เพราะเวลาทั้งหมดเพื่อลูก! ระวัง"แม่ฟลูไทม์" ซึมเศร้า - Amarin Baby & Kids

เพราะเวลาทั้งหมดเพื่อลูก! ระวัง”แม่ฟลูไทม์” ซึมเศร้า

Alternative Textaccount_circle
event

ซึมเศร้า โรคใกล้ตัวกว่าที่คิด เมื่อผลสำรวจพบ แม่ฟลูไทม์ มีภาวะซึมเศร้ามากกว่าแม่ที่ไปทำงานเสียอีก มาดูวิธีจัดการอารมณ์ให้เราเป็นแม่ที่แกร่งที่สุดในปฐพีกัน

เพราะเวลาทั้งหมดเพื่อลูก! ระวัง”แม่ฟลูไทม์” ซึมเศร้า

แม่ฟลูไทม์ (Full Time) อาชีพใหม่ที่ผู้หญิงหลาย ๆ คนเลือก เพื่อต้องการทุ่มเทชีวิต จิตใจ และเวลา ให้ลูกน้อยของเราให้ได้เติบโตขึ้นมาภายใต้การดูแลของผู้หญิงที่มีความหวังดีกับลูกมากที่สุด ผู้หญิงที่ถูกเรียกว่า “แม่”

อาชีพ แม่ฟลูไทม์ เป็นอาชีพที่ไม่มีให้เลือกอยู่ในช่องกรอกตำแหน่งใด ๆ แต่รู้หรือไม่ว่า กลับกลายเป็นอาชีพที่มีหน้าที่ตลอดแทบทั้งวัน ไม่มีวันหยุด ยิ่งกว่าร้านสะดวกซื้ออีกนะเออ แม้จะเป็นหน้าที่ที่ดูเหมือนหนักหนามากแค่ไหนก็ตามที แต่แม่ทุกคนก็ทำด้วยความเต็มใจ และยังมีผู้หญิงที่เป็นแม่อีกหลาย ๆ คนแอบอิจฉา กับการได้เป็นแม่ที่เลี้ยงดูลูกได้เต็มเวลา

เมื่อลูกเกิด แม่บางคนตัดสินใจทิ้งงาน มาเป็นแม่เต็มเวลา
เมื่อลูกเกิด แม่บางคนตัดสินใจทิ้งงาน มาเป็นแม่เต็มเวลา

ข้อดีของการเป็นแม่ (พ่อ) ฟลูไทม์

การที่เด็กได้รับการดูแลอย่างเต็มที่ไม่ว่าจะเป็นแม่หรือพ่อก็ตามนั้น ส่งผลดีต่อเด็กในทุกช่วงอายุทั้งในด้านของพฤติกรรม และพัฒนาการเรียนรู้ อีกทั้งยังส่งผลดีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโดยเฉพาะในระดับประถมศึกษา วัยที่เป็นการเรียนรู้พื้นฐานด้านวิชาการ และพัฒนาการหลากหลายด้าน ในแง่ของความประพฤติ ยังพบว่าเด็มีความเครียดน้อยกว่า และก้าวร้าวน้อยกว่าอีกด้วย

หากลองจำแนกข้อดีของการเลี้ยงลูกแบบเต็มเวลาแล้ว ได้ข้อดีดังต่อไปนี้ (ใครมีข้อดีเพิ่มเติมจากนี้สามารถบอกกล่าวต่อกันอีกได้นะ)

