มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งอันดับ 3 ที่พบบ่อยในผู้หญิงไทย!!
อาการของมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
อาการที่พบได้บ่อยที่สุดในมะเร็งชนิดนี้คือ การมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด โดยเฉพาะในผู้หญิงที่หมดประจำเดือนไปแล้วแต่ยังมีเลือดออกมาเป็นครั้งคราว หรือผู้หญิงที่ยังไม่หมดประจำเดือนที่มีเลือดออกผิดปกติในระหว่างรอบประจำเดือน อาการเหล่านี้เองเป็นสิ่งผิดปกติที่มักนำผู้ป่วยมาพบแพทย์
อาการอื่นที่อาจพบร่วมได้ เช่น ปวดท้องน้อย คลำพบก้อนบริเวณท้องน้อย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อยเพลีย ปวดหลังหรือปวดขา เป็นต้น
การแบ่งระยะมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
แพทย์สามารถบอกระยะของมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้จากการตรวจร่างกายและตรวจภายในโดยละเอียด รวมไปถึงการผ่าตัดเบื้องต้นเพื่อวิเคราะห์ระยะที่ถูกต้อง โดยภาพรวมระยะของมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกสามารถแบ่งได้ดังนี้
- ระยะที่ 1 มะเร็งอยู่ภายในมดลูกเท่านั้น
- ระยะที่ 2 มะเร็งลุกลามไปยังปากมดลูก
- ในระยะที่ 3 มะเร็งลุกลามไปยังผิวชั้นนอกมดลูก ปีกมดลูก ช่องคลอด ต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกรานและช่องท้อง
- ในระยะที่ 4 มะเร็งลุกลามกระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ หรือแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น
การรักษามะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
วิธีการรักษามะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกประกอบด้วย การผ่าตัด รังสีรักษาและเคมีบำบัด โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. การผ่าตัด เป็นการรักษาเบื้องต้นและผลการผ่าตัดสามารถบอกระยะของโรคได้อย่างถูกต้อง โดยแพทย์จะทำการผ่าตัดมดลูกและปีกมดลูกทั้ง 2 ข้างเพื่อพิจารณาโอกาสที่มะเร็งจะมีการแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลือง หลังจากนั้นจะเลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณอุ้งเชิงกรานและในช่องท้องสำหรับผู้ป่วยบางรายที่มีความเสี่ยงดังกล่าว เมื่อทราบผลการตรวจแล้วแพทย์จะสามารถบอกระยะของโรคที่ถูกต้องรวมถึงวางแผนการรักษาต่อไปได้
2. รังสีรักษา ซึ่งประกอบด้วยการฉายรังสีและการฝังแร่ ถูกใช้เป็นการรักษาเสริมหลังจากผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดเพื่อลดโอกาสกลับมาเป็นซ้ำในผู้ป่วยบางรายที่มีความเสี่ยง การรักษาโดยวิธีนี้ใช้เวลาประมาณ 1 ถึง 2 เดือน และอาจมีผลข้างเคียงที่แตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย
3. เคมีบำบัด แพทย์จะพิจารณาให้เคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกที่มีการแพร่กระจายหรือมีความเสี่ยงต่อการกลับเป็นซ้ำสูงเช่น ผู้ป่วยระยะที่ 4 หรือระยะที่ 3 บางราย การรักษาวิธีนี้ใช้เวลาประมาณ 3 ถึง 6 เดือน ผู้ป่วยบางรายอาจได้รับเคมีบำบัดควบคู่ไปกับรังสีรักษา ผลข้างเคียงทั่วไปจากการได้รับเคมีบำบัดเช่น คลื่นไส้หรืออาเจียน มือเท้าชาและผมร่วง จะได้รับการการดูแลจากแพทย์ผู้รักษา ทำให้ผู้ป่วยสามารถรับการรักษาต่อเนื่องไปได้เป็นอย่างดี
การป้องกันมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
ยังไม่มีวิธีการป้องกันการเกิดมะเร็งชนิดนี้ได้อย่างสมบูรณ์ อ
