โควิดรอบใหม่ ไร้อาการ ปอดอักเสบ วัยทำงานต้องระวัง - Amarin Baby & Kids
ปอดอักเสบ

โควิดรอบใหม่ ไร้อาการ ปอดอักเสบ หมอย้ำ “ติดง่ายเป็นหนัก” วัยทำงานต้องระวัง

account_circle
event
ปอดอักเสบ
ปอดอักเสบ

Walking Spreader (ตัวแพร่เชื้อเคลื่อนที่) อันตรายกว่า Super Spreader!! แพทย์เผยฟิล์มเอ็กซเรย์ผู้ป่วยโควิด ไม่พบร่องรอย ปอดอักเสบ ไร้อาการป่วย พร้อมแพร่เชื้อแบบไม่รู้ตัว

การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ มากกว่า 50 จังหวัดทั่วประเทศ พบว่าเป็นเชื้อที่กลายพันธุ์ที่ระบาดง่ายและมักไม่แสดงอาการเบื้องต้นอย่าง มีไข้สูง จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส เหมือนกับเชื้อโควิดที่ระบาดเมื่อปีก่อน โดยทางองค์การอนามัยโลกระบุว่ากว่าร้อยละ 50 ของผู้ติดเชื้อเป็นผู้ที่ไม่แสดงอาการ และจำนวนผู้ติดเชื้อที่ได้รับรายงาน มีความเป็นไปได้ว่าอาจน้อยกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจริงอยู่มาก เพราะบางรายไม่มีอาการและไม่ได้ไปรักษา

ปอดอักเสบ

นายแพทย์ โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก พร้อมภาพฟิล์มเอ็กซเรย์เปรียบเทียบปอดของผู้ป่วยโควิดระลอกใหม่ กับผู้ป่วยที่มีอาการ ปอดอักเสบ พร้อมระบุว่า

Walking spreader รอบนี้คนไข้ไม่เหมือนเดิม เชื้อแบ่งตัวได้ดีในจมูกและทางเดินหายใจ คนไม่มีอาการจะมีเชื้อในจมูกเยอะมากพร้อมที่จะแพร่กระจายเป็นวงกว้างเวลาไอ จามหรือพูด  (รูปซ้าย) ภาพถ่ายปอดผู้ที่ติดเชื้อที่ไม่มีอาการเลย เดินไปเดินมา ใช้ชีวิตเหมือนคนปกติ แต่เชื้อในจมูกค่า CT (cycle threshold) จากเครื่อง PCR บอกว่ามีปริมาณเชื้อในจมูกสูง มากเมื่อเทียบกับคนไข้ที่เคยเห็นในระลอกแรก ดังนั้นถ้าไม่ได้มาตรวจก็แพร่กระจายเชื้อคนอื่นได้อีกมาก

(รูปขวา) เราเริ่มเห็นคนมีอาการไข้หวัดหรือ ปอดอักเสบ มาที่โรงพยาบาล แต่ไม่ยอมบอกประวัติความเสี่ยงเพื่อปกปิดการเดินทาง แพทย์อาจไม่ได้ส่งตรวจหาโควิด เพราะคิดว่าเป็นปอดอักเสบจากเชื้ออื่นที่พบได้บ่อยกว่า ดังนั้นถ้ามีประวัติไปที่เสี่ยงตัองแจ้งแพทย์เสมอเพื่อแยกออกไปจากคนไข้คนอื่นที่มีโอกาสติดแล้วมีอาการรุนแรงหรืออาจติดต่อไปยังหมอและพยาบาล

 

ปอดอักเสบ

โควิดระลอกใหม่ เป็นสายพันธุ์ไหนกันแน่

“อาการไม่หนักแต่ระบาดเร็ว” นี่อาจเป็นคำจำกัดความสั้นๆของการระบาดของเชื้อโควิดระลอกใหม่ในไทย ซึ่งแตกต่างจากการระบาดเมื่อช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมา ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยววชาญด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับวิวัฒนาการของโควิด-19 ไว้ว่า

“เชื้อโควิดที่แพร่ระบาดอยู่ทั่วโลกคือ สายพันธุ์ G (Glycine) พัฒนาตัวเองให้สามารถแพร่กระจายไวรัสออกมาได้มากขึ้น โดยที่ผู้ติดเชื้อสายพันธุ์นี้จะไม่มีอาการรุนแรงเท่ากับสายพันธุ์ตั้งต้น

และล่าสุดประเทศไทยพบโควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษกลายพันธุ์ที่ทั่วโลกเฝ้าระวังจากชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศ และได้เข้าสู่ขั้นตอนการกักตัวและควบคุมเชื้ออย่างดีเพื่อไม่ให้กระจายสู่คนในประเทศ โดยโควิดสายพันธุ์ใหม่นี้ทำให้การแพร่ระบาดได้ง่ายกระจายอย่างรวดเร็วขึ้น และไม่เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพของวัคซีน ขอให้สบายใจได้”