  1. ได้เห็นพัฒนาการทุกช่วงเวลาของลูก นอกจากเราจะได้เห็นการเจริญเติบโตของลูกทางด้านร่างกายแล้ว ยังได้เป็นผู้ร่วมก่อร่างสร้างพัฒนาการด้านจิตใจ อารมณ์ สติปัญญาให้แก่เขาในแนวทางที่เราเห็นว่าเหมาะกับลูกอีกด้วย ช่วงเวลาที่ได้เห็นลูกคลานครั้งแรก พูดได้คำแรก และอีกหลาย ๆ พัฒนาการนั้น ช่างเป็นช่วงเวลามีค่า ที่แม่จะจดจำไปไม่ลืมจริง ๆ
  2. ได้ดูแลโภชนาการของลูกด้วยตนเอง การได้ทำอาหารให้ลูกรับประทานนั้น นอกจากจะสามารถดูแลโภชนาการที่ดีให้กับลูกแล้ว คุณยังสามารถมีโอกาสได้สังเกตอีกด้วยว่าลูกแพ้อาหารชนิดใดบ้าง หรือไม่
  3. ปลอดภัย แน่ละว่า ไม่มีใครรัก และเลี้ยงลูกของเราได้ดีเท่าตัวแม่เอง การที่แม่สามารถเลี้ยงลูกได้เอง ไม่ได้ไปฝากให้ใครเลี้ยงให้ย่อมมีความปลอดภัย ทั้งต่อร่างกาย ไม่ต้องกลัวลูกถูกทำร้าย และต่อจิตใจของลูก

เห็นข้อดีกันไปมากมายแบบนี้แล้ว คุณแม่บ้านไหนที่ไม่สามารถเลี้ยงลูกได้เต็มเวลาก็อย่าเพิ่งอิจฉากันไปเลย เพราะในความโชคดีที่ได้เป็นแม่ฟลูไทม์นั้น ก็แฝงไปด้วยเรื่องเครียด และข้อเสียในแบบที่คุณแม่ที่ได้ไปทำงานไม่อาจรู้

แม่ฟลูไทม์ ได้เห็นทุกพัฒนาการของลูก
แม่ฟลูไทม์ ได้เห็นทุกพัฒนาการของลูก

แม่ฟลูไทม์ กับอาการ ซึมเศร้า !!

จากการสำรวจความคิดเห็นของบรรดาคุณแม่ในสหรัฐอเมริกา ที่มีอายุระหว่าง 18-64 ปี ทางโทรศัพท์ พบว่า คุณแม่ฟลูไทม์นั้น มีโอกาสเกิดอารมณ์ในเชิงลบได้มาก ซึ่งอาจเทียบเท่าหรือมากกว่าคุณแม่ที่ต้องทำงานประจำ

โดยจากผู้ร่วมตอบแบบสอบถามจำนวน 60,799 ราย พบว่า แม่ฟลูไทม์ และแม่ที่ทำงานนั้นมีปัญหาเรื่องดังต่อไปนี้ แตกต่างกัน

  • วิตกกังวล มี 41%ของแม่ฟลูไทม์ ระบุว่า ตนเองเป็นคนช่างวิตกกังวล และ 34%ของแม่ทำงานเท่านั้นที่รู้สึกถึงอาการนี้
  • ภาวะซึมเศร้า แม่ฟลูไทม์เคยเกิดภาวะซึมเศร้า 28% เทียบกับแม่ที่ทำงานที่มีเพียง 17%
  • ความรู้สึกในแง่บวกกับตนเอง พบในแม่ทำงานถึง 91% ส่วนแม่ฟลูไทม์มีเพียง 86%

นอกจากอารมณ์ซึมเศร้า และความวิตกกังวลแล้ว ความเครียด และอารมณ์โกรธก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผลสำรวจชี้ว่าแม่ฟูลไทม์มีสูงกว่าแม่ทำงานด้วย

ดร.Robi Ludwig นักจิตวิทยาชื่อดังในนิวยอร์ก เผยว่า “การอยู่โดดเดี่ยว คือ สัญญาณอันตราย เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม การที่มนุษย์แยกตัวอยู่คนเดียว จะยิ่งเพิ่มความรู้สึกไม่ดีให้กับตัวเอง มองเห็นสิ่งต่างๆ รอบตัวไม่ถูกใจ หรืออาจกล่าวได้ว่า การอยู่อย่างโดดเดี่ยวนั้นจะทำให้ผู้คนมองโลกในแง่ลบ และอาจเกิดการทำร้ายตัวเองได้”

