จิตแพทย์เตือน! ดูข่าวหดหู่ ระวัง Headline Stress Disorder
จากประเด็นร้อนล่าสุด ที่ดาราสาวชื่อดัง แตงโม ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ เสียชีวิต อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่ ติดตามข่าวสารอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลาหลายวัน ซึ่งการติดตามเรื่องราวนี้ รวมทั้งเรื่องราวอื่น ๆ เช่น เศรษฐกิจ สังคมโลก อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต เพราะข่าว และเนื้อหาต่าง ๆ ที่เผยแพร่ในสื่อ และโซเชียลมีเดีย สร้างความเศร้า ความเครียดสะสม ที่มากเกินไป จนอาจทำให้ คุณพ่อคุณแม่ เกิดภาวะ Headline Stress Disorder ได้ค่ะ
ภาวะHeadline Stress Disorder คืออะไร
ผศ.นพ.วัลลภ อัจสริยะสิงห์ อาจารย์ประจำสาขาวิชา จิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ได้ออกมาเตือนประชาชน และให้ความรู้ ทางเพจ Mahidol Channel ผ่านแคมเปญ #เรื่องของใจใครว่าไม่สำคัญ แคมเปญที่ Mahidol Channel ร่วมกับ สสส. และสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย ร่วมกันทำขึ้น เพราะอยากให้ทุกคน เห็นความสำคัญ ของการดูแลสุขภาพจิต
คุณหมอได้ให้ข้อมูลไว้ว่าHeadline stress disorder ไม่ใช่ชื่อโรค แต่เป็นคำที่ใช้เรียก ภาวะเครียด หรือ วิตกกังวลมาก ที่เกิดขึ้นจากการเสพข่าวทางสื่อต่าง ๆ ที่มากเกินไป
เสพข่าวหดหู่มากไป ส่งผลเสียอย่างไรต่อร่างกายและจิตใจ
การเสพข่าวหดหู่มากไป สามารถส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจได้มาก และหลายระบบ เช่น ใจสั่น แน่นหน้าอก นอนไม่หลับ วิตกกังวล ซึมเศร้า โกรธ ซึ่งถ้าปล่อยไว้ อาจส่งผลต่อการเกิดโรคบางอย่างได้ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า
ใครคือกลุ่มเสี่ยงต่อ ภาวะHeadline Stress Disorder
- คนที่เหนื่อยล้า ทั้งทางจิตใจ หรือร่างกายอยู่แล้ว เช่น อาจกำลังเครียดเรื่องงาน ครอบครัว การเรียน พักผ่อนไม่เพียงพอ เจ็บป่วย อยู่นั้น อารมณ์จะอ่อนไหวง่าย เมื่อมาเสพข่าวที่หดหู่ ก็จะเครียดได้ง่าย
- คนที่มีโรควิตกกังวล หรือซึมเศร้าอยู่แล้ว จะถูกกระตุ้นได้ง่าย จากการเสพข่าวที่หดหู่
- คนที่ใช้เวลาอยู่ในโลกออนไลน์เยอะ ก็มีโอกาสที่จะรับรู้ข่าวทั้งที่จริง และปลอม ทั้งดี และร้าย ได้เยอะ
- คนที่ขาดวิจารณญาณในการเสพข่าว อาจจะเป็นด้วยวัย วุฒิภาวะ หรือบุคลิกภาพ มีแนวโน้มจะเชื่อพาดหัวข่าวในทันทีที่เห็นได้ง่าย
จัดการความเครียดจากการเสพข่าวหดหู่ด้วยตนเองได้อย่างไร
คำแนะนำในการจัดการความเครียด จากการเสพข่าวหดหู่ทั่วไปด้วยตนเอง มีวิธีการดังนี้
- จำกัดเวลาในการเสพข่าว เคร่งครัดกับเวลาที่กำหนดไว้ อย่าเสพข่าวเดิมทั้งวันทั้งคืน โดยไม่หยุดพัก
- หากเครียดมาก อาจงดเสพข่าว หรืองดใช้สื่อสังคมออนไลน์ไปสักพัก จนกว่าจะรู้สึกผ่อนคลายขึ้น
- อย่าเชื่อพาดหัวข่าวที่เห็นในทันที เพราะพาดหัวข่าว มักใช้คำที่กระตุ้นอารมณ์ เพื่อดึงดูดให้คนสนใจ แนะนำให้อ่านรายละเอียดของข่าวด้วย
- ตรวจสอบข่าวก่อนจะเชื่อ อ่านข่าวจากสื่อที่เชื่อถือได้ เพราะปัจจุบัน มีการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ ทางสื่อสังคมออนไลน์กันมาก
- หากเป็นข่าวด่วนอาจรอสักหน่อย ให้มีข้อมูล และความจริงมากขึ้น แล้วค่อยอ่านในรายละเอียดข่าว
- พยายามมองหาสิ่งที่ดี ในข่าวที่อ่านบ้าง ทุกอย่างมีทั้งด้านดี และร้ายเสมอ
- อ่านข่าวที่ดีต่อใจบ้าง อย่าเสพแต่ข่าวที่หดหู่
- อย่าเสพข่าวก่อนนอน เพื่อให้สมองได้พัก และหลับได้ดี
- ทำกิจกรรมคลายเครียด ผ่อนคลายบ้าง อย่าเอาแต่ติดตามข่าวทั้งวัน
- พูดคุยกับคนอื่นบ้าง การหมกมุ่นกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งคนเดียว จะยิ่งทำให้จมกับความคิดลบ ๆ ได้ง่าย
- หากทำตามคำแนะนำข้างต้น แล้วยังเครียดมากอยู่ ให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น สายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือ chatbot 1323 หรืออาจไปปรึกษานักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์
ทีมแม่ ABK อยากให้คุณพ่อคุณแม่ได้ลองสังเกตตัวเองสักนิดว่า ช่วงที่ผ่านมานี้ได้เสพข่าวที่ทำให้รู้สึก เครียด เศร้า หดหู่ บ้างหรือไม่ เราเป็นหนึ่งในผู้ที่มีความเสี่ยงแล้วหรือยัง และขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำเพื่อให้พ้นจากภาวะหดหู่จากการเสพข่าวนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
ลูกติดโซเชียลหนัก ระวังป่วย โรค Tic Tok ชอบพูดซ้ำๆ กล้ามเนื้อกระตุกเอง!