30 บาทรักษาทุกโรค หรือ โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นนโยบายที่ทำเพื่อให้ประชาชนมีหลักประกันสุขภาพ คนไทยทุกคนจ่ายเพียงสามสิบบาทก็รับบริการรักษาโรคได้ โดยรัฐจัดสรรงบประมาณไปยังโรงพยาบาลตามจำนวนคน และแจกบัตรประจำตัวให้แก่ผู้รับบริการที่เรียกกันว่า “บัตรทอง” ซึ่งปัจจุบันนี้สามารถ ย้ายสิทธิบัตรทอง ด้วยตนเองได้แล้วนะคะ
ย้ายสิทธิบัตรทอง ด้วยตนเอง ผ่าน 2 ช่องทาง สะดวก ง่าย
สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้ผู้ถือบัตร “บัตรทอง” ที่ต้องการเปลี่ยนโรงพยาบาล สามารถดำเนินการได้ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยทีมแม่ ABK ได้รวบรวมขั้นตอนย้ายสถานพยาบาลสิทธิบัตรทอง ผ่านช่องทางไลน์ และแอปพลิเคชั่น ของ สปสช. มาไว้ให้คุณแม่แล้วค่ะ
เงื่อนไข ย้ายสิทธิบัตรทอง เปลี่ยนโรงพยาบาลบัตรทอง
ก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงข้อมูลสถานพยาบาลบัตรทอง มีเงื่อนไขที่ต้องตรวจสอบก่อนดังนี้ค่ะ
- ผู้ใช้งานต้องมีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สิทธิว่าง
- อายุ 15 ปี บริบูรณ์ขึ้นไป
- ลงทะเบียนด้วยตนเองเท่านั้น ลงทะเบียนแทนบุคคลในครอบครัวไม่ได้ (ณ ปัจจุบัน)
- เปลี่ยนหน่วยบริการได้มากกว่า 1 ครั้ง แต่ไม่เกิน 4 ครั้งต่อปี
วิธีเปลี่ยนโรงพยาบาลบัตรทองผ่านไลน์ สปสช.
ขั้นตอนง่าย ๆ เพื่อเปลี่ยนโรงพยาบาลผ่านทาง Line@ มีดังนี้
- พิมพ์ @nhso ที่ช่องค้นหา หรือ สแกนคิวอาร์โค้ด เพื่อเพิ่มเพื่อน
- ระบบจะแสดงรายละเอียดข้อตกลง จากนั้นกด “ยอมรับ”
- กรอกเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก และกดถัดไป
- ระบุข้อมูลส่วนบุคคลเพิ่มเติม ได้แก่ ชื่อ สกุล วันเดือนปีเกิด เลขหลังบัตรประจำตัวประชาชน (กรณีบัตรประชาชนไม่มีรหัสหลังบัตรจะต้องลงทะเบียนที่หน่วยรับบริการลงทะเบียน)
- ตั้งรหัสผ่าน 6 หลัก จากนั้นกดถัดไป
- กรอกหมายเลขโทรศัพท์เพื่อขอรับ OTP และกดขอรับรหัส OTP
- กรอกรหัส OTP จากนั้นกดยืนยัน
- กดเลือกเมนู “ตรง” หากที่พักอาศัยตรงกับบัตรประชาชน
- ถ่ายรูปบัตรประชาชน โดยใช้กล้องหลัง
- จากนั้นถ่ายรูปเซลฟี่ ตนเองกับบัตรประชาชน โดยใช้กล้องหน้า จากนั้นกดอัพโหลด
- กรณีที่พักอาศัยไม่ตรงกับบัตรประชาชน ให้กดเลือกเมนู “ไม่ตรง”
- แนบหลักฐานการพักอาศัยปัจจุบัน เช่น บิลค่าน้ำ ค่าไฟ หรือ หนังสือรับรองเจ้าของบ้าน หรือ สแกนคิวอาร์โค้ด เพื่อดาวน์โหลดแบบคำร้อง จากนั้นกดอัพโหลด
- ระบบจะแสดงเครือข่ายบริการที่สามารถเลือกได้ จากนั้นให้กดเลือกเครือข่ายหน่วยบริการที่ต้องการ
- ระบบจะแสดงผลว่า ได้รับข้อมูลเรียบร้อยแล้ว จากนั้นให้กดถัดไป
- สิทธิเกิดใหม่ทันที ที่เครือข่ายหน่วยบริการที่เลือกไว้
- เข้าเมนูตรวจสอบสิทธิ เพื่อดูรายละเอียดสิทธิที่เกิดใหม่
วิธีเปลี่ยนโรงพยาบาลบัตรทองผ่านแอปฯ สปสช.