ย่างไรก็ตามผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงสามารถดูแลรักษาตนเองเพื่อลดโอกาสเกิดมะเร็งชนิดนี้ได้ วันนี้เราขออนุญาตหยิบยกความรู้ดี ๆ จาก “หมอออ” พญ.กรพินธุ์ รัตนสัจธรรม จบการศึกษาจากแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2546 (เกียรตินิยม) ปัจจุบันเป็นสูติแพทย์ เฉพาะทางมะเร็งนรีเวชและผ่าตัดส่องกล้อง ที่รพ. สมิติเวชชลบุรี คุณหมอได้กรุณาให้ความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งโพรงมดลูก ในเรื่อง “ไม่อยากเป็นมะเร็งโพรงมดลูกให้ทำ 3 สิ่งนี้!!” ทางเพจของคุณหมอ Doctor ออ ,Woman expert จึงขอสรุปไว้คร่าว ๆ ดังนี้
ข้อที่ 1 ลดน้ำหนัก
มะเร็ง เยื่อบุโพรงมดลูก แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ตามสาเหตุคือ มะเร็งที่สัมพันธ์กับการกระตุ้นของฮอร์โมนเอสโตรเจนและมะเร็งที่ไม่สัมพันธ์กับฮอร์โมน การได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนเป็นระยะเวลา นาน ๆ โดยไม่ได้ให้ฮอร์โมนโปรเจสติน จะกระตุ้นเยื่อบุโพรงมดลูกให้หนาตัวผิดปกติจนกลายเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้
รู้หรือไม่?? ไขมันในร่างกาย สามารถเปลี่ยนเป็นฮอร์โมนเอสโตรเจนได้ ดังนั้น การที่คุณมีน้ำหนักเกิน อ้วน หรืออวบ ร่างกายจะมีไขมันมากเกินปกติ ทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งโพรงมดลูกได้ การควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน การออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะช่วยลดความเสี่ยงนี้ได้
ข้อควรระวัง ยาบำรุงมดลูก ยาสตรีที่สรรพคุณบำรุงมดลูก เป็นยาชนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนอยู่ ทำให้ไปสร้างปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดมะเร็งโพรงมดลูกได้ จึงไม่มีความจำเป็นต้องรับประทาน
ข้อที่ 2 หากประจำเดือนขาดเกิน 3 เดือน ควรไปพบแพทย์ตรวจละเอียด
ปัจจัยที่ทำให้ประจำเดือนขาด ได้แก่
- ภาวะการตั้งครรภ์ที่สามารถเกิดประจำเดือนไม่มา หรือผู้ที่ให้นมบุตร
- เกิดได้กับผู้ที่เริ่มเข้าสู่วัยทองโดยปกติแล้วจะพบในช่วงอายุ 45 ปี ขึ้นไป
- เกิดจากฮอร์โมนในร่างกายที่ไม่สมดุล เช่น เทสโทสเตอโรนสูง และฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำ
ซึ่งปัจจัยข้อที่สาม การที่ประจำเดือนไม่มาจากฮอร์โมนจำเป็นต้องได้รับการตรวจละเอียดจากคุณหมอ เพื่อหาสาเหตุ และทำการรักษาหากการที่ประจำเดือนมาผิดปกตินำไปสู่การเกิดมะเร็งโพรงมดลูก
ข้อที่ 3 เข้ารับการตรวจหามะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกเป็นประจำ
การได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ตั้งแต่พบสารก่อเชื้อมะเร็งจะนำไปสู่การรักษาอย่างรวดเร็ว และมีโอกาสสูงที่จะหาย ไม่เป็นอันตราย หรือแม้แต่ยังไม่ก่อตัวเป็นก้อนเนื้อมะเร็งได้ การเข้ารับการตรวจเป็นประจำต่อเนื่องจึงเป็นปัจจัยช่วยลดโอกาสเสี่ยงการเป็นมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้ดี
อาการเด่นชัดที่ควรไปพบแพทย์
- ผู้หญิงวัยทอง ที่ประจำเดือนขาดเกิน 1 ปี แล้ว แต่กลับมีเลือดออกทางช่องคลอด เป็นอาการแสดงถึงความผิดปกติ ควรได้รับการตรวจวินิจฉัย
- ผู้หญิงที่มีอายุ เกิน 40 ปี แล้วมีเลือดออกนอกรอบเดือน
- ผู้หญิงที่มีเลือดออกกระปริบกระปรอย แม้ว่าจะรับการรักษาด้วยยาปรับฮอร์โมนแล้วยังไม่ดีขึ้น
- ผู้ที่มีความเสี่ยงโรคมะเร็งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่
โดยสรุป ผู้ป่วยมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกส่วนมาก เบื้องต้นผู้ป่วยควรหาข้อมูลที่เหมาะสมและปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อจะได้วางแผนการรักษาอย่างเหมาะสม หลังเข้ารับการรักษาแล้วผู้ป่วยต้องดูแลตัวเองตามคำแนะนำของแพทย์และเข้ารับการตรวจติดตามผลการรักษาอย่างสม่ำเสมอ
ข้อมูลอ้างอิงจาก https://www.si.mahidol.ac.th/https://www.bumrungrad.com/https://www.petcharavejhospital.com/http://www.tgcsthai.com
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่