ดังนั้นการที่แม่ฟลูไทม์เกิดความรู้สึกในแง่ลบขึ้นได้โดยง่าย สาเหตุมาจากการต้องเลี้ยงดูลูกอยู่เพียงลำพัง ทำให้มีโอกาสพูดน้อยลง ได้พบปะสังสรรค์น้อยลง ภาระงานต่าง ๆ ในบ้านก็อยู่ในความดูแลเพียงคนเดียว เรียกได้ว่าต้องแบกภาระหน้าที่บนบ่าเพียงลำพัง ทั้งการเลี้ยงลูก การทำงานบ้าน การดูแลเรื่องอาหารให้กับคนในครอบครัว ซึ่งเป็นงานที่ไม่มีวันเสร็จเสียด้วย ทำให้แม่ฟลูไทม์นั้นไม่มีโอกาสที่จะได้รู้สึกถึงความสุข ความร่าเริง ในชีวิต

แม่ฟลูไทม์ มีภาวะ ซึมเศร้า สูงกว่าแม่ทำงาน
แม่ฟลูไทม์ มีภาวะ ซึมเศร้า สูงกว่าแม่ทำงาน

ซึมเศร้า เรื่องใหญ่ อย่า! ละเลย

โรคซึมเศร้าเกิดจากความผิดปกติของสมองในส่วนที่มีผลกระทบต่อความคิด อารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรม รวมถึงสุขภาพทางกาย แต่ที่คนส่วนใหญ่รู้เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าก็มักจะนึกถึงเพียงอาการหรือสภาพจิตใจที่เปลี่ยนไป จึงคิดว่าโรคซึมเศร้าเกิดจากความผิดหวัง หรือการได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจ และจะสามารถรักษาหรือแก้ไขได้ด้วยการให้กำลังใจ ซึ่งในความจริงแล้ว โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่เกิดจากความไม่สมดุลของสารสื่อประสาท 3 ชนิด คือ ซีโรโตนิน นอร์เอปิเนฟริน และโดปามีน จึงจำเป็นที่ต้องได้รับการรักษาจากจิตแพทย์ เพราะนอกจากจะต้องบำบัดอย่างถูกวิธีแล้ว ยังอาจจะต้องใช้ยาในการรักษาร่วมด้วย

ซึมเศร้า ไม่ใช่ก็แค่…เศร้า!

ปัจจุบันโลกของเรามีประชากรราว 7.6 พันล้านคน และมีคนเป็นโรคซึมเศร้าถึง 300 ล้านคน หรือเกือบ 4% เลยทีเดียว ส่วนในคนไทยเองนั้นพบว่ามีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าถึง 1.5 ล้านคน หรือ 2.2% ของคนไทยทั้งหมด 69 ล้านคน และน่าตกใจว่าคนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จถึง 4,000 คนต่อปี ซึ่งสาเหตุสำคัญของการฆ่าตัวตายก็คือโรคซึมเศร้านั่นเอง

ปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าประกอบไปด้วยพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม และการใช้ชีวิต

  • หากมีฝาแฝดคนหนึ่งเป็นโรคซึมเศร้า หรือ bipolar ฝาแฝดอีกคนมีโอกาสเป็นสูงถึง 60-80%
  • หากคนในครอบครัวที่เป็นญาติสายตรง (พ่อ แม่ พี่ น้อง) ที่เป็นโรคซึมเศร้า ก็จะมีโอกาสเป็นมากกว่าคนทั่วไป 20%
  • อาจสรุปได้ว่าระหว่างพันธุกรรมกับสิ่งแวดล้อม ปัจจัยที่ส่งผลให้เป็นโรคซึมเศร้านั้นเป็นสัดส่วนอยู่ที่ 40:60%
  • การใช้ยาบางอย่างก็ส่งผลให้เกิดอาการซึมเศร้าได้ เช่น ยานอนหลับบางตัว ยารักษาสิว ยาแก้อักเสบ ยาแก้ปวด สารเสพติดหรือแอลกอฮอล์