แพทย์เตือนอย่าชะล่าใจ ไร้อาการ-ไม่ป้องกัน เสี่ยง ปอดอักเสบ ถึงชีวิต

แม้ว่าติดเชื้อโควิดจะไม่แสดงอาการรุนแรง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะหายได้เอง หากรักษาไม่ทันก็เสี่ยงต่อภาวะ ปอดอักเสบรุนแรง และทำให้เสียชีวิตได้ ศ.ดร.นพ. ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณะบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม. มหิดล ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการแพร่กระจายเชื้อโควิดในรายการโหนกระแส (ออกอากาศเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2564 ) ไว้ตอนหนึ่งว่า

 “พอไม่ค่อยมีอาการ คนก็เริ่มไม่กังวลกัน เราจะเห็นปรากฎการณ์ชัดเจนว่า คนอายุน้อยๆเป็นกันเยอะ อายุ 40 กว่าปีต้องใส่ท่อช่วยหายใจแล้วกู่ไม่กลับ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมารับการรักษาช้า คิดว่าคงไม่เป็นไร โดยธรรมชาติของโควิด-19ทันทีที่เริ่มติดเชื้อ ถ้าเริ่มมีอาการปอดอักเสบต้องรีบให้ยาทันที การให้ยาหลังจากอาการปอดอักเสบมากแล้วไม่ทัน เพราะไวรัสเยอะแล้ว มันทำลายเนื้อปอดไปแล้วจึงกู้กลับมาไม่ทัน

ผมขอฝากเลย โควิดรอบนี้ไม่ได้อันตรายเฉพาะคนสูงอายุ หรือคนที่มีโรคปอดอย่างเดียว รอบนี้หนุ่มสาว วัยทำงานก็เป็นหนักได้ อย่าชะล่าใจ หนทางดีที่สุดคือทุกคนต้องร่วมมือกันควบคุมไม่ได้ติดเชื้อ ที่สำคัญกว่านั้นคือ กลุ่มคนเหล่านี้เอาเชื้อไปแพร่คนรอบข้าง เพื่อนฝูง หรือครอบครัวที่อายุไม่เยอะ ซึ่งทำให้คนเหล่านี้อาจมีอาการหนักไม่ต่างกัน”

มารู้จักโรคปอดอักเสบ

ปอดอักเสบ เป็นหนึ่งในโรคระบบทางเดินหายใจที่พบในทุกวัย แตกต่างกันตามไปลักษณะของเชื้อโรค สามารถติดต่อกันได้โดยพบมากที่สุดคือ ปอดอักเสบจากการติดเชื้อ หรือปอดบวม เมื่อเชื้อโรคเข้าสู่ปอดแล้วทำให้เกิดการอักเสบของถุงลมและเนื้อเยื่อโดยรอบ

ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบมักมีอาการไอ จามเล็กน้อยนำมาก่อน หลังจากนั้นจะเริ่มหายใจลำบาก หายใจหอบและเร็วขึ้นจนรู้สึกเจ็บหน้าอก มีไข้ คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย สำหรับลูกน้อยหากเป็นปอดอักเสบส่วนใหญ่มักเกิดจากเชื้อ RSV หรือไข้หวัดใหญ่ ซึ่งทำให้อาการของโรคหนักขึ้น ดูดนมลำบาก กินน้อยลง อกบุ๋ม ซี่โครงบาน วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือการหลีกเลี่ยงแหล่งชุมชนในช่วงมีโรคระบาด กินอาหารครบห้าหมู่ และพักผ่อนให้เพียงพอ

ที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่ที่ยังต้องทำงาน หรือทำภารกิจนอกบ้านต้องไม่ลืม 4 กฎเหล็กห่างไกลโควิด-19 ทั้งใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง เลี่ยงพื้นที่เสี่ยงอย่างเคร่งครัด และหมั่นสังเกตอาการผิกปกติของตัวเอง เพราะถึงแม้จะไม่ใช่ผู้สูงอายุ หรือกลุ่มเสี่ยง แต่โควิดสายระลอกนี้ก็ร้ายกาจไม่เบาทีเดียว

แหล่งข้อมูล  news.thaipbs.or.th  www.hfocus.org  www.siphhospital.com รายการโหนกระแส

บทความน่าสนใจอื่นๆ 

คนท้องตรวจโควิดได้ไหม จำเป็นต้องตรวจไหม อาการแบบไหนไม่ควรปล่อยไว้

ป้องกันโควิด-19 ตอนไปตลาด สิ่งไหนเสี่ยง อะไรต้องระวัง

เด็กติดโควิด ระวังเชื้อจากพ่อแม่ แพร่ Covid-19 สู่ลูก

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up