1. การประคบสมุนไพร
นำสมุนไพรสดหรือแห้งหลายชนิด เช่น ไพล ขมิ้นชัน ขมิ้นอ้อย ตะไคร้ ผิวมะกรูด การบูร พิมเสน เกลือ ใบมะขาม เป็นต้น นำมาโขลกพอแหลก คลุกรวมเข้ากัน ห่อเป็นลูกประคบ นำมาผ่านไอความร้อนจากน้ำเดือด เมื่อได้ความร้อนจากไอเต็มที่ นำลูกประคบมาประคบบริเวณหลัง สะโพก ท้อง และขา สมุนไพรที่ใช้ประคบส่วนใหญ่เป็นสมุนไพรที่มีน้ำมันหอมระเหย เมื่อถูกความร้อนจะส่งกลิ่นหอม ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย
ประโยชน์ของการประคบด้วยสมุนไพรหลังคลอด ได้แก่ ลดการเป็นตะคริว ลดการช้ำบวม ลดการอักเสบ กระตุ้นให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น และช่วยคลายกล้ามเนื้อ แก้ปวดเมื่อย ช่วยให้การหายใจดีขึ้น
2. การอาบน้ำสมุนไพร
นำสมุนไพรสดหรือแห้งหลายชนิดมาต้มกับน้ำ แล้วนำน้ำมาอาบ สมุนไพรที่ใช้ต้ม เช่น ไพล ขมิ้นชัน ขมิ้นอ้อย ตะไคร้ ผิวมะกรูด ใบเปล้า ใบหนาด เป็นต้น
การอาบน้ำสมุนไพรจะทำร่วมกับการประคบเปียก หรืออบสมุนไพรโดยปรับตามความเหมาะสม การอาบสมุนไพรช่วยให้ร่างกายสดชื่น ผิวหนังสะอาด ลดอาการคัน ลดอาการหวัด คัดจมูก เพื่อป้องกันผิวหนังอักเสบ เป็นการบำรุงผิวพรรณไปในตัว
3. การเข้ากระโจมหรือการอบไอน้ำสมุนไพร
การนำสมุนไพรสดหรือแห้งหลายชนิดมาต้มในกระโจม เพื่อให้ไอน้ำที่ได้จากการต้ม ซึ่งจะต้องอยู่ในที่มิดชิด เพื่อให้ร่างกายได้รับไอน้ำอย่างทั่วถึง ในปัจจุบันจะมีการปรับประยุกต์ใช้เพื่อให้สะดวกขึ้น เป็นการอบสมุนไพรในตู้อบสำเร็จรูปหรือห้องอบสมุนไพร ส่วนสมุนไพรที่ใช้จะใช้เหมือนกับการอบไอน้ำสมุนไพร
สมุนไพรที่ใช้ในการอบไอน้ำ มี 4 กลุ่ม คือ
1) สมุนไพรที่มีกลิ่นหอม ซึ่งมีน้ำมันหอมระเหย ช่วยรักษาโรคผิวหนัง ปวดเมื่อย อาการหวัดคัดจมูก เช่น ไพล ขมิ้นชัน มะกรูด ฯลฯ
2) สมุนไพรที่มีรสเปรี้ยว กลุ่มนี้จะมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน ๆ ช่วยชะล้างสิ่งสกปรกและเพิ่มความต้านทานโรคให้กับผิวหนัง เช่น ใบมะขาม และใบหรือฝักส้มป่อย
3) สารหอมที่ระเหิดได้เมื่อถูกความร้อน เช่น พิมเสน การบูร ช่วยแต่งกลิ่น บำรุงหัวใจ ทำให้สดชื่น
4) สมุนไพรที่ใช้เฉพาะโรค เช่น กรณีผื่นคันใช้เหงือกปลาหมอ กรณีปวดเมื่อยใช้เถาวัลย์เปรียง กรณีแก้เจ็บตา ตาแฉะ ใช้กระวาน เกสรทั้ง 5 แต่งกลิ่น ช่วยระบบการหายใจ
4. การทับหม้อเกลือ
เป็นการนำเกลือสมุทรใส่หม้อตั้งไฟให้ร้อน แล้วมาวางบนสมุนไพรที่เตรียมไว้ ห่อผ้าแล้วนำมาประคบตามอวัยวะต่าง ๆ ของหญิงหลังคลอด การทับหม้อเกลือเริ่มจากนำสมุนไพร ได้แก่ ไพล ว่านนางคำ ว่านชักมดลูก ไม่ต้องปลอกเปลือกหั่น และตำให้พอแหลก เคล้าตัวยาทั้ง 3 ผสมกับการบูร วางลงบนผ้าที่จะใช้ห่อ นำใบพลับพลึงกรีดเอาเส้นกลางใบออกวางขวางสลับกันเป็นลักษณะสี่เหลี่ยม วางบนสมุนไพรที่เตรียมไว้บนผ้าห่อ จากนั้นนำหม้อทะนนหรือหม้อดินขนาดเล็กใส่เกลือเม็ด ตั้งไฟจนเม็ดเกลือแตก ใช้เวลาประมาณ 15 นาที ยกหม้อเกลือวางลงบนใบพลับพลึงและสมุนไพรที่เตรียมไว้บนผ้าห่อ หลังจากนั้นห่อผ้าแล้วน้ำมาทับบริเวณท้อง หลัง สะโพก และขา
ข้อควรระวังในการทับหม้อเกลือ
1) ห้ามทำในรายที่มีไข้
2) ห้ามรับประทานอาหารหนักก่อนทับหม้อเกลือ
3) ห้ามทำกรณีที่มดลูกยังลอยตัว ต้องรอให้มดลูกเข้าอู่ก่อนหรือหลังคลอดประมาณ 2 สัปดาห์
4) การคลอดโดยวิธีผ่าตัด ทำหมัน ห้ามทับหม้อเกลือ หรือควรจะรอให้เกิน 1 เดือน
ประโยชน์ของการทับหม้อเกลือ ได้แก่ ทำให้มดลูกเข้าอู่ได้เร็ว ลดไขมันหน้าท้อง บรรเทาอาการปวดเมื่อย กระตุ้นการไหลเวียนโลหิต และทำให้น้ำคาวปลาไหลสะดวก การทับหม้อเกลือควรทำติดต่อกัน 3-5 วัน ครั้งละไม่เกิน 2 ชั่วโมง และควรทำในตอนเช้า