อุทาหรณ์ เตือนภัยสำหรับคุณแม่ที่ชอบของดิบ หรือของสุก ๆ ดิบ ๆ เพราะอันตรายถึงขั้นตาบอดได้ จากเหตุ พยาธิปอดหนู ขึ้นตาค่ะ
เตือนภัยพยาธิปอดหนู ขึ้นตา ทำตาบอด
แพทย์โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้พบผู้ป่วยโรคพยาธิปอดหนู ขึ้นตา จากการรับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ เป็นประจำ โดยเฉพาะ ‘กุ้งแช่น้ำปลา’ ทำให้ข้าราชการสาววัย 40 ปี ถึงกับตาบอด โดยเป็นผู้ป่วยรายแรกของ จ.พิษณุโลก ส่วนทั่วโลกพบผู้ป่วยจากพยาธิปอดหนูไม่เกิน 50 ราย และพบมากที่สุดในภาคอีสานของประเทศไทยค่ะ
พยาธิปอดหนู ขึ้นตา เริ่มจากตาพร่ามัว
จักษุแพทย์เจ้าของไข้ เล่าในการแถลงข่าวว่า คนไข้เป็นหญิงอายุ 40 ปี อาชีพข้าราชการ เข้าพบหมอด้วยอาการตาพร่ามัวข้างเดียวมาประมาณ 1 สัปดาห์ ก็ยังไม่พบสาเหตุ จึงได้นัดทำการตรวจตาอย่างละเอียดในอีก 3 สัปดาห์ต่อมา ด้วยวิธีการขยายม่านตา ในที่สุดก็พบว่าตามีการอักเสบ และพบพยาธิในวุ้นตา จึงรักษาด้วยการให้ยาฆ่าพยาธิ และยาลดอักเสบ จากนั้นได้ทำการผ่าตัดโดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง จึงสามารถนำพยาธิออกมาจากตาได้ ก่อนจะส่งตรวจจนพบว่าพยาธิที่พบ เป็น ‘พยาธิปอดหนู’ ความยาวประมาณ 0.5 ซม.
ขอบคุณภาพจาก โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร
หลังผ่าตัดตาบอดสนิท
หลังผ่าตัดนำพยาธิออกจากตาเรียบร้อยแล้ว ก็พบว่าตาข้างขวาของผู้ป่วยไม่สามารถมองเห็นได้อีก เนื่องจากตัวพยาธิได้ชอนไชไปยังจอประสาทตา ทำให้จอประสาทตาอักเสบเป็นหนอง ได้รับความเสียหาย จึงทำให้ตาบอดสนิท ซึ่งหลังจากนี้แพทย์ยังได้ทำการนัดรักษาต่อเนื่อง เพื่อเช็คร่างกายอย่างละเอียดว่า มีพยาธิในตำแหน่งอื่นของร่างกายอีกหรือไม่
พยาธิปอดหนูขึ้นตาครั้งแรกของโลกก็ที่ไทย
จากสถิติเกี่ยวกับพยาธิปอดหนูขึ้นตา มีรายงานว่า เคยพบผู้ป่วย ‘พยาธิปอดหนู’ ขึ้นตาครั้งแรกของโลก ในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ.2505 และทั่วโลกมีการรายงานพบผู้ป่วยด้วยโรนี้ไม่เกิน 50 ราย และพบมากที่สุดในไทย เป็นผู้ป่วยจากภาคอีสาน ซึ่งรายงานโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นจำนวน 18 ราย
ทำไมจึงเรียกว่าพยาธิปอดหนู
พยาธิปอดหนูเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “พยาธิหอยโข่ง” พยาธิชนิดนี้เป็นพยาธิตัวกลมที่มีชื่อว่า “แองจิโอสตรองจิลัส แคนโทเนนซิส” (Angiostrongylus cantonensis) สาเหตุที่เรียกว่า ‘พยาธิปอดหนู’ เพราะ พยาธิตัวเต็มวัยทั้งสองเพศ จะอาศัยอยู่ในหลอดเลือดแดงของปอดหนู พยาธิตัวเมียจะออกไข่ในหลอดเลือดแดง และฟักตัวเป็นตัวอ่อน ระยะที่ 1 ปนออกมากับมูลหนู เมื่อตัวอ่อนไชเข้าหอยทาก หรือหอยน้ำจืด เช่น หอยโข่ง หอยขม หอยเชอรี่ กุ้งน้ำจืด ปลาน้ำจืด แล้วจะเจริญเป็นตัวอ่อนระยะติดต่อ ในระยะนี้หากคนรับประทานอาหารปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ พยาธิจะเข้าสู่ระบบประสาท เช่น สมอง ไขสันหลัง หรือตา ฯลฯ
