เตือนคุณแม่ๆ และคุณผู้หญิงทุกคน หากรู้สึกว่าตัวเองมีหน้าท้องยื่นออกมา อย่าชะล่าใจคิดว่าตัวเองอ้วน หรือกำลังตั้งท้องเพราะแท้จริงคุณอาจกำลังป่วยเป็นโรค ถุงน้ำรังไข่ หรือ เดอร์มอยด์ซีสต์ อีกหนึ่งโรคใกล้ตัวที่ผู้หญิงต้องระวัง
เตือนผู้หญิงทุกคน! มีหน้าท้องยื่นออกมา
เสี่ยงเป็น ถุงน้ำรังไข่ หรือ เดอร์มอยด์ซีสต์
เชื่อว่า คุณผู้หญิงแทบทุกคน น่าจะเคยได้ยินชื่อโรคซีสต์ หรือ ถุงน้ำรังไข่ แต่หลายคนอาจไม่คุ้นเคยกับ โรคถุงน้ำเดอร์มอยด์ (Dermoid Cyst) ที่เกิดจากเซลล์ที่มีความสามารถพัฒนาไปเป็นเซลล์ชนิดต่าง ๆ มาอยู่ที่บริเวณรังไข่ตั้งแต่แรกเกิด แล้วมีการพัฒนาหรือถูกกระตุ้นด้วยปัจจัยบางอย่างให้เจริญไปเป็นเซลล์ไขมัน เส้นผม กระดูกอ่อน หรือฟัน จนเกิดเป็นถุงน้ำที่รังไข่เรียกว่า เดอร์มอยด์ซีสต์
ซึ่งลักษณะอาการที่ปรากฏมักทำให้คิดว่าโดนของหรือคุณไสยฯ ทั้งที่ความจริงคือ โรคถุงน้ำรังไข่ ที่พบได้บ่อย ๆ ในคุณผู้หญิง ที่น่าสนใจคือ มักจะไม่มีอาการใด ๆ เลย และพบได้แม้อายุยังน้อย ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์
ซึ่งสำหรับโรค ถุงน้ำรังไข่ หรือ เดอร์มอยด์ซีสต์ ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่ได้ถูกแชร์ต่อในโลกออนไลน์เป็นอย่างมาก หลังเพจเฟซบุ๊ก อรัณ ไตรตานนท์ โต๊ะทำงาน หรือ พ.ต.ต.อรัณ ไตรตานนท์ นายแพทย์ สบ 2 กลุ่มงานสูตินรีเวชกรรม โรงพยาบาลตำรวจ ได้ออกมาโพสต์เตือน เนื่องจากมีคนไข้รายหนึ่งเป็นเนื้องอกบริเวณหน้าท้อง โดยระบุว่า…
วันนี้มีเรื่องราวของ ถุงน้ำรังไข่ ชนิดที่เรียกว่า Dermoid cyst มาเล่าให้ฟังครับ , ผู้ป่วยรายนี้เป็นสุภาพสตรีอายุ 38 ปี สุขภาพดีแข็งแรง ไม่มีอาการผิดปกติใดๆ เรื่องราวเริ่มมาจากมีหน้าท้องยื่นซึ่งตอนแรกเข้าใจว่าตัวเองอ้วน จึงมีหน้าท้องยื่นออกมา (ผู้อ่านลองคลำหน้าท้องตัวเองดูไหมครับ?)
ต่อมา..ได้ไปนวดแผนไทย พนักงานนวดทักว่ามีเนื้องอกหรือเปล่า เหมือนก้อนจะกลิ้งไปมาได้นะ! ผู้ป่วยจึงเข้าพบแพทย์ ได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยการทำ Ultrasound พบว่า มีถุงน้ำในท้องน้อย
แพทย์จึงส่งตรวจ เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์เพิ่มเติม สรุปว่า… มีถุงน้ำรังไข่ ขนาด 16 ซม. ในท้องน้อย จากภาพทางรังสีจะเห็นว่า ถุงน้ำมีลักษณะผิวเรียบ เป็นวงรีคล้ายไข่ไก่ ภายในมีของเหลวแยกเป็น 2 ชั้นชัดเจน
เมื่อทำการผ่าตัดพบว่า…
ภายในถุงน้ำนี้ประกอบด้วย ไขมัน ผิวหนัง เส้นผม กระดูก ฟัน อยู่ภายในก้อนครับ น้ำหนักรวมประมาณ 1.2 กิโลกรัม ในผู้ป่วยรายนี้ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น Dermoid cyst เรียกอีกอย่างว่า “Mature cystic teratoma”
Dermoid cyst เดอมอยซีสอันตรายไหม ?
สำหรับโรค Dermoid cyst คุณหมอบอกว่า พบได้ในทุกช่วงอายุ
- แต่พบบ่อยในวัยเจริญพันธุ์ อายุเฉลี่ยที่พบคือประมาณ 30 ปี
- ส่วนใหญ่จะพบเป็นข้างเดียว
- และจากสถิติทั่วไปพบเป็นสองข้างร้อยละ15, ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการ แต่อาจมาด้วยอาการปวดท้อง หรือก้อนในช่องท้อง
เนื้องอกชนิดนี้มีโอกาสเกิดการบิดขั้ว (torsion) ได้บ่อย เนื่องจากขั้วของ ถุงน้ำรังไข่ ชนิดนี้มักจะค่อนข้างยาว และถ้าเป็นที่รังไข่ข้างขวาจะมีโอกาสบิดมากกว่าข้างซ้าย อาจารย์แพทย์บางท่านเชื่อว่าถุงน้ำรังไข่ข้างซ้าย มีลำไส้ใหญ่ส่วนที่เรียกว่า sigmoid ขวางและป้องกันการบิดขั้ว
ทำไมต้อง ผ่าตัด dermoid cyst
เดอร์มอยด์ซีสต์ สามารถพบขนาดได้หลายขนาดตั้งแต่ 1-30 ซม. ผนังด้านในของถุงน้ำมักมีส่วนนูน ค่อนข้างแข็ง เรียกว่า Rokitansky protuberance , ภายในก้อนประกอบด้วยส่วนที่เป็นผิวหนัง กระดูก กระดูกอ่อน เส้นผม เนื้อเยื่อประสาท สารไขมัน และฟัน เป็นต้น
ซึ่งส่วนใหญ่ถุงน้ำชนิดนี้จะมีความหนาจึงไม่ค่อยแตก ผิวเรียบตึง เคลื่อนไหวได้ บางทีก้อนอาจจะเคลื่อนที่มาอยู่หน้าต่อมดลูก เรียกว่า Kustner’s sign. , หากเกิดการแตกของถุงน้ำ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องมากจากภาวะ Peritonitis
การรักษาที่เหมาะสม คือ การผ่าตัด ซึ่งในปัจจุบันมีทั้งการผ่าตัดผ่านกล้อง และการผ่าตัดวิธีมาตรฐาน ผู้ป่วยสามารถขอคำแนะนำได้จากสูตินรีแพทย์ผู้ดูแล
สูตินรีแพทย์ มักจะทำการผ่าตัดเลาะถุงน้ำออกจากรังไข่ที่ปกติ (cystectomy) เพื่อเก็บเนื้อรังไข่ที่ดีเอาไว้ ในขณะผ่าตัดแพทย์ทุกท่านมักจะระวังไม่ให้ถุงน้ำเกิดการรั่วหรือแตก และจะตรวจดูรังไข่ด้านตรงข้ามว่ามีความผิดปกติหรือไม่
ถุงน้ำรังไข่ หรือ เดอร์มอยด์ซีสต์ กลายเป็นมะเร็งได้หรือไม่?
ผู้ป่วยที่เป็น Dermoid cyst แทบทุกคนกังวลว่าจะมีโอกาสเป็นมะเร็งหรือไม่ ซึ่งจากสถิติที่มีการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยทั่วไปพบว่า Dermoid cyst พบการเปลี่ยนแปลงเป็นมะเร็ง (malignant transformation) ร้อยละ1 เท่านั้นนะครับ และมักจะเป็นชนิดที่เรียกว่า squamous cell carcinoma arising in Dermoid cyst
ทั้งนี้คุณหมอยังบอกอีกว่า : โดยความเห็นส่วนตัว จะแนะนำให้สุขภาพสตรีตรวจสุขภาพ รวมถึงพบสูตินรีแพทย์ใกล้บ้าน เพื่อตรวจภายใน หากพบความผิดปกติ แพทย์มักจะแนะนำให้ตรวจเพิ่มเติมต่อไป เพื่อนำไปสู่การวางแผนดูแลรักษาที่เหมาะสมต่อไป
ขอบพระคุณที่ติดตาม เพจ : อรัณ ไตรตานนท์ โต๊ะทำงาน
เนื้อหาบางส่วนดัดแปลงมาจากหนังสือชื่อ : เนื้องอกทางนรีเวชในเด็กและวัยรุ่น โดยอาจารย์จิตติหาญประเสริฐพงษ์
ขอบคุณเรื่องราวและภาพจาก Facebook : อรัณ ไตรตานนท์ โต๊ะทำงาน
แต่อย่างไรก็ดี ถุงน้ำรังไข่เดอร์มอยด์ ไม่สามารถป้องกันการเกิดได้ และเมื่อเป็นแล้วไม่ควรออกกำลังกายหักโหมมาก เนื่องจากอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น การบิดขั้วของถุงน้ำรังไข่ แต่ภายหลังการรักษาด้วยการผ่าตัดแล้ว การดูแลตนเอง คือ ปฏิบัติตามแพทย์พยาบาลแนะนำ ซึ่งโดยทั่วไปคือการดูแลตนเองตามปกติก็ไม่มีข้อจำกัดเป็นกรณีเฉพาะ
ทั้งนี้หากพบ ถุงน้ำรังไข่เดอร์มอยด์ ก่อนตั้งครรภ์ ควรผ่าตัดรักษาก่อน แต่หากตั้งครรภ์ไปแล้วจึงทราบว่ามีถุงน้ำรังไข่ เดอร์มอยด์แพทย์จะให้ตั้งครรภ์ต่อไปและจะพิจารณาผ่าตัดเลาะถุงน้ำตอนอายุครรภ์ประมาณ 14 – 16 สัปดาห์ ซึ่งจะไม่มีผลต่อการพัฒนาการทางด้านสมองหรือด้านร่างกายของทารก แต่หากเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น มีการบิดขั้วหรือแตกของถุงน้ำแล้วมีอาการปวดท้องเฉียบพลัน แพทย์จำเป็นต้องผ่าตัดรักษาด่วน
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก :
- ช็อกโกแลตซีสต์ โรคภายในผู้หญิง ที่ต้องระวัง!
- ปวดท้องน้อย อาการพื้นฐานที่ไม่ใช่เรื่องธรรมดา
- หยุดพฤติกรรมเสี่ยง ทำลายรังไข่ และมดลูก
- เป็นเนื้องอกมดลูก มีลูกได้ไหม?
ขอบคุณข้อมูลจาก : healthunlocked.com , getyourimage.club , haamor.com
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่