จากตอนที่แล้ว ที่พูดถึงยาที่ใช้กับ 5 โรค ขณะให้นม มาต่อกับอีก 7 โรคที่เหลือกันค่ะ
6. ไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่
ยาบรรเทาอาการไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ส่วนใหญ่กินเองได้โดยใช้ขนาดตามฉลากยา ยาเดกซ์โทรเมทอร์แฟนและไกวเฟเนซินจัดเป็นยาแก้ไอที่ปลอดภัย แต่ไม่ควรใช้ยาอมแก้ไอที่มีส่วนผสมของเมนทอลมากเกินไป เพราะอาจผลิตน้ำนมได้น้อยลง สำหรับอาการคัดจมูก ให้ใช้ฟลูติคาโซน โครโมลินโซเดียม หรือน้ำเกลือล้างจมูก ในแม่บางคน ซูโดอีเฟดรีนอาจทำให้ผลิตน้ำนมได้น้อยลงมากจึงไม่ควรใช้ ส่วนอะเซตามิโนเฟนใช้ลดไข้ได้อย่างปลอดภัย
ทางเลือกอื่นๆ นั่งอบไอร้อนในห้องน้ำเพื่อบรรเทาอาการมึนศีรษะและแน่นหน้าอกเพื่อลดการใช้ยา เปิดเครื่องทำไอระเหยแบบร้อนหรือเย็นตอนกลางคืน ดื่มน้ำร้อนผสมน้ำผึ้งและมะนาวบรรเทาอาการเจ็บคอ กินซุปไก่เพื่อบำรุงร่างกายให้ต่อสู้กับการติดเชื้อได้เอง และพักผ่อนมากๆ เป็นวิธีที่ดีที่สุด
7. ภูมิแพ้และหอบหืด
อาการภูมิแพ้ตามฤดูกาลอาจใช้ยาแก้แพ้ที่ซื้อกินเองได้ด้วยความระมัดระวัง เพราะยาแก้แพ้/แก้คัดจมูกซึ่งเป็นที่นิยมอย่างไดเฟนไฮดรามีนคลอร์เฟนิรามีนและบรอมเฟนิรามีน อาจมีฤทธิ์กดประสาทสำหรับเด็กทารกบางคนและอาจเพิ่มโอกาสหายใจลำบาก ยาแก้แพ้ที่ไม่มีฤทธิ์กดประสาทอย่างเซติริซีนและลอราทาดีนจึงมักจะเป็นที่นิยมกว่า สำหรับโรคหอบหืด ยาที่ใช้ได้อย่างปลอดภัยก็คือยาสเตียรอยด์พ่นจมูกส่วนใหญ่ และยาขยายหลอดลม
ทางเลือกอื่นๆ ถ้าเลือกได้ ให้เลือกใช้ยาแก้แพ้ชนิดสเปรย์พ่นจมูก เพราะปริมาณยาที่ตกค้างในนมแม่มักจะต่ำกว่าชนิดกินมาก
8. การคุมกำเนิด
การให้นมไม่ใช่วิธีคุมกำเนิดที่ได้ผลอย่างที่คิด เพราะแม้รอบเดือนยังไม่มาก็อาจมีการตกไข่ได้ ฉะนั้นถ้าเคยกินยาคุมกำเนิด สามารถเลือกยาคุมกำเนิดชนิดที่มีฮอร์โมนโพรเจสทินอย่างเดียว หรือจะเปลี่ยนไปใช้วิธีฉีดยาคุมกำเนิดชนิดที่มีฮอร์โมนโพรเจสเทอโรนทุก 3 เดือน แต่ในช่วงที่เพิ่งคลอด แพทย์จะยังไม่ฉีดให้เพราะอาจมีผลต่อการผลิตน้ำนม จึงควรฉีดในช่วง 6-8 สัปดาห์หลังคลอด
ควรเลี่ยงยาคุมกำเนิดชนิดที่มีฮอร์โมนเอสโทรเจน เพราะสำหรับแม่บางคนจะทำให้ปริมาณการหลั่งน้ำนมลดลงมากและมีผลต่อปริมาณการผลิตน้ำนมด้วย
ทางเลือกอื่นๆ การใช้แผ่นครอบปากมดลูกคือวิธีคุมกำเนิดที่ไม่มีผลต่อการผลิตน้ำนม แต่หากคุณใช้วิธีคุมกำเนิดแบบนี้มาตั้งแต่ก่อนคิดจะมีลูก แพทย์อาจต้องสั่งแผ่นใหม่ให้ในวันที่นัดตรวจสุขภาพหลังคลอด 6 สัปดาห์ เพราะการตั้งครรภ์และการคลอดทำให้รูปร่างของช่องคลอดเปลี่ยนไป แผ่นเดิมอาจจะช่วยคุมกำเนิดไม่ได้เพราะใส่ไม่พอดี
9. อาการปวดกล้ามเนื้อ
ใช้ครีมทาผิวเพื่อระงับอาการปวดได้ เพราะเป็นยาที่ใช้ทาเฉพาะที่ แต่ถึงจะไม่มียาตกค้างในน้ำนมก็ไม่ควรทาครีมบริเวณหัวนม ยาจะได้ไม่หลงเข้าปากลูกโดยบังเอิญ และหลังใช้ควรล้างมือให้สะอาด จะได้ไม่หลงเหลือครีมให้ส่งต่อไปที่ตัวลูก
ทางเลือกอื่นๆ ถ้าปวดหลังตอนให้นม แม่ควรจะหาที่ที่นั่งได้สบายขึ้น ใช้หมอนให้นม หรือหาเก้าอี้มารองเท้า แต่ถ้ายังไม่หายปวดควรลองเปลี่ยนท่าให้นมตามที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ เช่น ท่านอนตะแคงให้นม