ขอบคุณภาพจาก โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร
อาการที่เกิดจากพยาธิปอดหนูเข้าร่างกาย
อาการเจ็บป่วย จะขึ้นอยู่กับตำแหน่งของอวัยวะที่พยาธิอยู่ เช่น เคสของคนไข้รายนี้ที่ตัวพยาธิขึ้นตาจึงทำให้เกิดอาการที่พบบ่อยคือตามัวลงแบบเฉียบพลัน ไม่มีอาการปวด หรือเคืองตาแต่อย่างใด ซึ่งจากการซักประวัติของผู้ป่วยพบว่ามีประวัติชอบทานอาหารสุกๆ ดิบๆ บ่อยครั้ง โดยเฉพาะกุ้งน้ำจืด ที่ทานเมนู ‘กุ้งแช่น้ำปลา’ เป็นประจำ
นอกจากนี้ ยังทําให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้อีกด้วย โดยระยะฟักตัวของการแสดงอาการกินเวลาประมาณ 7-30 วัน หลังจากที่ได้รับระยะติดต่อ อาการเริ่มแรกจะมีไข้ ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ปวดศีรษะ คอแข็ง บางรายมีอาการตาพร่ามัวเนื่องจากพยาธิมีการเดินทางเข้าตา นอกจากนี้ยังมีอาการเกร็งตามกล้ามเนื้อ สูญเสียการทรงตัว บางรายรุนแรงถึงเป็นอัมพาตและเสียชีวิตได้ ส่วนความรุนแรงของโรคพยาธิปอดหนูจะมากน้อยขึ้นอยู่กับจํานวนพยาธิที่ได้รับเข้าไป และการตอบสนองของร่างกายต่อพยาธิ
ป้องกันตัวเองจากพยาธิปอดหนู
วิธีการป้องกันไม่ให้เป็น โรคพยาธิปอดหนู คือควรล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร หยุดรับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ ให้รับประทานเฉพาะอาหารที่ปรุงสุกและสด สะอาดเท่านั้น เพราะพยาธิที่อาศัยอยู่ตามสัตว์น้ำจืด เมื่อเข้าสู่ร่างกายอาจเป็นอันตรายเหมือนผู้ป่วยเคสนี้ที่ต้องสูญเสียการมองเห็นจากดวงตาข้างขวาไป 1 ข้าง เพียงเพราะชอบอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ และหากพยาธิเข้าไปอยู่ตามจุดสำคัญในร่างกาย เช่น ระบบประสาท สมอง ไขสันหลัง อาจจะถึงขั้นรุนแรงถึงเสียชีวิตได้นะคะ
ทีมแม่ ABK อยากให้คุณแม่ทุกท่านระมัดระวังตัวเองจากอาหารการกิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ เลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยงนะคะ เพราะผลที่เกิดจากพยาธิปอดหนูนั้นอันตรายมากจริง ๆ ค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์, MGR Online
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
อุทาหรณ์ เด็กติดในรถ! แนะวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น ช่วยลูกรอดในนาทีฉุกเฉิน