หลังจากโหลดแอปฯ แล้ว ให้ดำเนินการดังนี้
- กดเมนูลงทะเบียนเปลี่ยนหน่วยบริการ ระบบจะแสดงผลที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน
ถ้าที่อยู่ปัจจุบันตรงกับบัตรประจำตัวประชาชน เลือกเมนู “ตรง” ถ่ายรูปบัตรประชาชนโดยใช้กล้องหลัง ถ่ายรูปเซลฟีคู่กับบัตรประชาชนโดยใช้กล้องหน้า
ถ้าที่พักอาศัยไม่ตรงกับบัตรประชาชนเลือกเมนู “ไม่ตรง” และแนบหลักฐานการพักอาศัยปัจจุบัน เช่น บิลค่าน้ำ ค่าไฟ หรือหนังสือรับรองเจ้าของบ้าน หรือสแกนคิวอาร์โค้ด เพื่อดาวน์โหลดแบบคำร้อง ระบุที่อยู่ปัจจุบัน
- ระบบจะแสดงเครือข่ายหน่วยบริการที่สามารถเลือกได้
- กดเลือกเครือข่ายหน่วยบริการที่ต้องการ และกดยืนยัน ระบบจะแสดงผลว่าได้รับข้อมูลเรียบร้อยแล้ว จากนั้นกดถัดไป
- สิทธิใหม่เกิดทันทีที่เครือข่ายหน่วยบริการที่เลือกไว้ หรือตรวจสอบสิทธิ เพื่อดูรายละเอียดสิทธิที่เกิดใหม่ได้
สิทธิประโยชน์บัตรทอง ที่เพิ่มขึ้นในปี 2565
วันที่ 1 มกราคม 2565 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในปีใหม่ 2565 สปสช. ขอมอบ 10 สิทธิประโยชน์บริการใหม่ และการขยายบริการให้ครอบคลุมดังนี้
1.รับบริการหมอครอบครัว หน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ ประชาชนยังคงเข้ารับบริการที่หน่วยบริการประจำที่ลงทะเบียนและหน่วยบริการปฐมภูมิในเครือข่าย แต่กรณีมีความจำเป็น สามารถเข้ารับบริการปฐมภูมิที่หน่วยบริการปฐมภูมินอกเครือข่ายได้
2.ผู้ป่วยในไม่ต้องใช้ใบส่งตัวทั่วประเทศ
3.บริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีหลังการสัมผัสเชื้อ (HIV PEP) โดยให้ประชาชนทุกคนได้รับยาต้านไวรัสเอชไอวีหลังสัมผัสเชื้อ (PEP) เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี
4.การตรวจยีน BRCA1 BRCA2 ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม
5.บริการตรวจคัดกรองผู้ป่วยโรคพันธุกรรมเมตาบอลิก ด้วยเครื่อง Tandem mass spectrometry ขยายการตรวจคัดกรองทารกแรกเกิดโรคทางพันธุกรรมเมตาบอลิก เพื่อเข้าสู่การรักษาโรคหายากได้อย่างรวดเร็วและช่วยชีวิตเด็ก
6.การผ่าตัดใส่รากฟันเทียมสำหรับผู้ที่ไม่มีฟันทั้งปาก ด้วยบริการผ่าตัดใส่รากฟันเทียมและการบำรุงรักษา รวมเป็นค่าใช้จ่ายจำนวน 24,200 บาทต่อราย
7.บริการคัดกรองรอยโรคเสี่ยงมะเร็งและมะเร็งช่องปาก สำหรับประชาชนไทย อายุ 40 ปีขึ้นไป ทุกสิทธิการรักษา
8.บริการแว่นตาสำหรับเด็กที่มีภาวะสายตาผิดปกติ เป้าหมายคัดกรองตรวจสายตาเด็กอนุบาล 1 ถึงนักเรียนชั้น ป.6 ที่ครูสงสัยว่าเด็กมีปัญหาสายตา และนำเด็กที่เข้ารับการตรวจโดยจักษุแพทย์พร้อมตัดแว่นสายตา
9.เพิ่ม 2 บริการตรวจคัดกรองคู่หญิงตั้งครรภ์ ได้แก่ การตรวจคัดกรองธาลัสซีเมียและเชื้อซิฟิลิส
10.ขยายบริการล้างไตผ่านช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกและมีคุณภาพดีมากขึ้น สปสช.เพิ่มเครื่องล้างไตอัตโนมัติ APD เกือบ 1,300 เครื่อง กระจายทั่วประเทศ
บัตรทองไม่ครอบคลุม เบิกอะไรไม่ได้บ้าง
- เพื่อความสวยงาม โดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
- การตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่เกินความจำเป็นจากข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
- การรักษาที่อยู่ระหว่างค้นคว้าทดลอง
- การปลูกถ่ายอวัยวะ ที่ไม่ปรากฏตามบัญชีแนบท้าย
- การบริการทางการแพทย์อื่น ตามที่บอร์ด สปสช. กำหนด
คุณแม่อย่าลืมตรวจสอบสิทธิต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์กับตนเอง โดยเฉพาะกับสิทธิบัตรทอง ถ้าคุณแม่ท่านไหนใช้สิทธิบัตรทองอยู่แล้วต้องการเปลี่ยนสถานพยาบาลก็สามารถเข้าไปเปลี่ยนได้ตามช่องทางและขั้นตอนที่ได้แนะนำไว้ รับรองว่าง่ายและสะดวก ไม่เสียเวลาค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก msn ข่าว , ประชาชาติธุรกิจ , ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
ตรวจคัดกรองการได้ยินทารกแรกเกิด สิทธิบัตรทอง ใครได้บ้างเช็คเลย!