10. อาหารไม่ย่อยและท้องเสีย
ยาลดกรดหรือยาแก้ท้องอืดในกลุ่มแคลเซียมคาร์บอเนต อลูมิเนียมไฮดรอกไซด์และแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ หรือไซเมธิโคนสามารถใช้ในช่วงให้นมได้
หลีกเลี่ยงการใช้ยารวมหลายชนิดเพราะอาจมีส่วนผสมของแอสไพริน หรือซาลิไซเลต อาจเพิ่มโอกาสเกิดอาการเลือดตกใน และกลุ่มอาการไรย์ (Reye’s syndrome-ความผิดปกติของสมองและตับ) ในทารก
ทางเลือกอื่นๆ เลี่ยงอาหารไม่ย่อยง่ายๆ ด้วยการกินอาหารในแต่ละมื้อให้น้อยลง ไม่กินอาหารก่อนเข้านอนอย่างน้อย 2 ชั่วโมง และเลี่ยงอาหารมันหรือรสจัด หากแม่ท้องเสีย ให้กินโยเกิร์ต (และอาหารที่มีโพรไบโอติกอื่นๆ) เพิ่มขึ้นในแต่ละวัน เพราะโพรไบโอติกคือแบคทีเรียชนิดดีที่ช่วยรักษาสมดุลของลำไส้
11. ผื่นผิวหนัง
ยาที่ใช้ได้คือขี้ผึ้งปฏิชีวนะที่ซื้อเองได้และโลชั่นโคลไตรมาโซล ส่วนครีมทาแก้คันที่มีไดเฟนไฮดรามีน คือยาที่ “มักจะ” ใช้ในช่วงให้นมได้อย่างปลอดภัย แต่ควรใช้ตามที่แพทย์แนะนำเท่านั้นและไม่ควรใช้เกิน 2-3 วัน
ไฮโดรคอร์ติโซนซึ่งใช้ทาเฉพาะที่ก็ใช้รักษาผื่นภูมิแพ้ผิวหนังและผื่นผิวหนังประเภทอื่นๆ ได้อย่างปลอดภัยเช่นกัน แต่ไม่ควรทาที่เต้านมและหัวนม เพราะผื่นที่พบบน (หรือใต้) เต้านมอาจเกิดจากการติดเชื้อยีสต์และควรจะให้แพทย์ตรวจก่อน
ทางเลือกอื่นๆ รักษาความสะอาดบริเวณที่ติดเชื้อและไม่ปล่อยให้ชื้น มักจะหายเองได้โดยไม่ต้องใช้ยา แต่ถ้าเป็นผื่นเกิน 2-3 วันหรืออาการแย่ลงต้องปรึกษาแพทย์
12. ติดคาเฟอีน
หลังแม่ดื่มชา กาแฟและเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนชนิดอื่นๆ ได้ไม่นาน ก็จะพบคาเฟอีนในน้ำนม และพอมาอยู่ในร่างกายของลูกตัวน้อยๆ จะมีแต่ผลเสีย คือ ถ้าแม่บริโภคคาเฟอีนในปริมาณที่สูงมาก (ดื่มกาแฟวันละไม่ต่ำกว่า 10 ถ้วย) ลูกจะงอแงและมีอาการสะดุ้งผวา คาเฟอีนในน้ำนมมีผลต่อการนอนของลูกด้วย แม่จึงไม่ควรดื่มกาแฟเกินวันละ 2-3 ถ้วย (มีคาเฟอีนประมาณ 150-400 มิลลิกรัม)
ทางเลือกอื่นๆ กระทั่งกาแฟ 2-3 ถ้วยก็อาจจะมีคาเฟอีนในปริมาณสูงพอจนมีผลต่อลูก แม่จึงควรลองงดเครื่องดื่มและอาหารที่มีคาเฟอีน (รวมถึงช็อกโกแลต) ไปเลย ถ้างดแล้วอารมณ์และพฤติกรรมของลูกดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แม่ก็ควรงดดื่มกาแฟ (หรืออย่างน้อยก็เปลี่ยนเป็นแบบที่ไม่มีคาเฟอีน) สัก 2-3 เดือน เพราะเมื่อลูกโตขึ้น คาเฟอีนจะดูดซึมสู่ร่างกายได้ช้าลง คุณแม่ก็ค่อยๆ กลับมาดื่มกาแฟได้ตามเดิม
ตอนที่แล้ว >> ช่วงให้นม ใช้ยาอย่างไร แม่และเบบี๋ปลอดภัย
ขอขอบคุณ นพ.ชนเมธ เตชะแสนศิริ หัวหน้าหน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ตรวจทานเนื้อหาและอัพเดตข้อมูล
เรื่อง: กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids
ภาพ: Shutterstock
หมายเหตุ ขอขอบคุณนพ.ชนเมธ เตชะแสนศิริ หัวหน้าหน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ตรวจทานเนื้อหาและอัพเดตข้อมูล