเป็นพิษต่อกล้ามเนื้อหัวใจ
- การขาดสารอาหารที่เป็นวิตามินบี 1 อย่างรุนแรงเฉียบพลัน ทำให้คนที่แข็งแรงอยู่ดี ๆ รู้สึกอ่อนเพลีย และอยากนอน เมื่อหลับแล้วก็หัวใจวายตายเกือบจะทันที โดยโรคนี้สัมพันธ์ใกล้ชิดกับภาวะทุภพโภชนาการ และนิสัยการกินที่ผิด
อาการของภาวะใหลตาย
ผู้ป่วยหลายคนไม่รู้ว่าตนเองป่วยเป็นกลุ่มอาการบรูกาดา เพราะไม่มีสัญญาณบ่งบอกถึงความผิดปกติ แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการหน้ามืด เวียนศีรษะ ชัก หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก หรือใจสั่น ในกรณีที่อาการกำเริบระหว่างนอนหลับ อาจหายใจเสียงดังครืดคราดคล้ายละเมอ ซึ่งหากหัวใจไม่กลับมาเต้นเป็นปกติภายใน 6-7 นาที อาจส่งผลให้เสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม อาการดังกล่าวอาจไม่ใช่สัญญาณของภาวะใหลตายเสมอไป ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุของอาการที่เกิดขึ้น และรับการรักษาต่อไป
วิธีการรักษาโรคใหลตาย
แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ที่เสี่ยงเกิดภาวะใหลตายเข้ารับการรักษาเพื่อป้องกันหัวใจเต้นเร็วผิดปกติจนเกิดอันตราย ดังนี้
- ผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้า (Implantable Cardioverter Defibrillator: ICD) โดยฝังไว้บริเวณหน้าอกด้านซ้ายใต้กระดูกไหปลาร้า อุปกรณ์นี้ทำงานด้วยการส่งกระแสไฟฟ้าไปกระตุ้นให้หัวใจเต้นกลับมาเต้นเป็นปกติเมื่อหัวใจเต้นเร็วเกินไป แต่การฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจอาจส่งผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการช็อกแม้ในขณะที่หัวใจเต้นเป็นปกติได้ ผู้ป่วยจึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินข้อดีและข้อเสียก่อนรักษาด้วยวิธีนี้
- การจี้หัวใจด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง (Radiofrequency Ablation: RFA) แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ที่มีภาวะหัวใจห้องล่างเต้นแผ่วระรัวบ่อยครั้งเข้ารับการรักษาด้วยวิธีนี้เพิ่ม เพื่อลดความถี่ของการเกิดภาวะดังกล่าว
- การใช้ยา แพทย์อาจให้ผู้ป่วยรับประทานยา ที่มีสรรพคุณช่วยป้องกันหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น ยาควินิดีน วิธีนี้อาจใช้เป็นการรักษาหลักในผู้ที่มีความเสี่ยงน้อย หรือใช้เป็นวิธีเสริมในผู้ที่ผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจ
การปฐมพยาบาลผู้ที่อยู่ในภาวะใหลตาย
จับผู้ป่วยนอนราบ ระหว่างรอรถพยาบาล หรือรอคนมาช่วยให้ประเมินผู้ป่วย หากพบว่าไม่หายใจ หรือชีพจรที่คอไม่เต้น ให้กดหน้าอกยุบลงราว 1.5 นิ้ว แล้วปล่อยให้คลายตัวเป็นชุด ในความถี่ราว 100 ครั้งต่อนาทีโดยไม่หยุด จนกว่าจะถึงมือแพทย์ หรือจนกว่าผู้ป่วยจะรู้ตัว และไม่ควรงัดปากคนไข้ด้วยของแข็ง เพราะอาจเป็นอันตราย และให้ระลึกเสมอว่าคนที่เป็นโรคใหลตาย อาจจะมีโรคอื่นของสมอง เช่น ลมชัก โรคหัวใจ ที่อาจเป็นเหตุให้หมดสติได้เช่นกัน
การป้องกันภาวะใหลตาย
ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีป้องกันภาวะใหลตายที่ได้ผล แต่การหลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจกระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะใหลตาย ทำได้ดังนี้
- ควรรับประทานยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล หากมีไข้สูงตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป และรีบไปพบแพทย์ทันทีหากรับประทานยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น
- ผู้ที่เสี่ยงต่อภาวะขาดน้ำ เช่น มีอาการท้องเสีย ควรดื่มน้ำให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย และอาจดื่มน้ำเกลือแร่ เพื่อทดแทนน้ำและแร่ธาตุที่สูญเสียไป
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารพิษปนเปื้อน รับประทานอาหารที่ให้สารอาหารเพียงพอต่อร่างกาย โดยเฉพาะวิตามินบี และรับประทานอาหารที่มีคุณสมบัติ ช่วยบำรุงหัวใจ และหลอดเลือดอย่างสม่ำเสมอ เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า น้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ ถั่วดำ ถั่วแระ เต้าหู้ เป็นต้น
- ยาบางชนิด อาจส่งผลกระทบต่อการเต้นของหัวใจ ผู้ที่ทราบว่าตนเองเสี่ยงเกิดภาวะใหลตาย ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนรับประทานยาทุกชนิด
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ครั้งละมาก ๆ
- หากมีคนในครอบครัว เสียชีวิตจากภาวะใหลตาย หรือมีอาการเข้าข่ายเป็นภาวะนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อประเมินความเสี่ยง และตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยให้แพทย์ สามารถวางแผนการวินิจฉัยเพิ่มเติม และให้การรักษาได้อย่างเหมาะสมต่อไป
ขอบคุณภาพจาก Rama Channel
ขอบคุณข้อมูลจาก
Springnews, Rama Channel, pobpad
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก