ไม่ใช่คุณไสยฯ!ก้อนเส้นผมในรังไข่เป็น โรคเดอร์มอยด์ซีสต์
คุณแม่ ๆ แทบทุกคนน่าจะเคยได้ยินถึง โรคซีสต์ หรือ ถุงน้ำที่รังไข่ แต่หลายคนอาจไม่คุ้นเคยกับ โรคเดอร์มอยด์ซีสต์ (Dermoid Cyst) ที่เกิดจากเซลล์ที่มีความสามารถพัฒนาไปเป็นเซลล์ชนิดต่าง ๆ มาอยู่ที่บริเวณรังไข่ตั้งแต่แรกเกิด แล้วพัฒนา หรือถูกกระตุ้นด้วยปัจจัยบางอย่าง ให้เจริญไปเป็นเซลล์ไขมัน เส้นผม กระดูกอ่อน หรือฟัน จนเกิดเป็นถุงน้ำที่รังไข่ ที่เหมือนจะเป็นคุณไสยฯ แต่ไม่ใช่นะคะ โรคนี้เป็นอย่างไร คุณแม่ต้องระวังแค่ไหน มาติดตามกันค่ะ
ชนิดของซีสต์รังไข่
ซีสต์รังไข่มีหลายชนิดและพบบ่อยในช่วงวัยตั้งแต่ 15 – 49 ปี ที่ควรรู้จักไว้มี 5 ชนิด คือ
- ซีสต์ที่เกิดขึ้นในระหว่างการตกไข่ (Functional Cyst) พบได้บ่อยที่สุดในผู้หญิง
- ภาวะที่รังไข่มีถุงน้ำจำนวนมาก (Polycystic Ovaries) เกิดจากการที่ถุงไข่ (Follicle) ที่มีหน้าที่สร้างไข่ เปิดออกไม่ได้จนทำให้ซีสต์ก่อตัวขึ้น
- โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) หากเป็นโรคนี้เนื้อเยื่อจากเยื่อบุโพรงมดลูกจะไปเจริญขึ้นในบริเวณอื่นของร่างกายรวมถึงรังไข่ ทำให้ปวดรุนแรงและส่งผลต่อการมีบุตร
- ซีสต์ที่เซลล์บนพื้นผิวรังไข่ (Cystadenomas) ซีสต์ชนิดนี้ส่วนมากจะมีของเหลวอยู่ด้านใน
- ซีสต์ที่ภายในมีเนื้อเยื่อลักษณะเหมือนกับเนื้อเยื่อส่วนอื่นๆ ของร่างกาย (Dermoid Cysts) เช่น เนื้อเยื่อผิวหนัง ผม ฟัน
อาการของ โรคเดอร์มอยด์ซีสต์
- อาการปวดหน่วงๆ ในท้องน้อย หรือ อุ้งเชิงกราน
- คลำพบก้อนได้ในท้องน้อย
- ปวดท้องเฉียบพลัน ที่เกิดจากการมีภาวะแทรกซ้อน บิดขั้ว , แตก หรือเกิดการติดเชื้อ
- มักไม่มีอาการใด ๆ ไม่มีประจำเดือนผิดปกติ แต่สามารถตรวจพบได้ โดยการตรวจสุขภาพประจำปี
ด้วยการตรวจอัลตราซาวด์
ขอบคุณภาพจาก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
ภาวะแทรกซ้อน
ภาวะแทรกซ้อนของโรคถุงน้ำเดอร์มอยด์ ได้แก่
- บิดขั้ว (Torsion) เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้มากที่สุด ในโรคถุงน้ำเดอร์มอยด์ (Dermoid Cyst) คนไข้จะมีอาการปวดบริเวณท้องน้อยด้านซ้าย หรือขวา กดเจ็บบริเวณท้องน้อย คลื่นไส้ อาเจียน หรืออาจมีไข้ต่ำ ๆ ได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดฉุกเฉิน จะทำให้รังไข่ข้างนั้น ๆ ขาดเลือดไปเลี้ยงเป็นเวลานาน ส่งผลให้รังไข่เน่า ทำให้จำเป็นต้องตัดรังไข่ข้างนั้นทิ้งในที่สุด
- แตกหรือรั่ว (Rupture or Leakage) เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้กับโรคถุงน้ำรังไข่ทุกชนิด รวมทั้งโรคถุงน้ำเดอร์มอยด์ คนไข้จะมีอาการปวดท้องน้อยฉับพลัน และปวดตลอดเวลา ซึ่งถ้ามีเลือดออกในช่องท้องจำนวนมาก จะทำให้เกิดภาวะช็อกได้