9 ข้อสำรวจเข้าข่ายโรคซึมเศร้า
การสังเกตตัวเองหรือคนรอบข้างว่าเข้าข่ายโรคซึมเศร้าหรือไม่ สามารถตรวจจากข้อสำรวจง่ายๆ 9 ข้อนี้ ซึ่งข้อสำรวจนี้ก็ คือ เกณฑ์ที่แพทย์ใช้ในการวินิจฉัยโรคซึมเศร้า หากมีอาการ 5 ข้อขึ้นไป โดยต้องมีข้อ 1.) และ/หรือข้อ 2.) อยู่ด้วย หากอาการ 5 ใน 9 ข้อดังกล่าวเป็นยาวนานติดต่อกันเกินกว่า 2 สัปดาห์ ก็เข้าข่ายเสี่ยง ควรปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อวิเคราะห์และหาแนวทางแก้ไขหรือรักษาต่อไป

งานบ้าน ไม่ใช่เรื่องของแม่บ้านคนเดียว
งานบ้าน ไม่ใช่เรื่องของแม่บ้านคนเดียว
  1. รู้สึกเศร้า เบื่อ ท้อแท้ หรือหงุดหงิดง่ายอย่างต่อเนื่อง
  2. เลิกสนใจสิ่งที่เคยชอบมากๆ หรือไม่อยากทำสิ่งที่เคยชอบทำ
  3. พฤติกรรมการกินเปลี่ยนไป กินมากไป กินน้อยไป จนทำให้น้ำหนักขึ้นหรือลงผิดปกติ
  4. จากที่เคยหลับง่ายก็หลับยากขึ้น หรือไม่ก็นอนมากเกินไป
  5. มีอาการกระวนกระวายหรือเฉื่อยชาที่แสดงออกให้เห็นชัด
  6. รู้สึกหมดเรี่ยวแรง ไม่มีพลัง ไม่อยากลุกขึ้นมาทำอะไรเลย
  7. รู้สึกไร้ค่าหรือรู้สึกผิด โทษตัวเองในทุกๆ เรื่อง
  8. ไม่มีสมาธิในการทำสิ่งต่างๆ มีปัญหาเรื่องการคิดหรือตัดสินใจ
  9. คิดถึงความตายหรืออยากตาย หรืออยากฆ่าตัวตายบ่อย ๆ

ดูแลตัวเองไม่ให้เป็นโรคซึมเศร้า

  1. หมั่นดูแลตนเองให้มีสุขภาพดี ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ กินอาหารถูกสุขลักษณะ ไม่ใช้สารเสพติด ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ และเข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละครั้ง
  2. ในด้านจิตใจ ฝึกให้เป็นคนคิดบวก มองโลกในแง่ดี ไม่คิดร้ายกับใคร ไม่กล่าวโทษตัวเองไปซะทุกเรื่อง ควรหางานอดิเรก คลายเครียด เข้าชมรมต่างๆ ที่เหมาะกับวัย หรือเป็นจิตอาสา ทําสิ่งที่ทำให้รู้สึกตัวเองมั่นใจ มีคุณค่า รู้ว่าใครรักและเป็นห่วงก็ให้อยู่ใกล้คนๆ นั้น และให้อยู่ห่างจากคนที่ไม่ถูกใจ
  3. ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต ควรหาเวลาออกไปทำกิจกรรมที่สนุกสนาน ไม่เคร่งเครียดหรือทำงานหนักเกินไป ไม่ไปอยู่ในสถานการณ์หรือดูข่าวร้ายที่ทำให้จิตใจหดหู่ หากมีการใช้ยาเพื่อรักษาโรคใดๆ อยู่ไม่ควรหยุดยาเอง โดยเฉพาะถ้ารักษาโรคด้านจิตเวชอยู่ควรกินยาตามแพทย์สั่ง อย่าได้ขาดหรือหยุดยาเอง
ที่มาจาก www.phyathai.com

