ถึงแม้กระแสการรับประทานผักผลไม้ กินคลีน จะมีให้เห็นกันอยู่ตามสื่อออนไลน์ แต่ก็มีข้อมูลที่น่าตกใจว่ากว่า 75% ของ คนไทยกินผักผลไม้น้อย ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนด คืออย่างน้อยวันละ 400 กรัม ทำให้เกิดความเสี่ยงโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเรื้อรัง
รองศาสตราจารย์ ดร.วิสิฐ จะวะสิต ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่า ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ผู้ชายรับประทานผักผลไม้ประมาณ 268 กรัมต่อวัน ผู้หญิงรับประทานผักผลไม้วันละประมาณ 283 กรัมต่อวัน และมีการรับประทานผักผลไม้น้อยลง โดยเฉพาะ 80 ปีขึ้นไป เพียง 200 กรัมต่อวัน
ซึ่งต่ำกว่าที่ทาง องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ว่าควรไม่น้อยกว่าวันละ 400 กรัม เพราะลดความเสี่ยงโรคมะเร็งได้ถึง 50% โรคหัวใจ 30% โรคหลอดเลือดสมอง 6% และโรคมะเร็งทางเดินอาหาร กระเพาะอาหาร หลอดอาหาร 1-6% นอกจากนี้ยังช่วยให้น้ำหนักตัวลดลง เพราะผักมีพลังงานต่ำ ถ้ารับประทานในปริมาณที่กำหนด จะช่วยลดความเสี่ยงของโรคเรื้อรัง ทั้งเบาหวาน และความดัน
ในประเทศไทยมีผักที่บริโภคได้ถึง 330 ชนิด แต่คนไทยรับประทานเพียง 70-80% ของผักทั้งหมด และมีผักหลายชนิดที่ไม่ได้รับประทาน อาจจะเป็นเพราะวิถีชีวิตที่เร่งรีบของคนในปัจจุบัน ทำให้วัฒนธรรมการบริโภคเปลี่ยนแปลงไป หันมารับประทานอาหารจานด่วน ทำให้ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทำให้เกิดโรค เช่น เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคมะเร็ง เป็นต้น
นางสุจิตต์ สาลีพันธ์ สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะนำว่า ให้แบ่งอาหารเป็น 5 ส่วน ผัก 3 ส่วน ผลไม้ 2 ส่วน โดยรับประทานไม่ต่ำกว่า 5 ทัพพี
ผศ.ทัศนีย์ โรจนไพบูลย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารและโภชนาการ สถาบันวิจัยโภชนาการ ม.มหิดล เสริมว่า กำมือของตัวเองเป็นตัวกำหนด เช่น ในกลุ่มเด็กมีขนาดมือเล็ก ปริมาณผักผลไม้ก็ต้องลดสัดส่วนลงไปด้วยนั่นเอง