- ติดเชื้อ (Infection) เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้ไม่บ่อยนัก แต่ก็ทำให้เกิดอาการรุนแรงได้ คนไข้จะมีอาการไข้สูง ร่วมกับการปวดท้องน้อยที่รุนแรง
- มะเร็ง (Cancer) ถุงน้ำรังไข่ชนิดนี้แม้ส่วนใหญ่จะไม่ใช่มะเร็ง แต่ก็มีโอกาสเป็นมะเร็งได้ประมาณ 1% โดยไม่จำเป็นต้องพบในคนอายุมากเท่านั้น เป็นมะเร็งที่พบในคนอายุน้อยได้ ซึ่งวิธีการตรวจให้ทราบได้นั้น คือการผ่าตัดเท่านั้น การอัลตราซาวนด์บอกได้เพียงว่ามีถุงน้ำที่รังไข่ แต่ไม่สามารถบอกได้ว่ามีเซลล์มะเร็งหรือไม่
วิธีการรักษา
โรคถุงน้ำเดอร์มอยด์ เป็นโรคที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเท่านั้น ไม่สามารถทำให้เล็กลงด้วยยา หรือฮอร์โมน ซึ่งต่างจากช็อกโกแลตซีสต์
- ผ่าตัดเลาะเฉพาะถุงน้ำ (Ovarian Cystectomy) โดยจะทำในกรณีที่ยังไม่มีรังไข่เน่า จากภาวะแทรกซ้อนจากรังไข่บิดขั้ว และถุงน้ำมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก ดังนั้นการตรวจพบถุงน้ำรังไข่ก่อนที่จะมีขนาดใหญ่จนเกิดภาวะแทรกซ้อน จึงเป็นการดีที่สุด เพราะการผ่าตัดในขณะที่ขนาดถุงน้ำรังไข่มีขนาดเล็กนั้นทำได้ง่ายกว่า และสูญเสียเนื้อรังไข่น้อยกว่า ส่งผลดีในกรณีที่คนไข้อายุยังน้อย และมีความต้องการมีบุตรในอนาคต
- ผ่าตัดรังไข่ข้างนั้น ๆ (Unilateral Oophorectomy) จะทำในกรณีที่มีภาวะรังไข่เน่า จากการที่รังไข่บิดขั้ว ทำให้รังไข่ขาดเลือดไปเลี้ยงเป็นเวลานานจนรังไข่เน่า กรณีที่ถุงน้ำมีขนาดใหญ่มาก ๆ ไม่มีเนื้อรังไข่ส่วนที่ดีเหลืออยู่ และรังไข่อีกข้างดูปกติดี เพราะการเหลือรังไข่ 1 ข้าง เพียงพอสำหรับการผลิตฮอร์โมนเพศหญิงได้ หรือกรณีที่อายุมาก ๆ สงสัยว่าอาจมีเซลล์มะเร็ง
การผ่าตัดถุงน้ำเดอร์มอยด์แบบไม่เปิดหน้าท้อง Advanced Minimal Invasive Surgery (MIS)
การผ่าตัดถุงน้ำเดอร์มอยด์ (Dermoid Cyst) นั้น สามารถทำได้ทั้งแบบเปิดหน้าท้อง และแบบไม่เปิดหน้าท้อง ซึ่งการผ่าตัดแบบไม่เปิดหน้าท้อง สามารถทำได้โดยการผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก โดยแพทย์เฉพาะทางด้านการผ่าตัดผ่านกล้อง ประกอบกับเครื่องมือที่ทันสมัยได้มาตรฐาน ช่วยให้การผ่าตัดง่ายขึ้น แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กเพียง 5 – 10 มิลลิเมตร เจ็บน้อย ฟื้นตัวได้เร็ว ลดการเกิดพังผืดในช่องท้อง ภาวะแทรกซ้อนต่ำ ลดการอักเสบติดเชื้อของแผลได้เป็นอย่างดี
ขอบคุณข้อมูลจาก
PPTV HD, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, โรงพยาบาลกรุงเทพ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
วิธีสังเกตอาการ ซีสต์ในรังไข่ รู้ไว้..รักษาได้ทัน ไม่อันตราย!
เปิดบันทึก “แม่” มดลูกพิการ แต่สร้างปาฏิหาริย์ด้วย “เด็กหลอดแก้ว”