มีเวลาส่วนตัวบ้าง ช่วยแม่ฟลูไทม์ห่างไกลโรคซึมเศร้า

จริงอยู่ว่าสำหรับแม่แล้ว ลูกคือหัวใจสำคัญ ลูกย่อมมาก่อนเสมอ แต่การมีเวลาส่วนตัวให้ได้พักผ่อนหย่อนใจ วางภาระลงจากบ่าบ้างบางครั้ง ก็มีความสำคัญต่อจิตใจ ช่วยเพิ่มความสุข ส่งผลต่ออารมณ์ที่ดี ผ่อนคลาย และยังเป็นการชาร์จพลังให้เราเพิ่ม เพื่อไว้สู้ต่อได้เป็นอย่างดี

คุณแม่ลองมาสำรวจตัวเองว่าไม่ได้ออกไปช้อปปิ้งคนเดียวมานานแค่ไหนกัน??? เรามาทวงคืนเวลาส่วนตัวของแม่ฟลูไทม์กันดูดีไหม

แบ่งปันให้พ่อช่วยเลี้ยงลูก ลดภาวะ ซึมเศร้า ของแม่ฟลูไทม์
แบ่งปันให้พ่อช่วยเลี้ยงลูก ลดภาวะ ซึมเศร้า ของแม่ฟลูไทม์

สูตรไม่ลับ เพื่อให้แม่มีเวลาส่วนตัว

  • ลดความคิดที่ว่า Oneman show งานบ้านไม่จำเป็นต้องเป็นงานแม่ฟลูไทม์เท่านั้น ลองพูดคุยกับคนในบ้าน ให้ช่วยแบ่งหน้าที่งานบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้ไป คุณแม่สามารถแบ่งภาระงานบ้านให้ลูกช่วยทำตามวัยที่เหมาะสมได้อีกด้วย เพื่อเป็นการฝึกความรับผิดชอบให้กับลูก และคุณแม่จะได้สามารถจัดสรรเวลาสำหรับตัวเอง
  • เวลาส่วนตัวของแม่ไม่ใช่ความผิด หรือบกพร่อง แม่หลาย ๆ คนมักคิดว่า งานบ้านเป็นงานที่ไม่ได้รับความสำคัญ เป็นงานสบายอยู่บ้านทั้งวัน จึงไม่มีสิทธิ์ที่จะได้รับวันหยุด โดยเฉพาะสังคมชาวเอเซีย เช่น ญี่ปุ่นที่มักให้ความสำคัญกับงานนอกบ้านที่สามารถทำเงินได้ของผู้ชาย แต่ละเลยความสำคัญของงานบ้าน จึงเป็นธรรมเนียมปฎิบัติที่พ่อบ้านญี่ปุ่นมักไม่เคยช่วยงานบ้าน หรือช่วยแบ่งเบาภาระการเลี้ยงลูก ทำให้แม่บ้านญี่ปุ่นเกิดความเครียดสูง เป็นต้น ดังนั้นเรามาทำความเข้าใจ ปรับธรรมเนียมปฎิบัติ กฎของครอบครัวกันเสียใหม่ ให้ทุกคนมีเวลาส่วนตัว ไม่ว่าจะมีหน้าที่ทำงานนอกบ้านหรือในบ้านก็ตาม
  • ตื่นก่อนลูก นอนหลังลูก ช่วงเวลาทองของแม่ฟลูไทม์ นั่นคือ ช่วงเวลาที่ลูกหลับนั่นเอง คุณแม่ลองตื่นก่อน หรือนอนหลังลูกวันละครึ่งชั่วโมงดูดีไหม แล้วจะพบว่าเวลาเพียงเล็กน้อยนี้ ที่เราสามารถนำมาใช้ทำกิจกรรมส่วนตัวนั้น ช่างมีค่า ช่วยฟื้นฟูจิตใจได้ดีไม่น้อย
ข้อมูลอ้างอิงจาก www.the1.co.th/thematter.co / daylimail

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

ฝีดาษลิงติดยังไง คำถามควรรู้เมื่อพบผู้ป่วยรายแรกในไทย!

เช็คด่วน!! 12 พฤติกรรมเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้า

จิตแพทย์เตือน! ลูก ชอบดึงผม อาจมีผลกระทบมาจากจิตใจ

ซึมเศร้าในเด็ก ภัยเงียบจากโควิดที่พ่อแม่ควรระวัง

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up