“ประจำเดือน” เป็นเรื่องของผู้หญิงล้วน ๆ ที่ละเลยไม่ได้ ปัญหาประจำเดือนไม่มาตามปกติหรือภาวะประจำเดือนขาด มาไม่สม่ำเสมอ หรือมาช้า ที่อาจไม่ได้เกิดจากการตั้งครรภ์เสมอไป ประจำเดือนไม่มา กินยาอะไรดี และควรดูแลตัวเองอย่างไร มาทำความเข้าใจเรื่องนี้กันค่ะ
ประจำเดือนไม่มา ปัญหาของสตรีที่ควรรู้!
การมีประจำเดือน ถือเป็นเรื่องปกติของผู้หญิงที่เกิดเป็นรอบประจำเดือนตามปกติ ซึ่งผู้หญิงส่วนใหญ่จะมีประจำเดือนมาประมาณ 11-13 ครั้งต่อปี โดยรอบเดือนปกติจะประมาณ 28 วัน (อยู่ในช่วง 21- 35วัน) แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ระยะห่างรอบเดือนมาไม่ปกติ มีประจำเดือนขาดหายไปนาน 3 เดือนถึงมาครั้ง เรียกได้ว่า “ภาวะประจำเดือนขาด” ซึ่งลักษณะของอาการประจำเดือนไม่มาเกิดขึ้นได้ 2 กรณี ได้แก่
1.ภาวะขาดประจำเดือนปฐมภูมิ คือ กรณีนี้เกิดขึ้นได้กับคนที่อายุถึงเกณฑ์ แต่รอบเดือนครั้งแรกยังไม่มา ซึ่งโดยปกติวัยที่เริ่มมีรอบเดือนคือในช่วงอายุระหว่าง 9-18 ปี
2.ภาวะขาดประจำเดือนทุติยภูมิ คือ ภาวะที่ประจำเดือนขาดไปอย่างน้อย 3 เดือน กรณีเกิดขึ้นกับคนที่เคยมีประจำเดือน แต่รอบเดือนขาดหรือไม่มาตามปกติ และเป็นภาวะที่พบได้บ่อย
คลิปวิดีโอ “รู้จริง..เรื่องประจำเดือน” จาก ผศ.พญ.ชลธิชา สถิระพจน์ อาจารย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์-นรเวชวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยามหิดล
สาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนไม่มาปกติ
อาการประจำเดือนไม่มาหรือภาวะขาดประจำเดือนอาจเกิดขึ้นได้จากสาเหตุหลายอย่าง โดยแบ่งสาเหตุได้จาก ความเปลี่ยนแปลงจากฮอร์โมนผิดปกติหรือความผิดปกติจากสุขภาพ ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุที่พบได้ทั่วไป อาทิเช่น
- ระดับฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุล รังไข่ที่สร้างฮอร์โมนไม่ว่าจะผลิตฮอร์โมนมากหรือน้อย เช่น ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำ หรือระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนสูง ก็เป็นสาเหตุให้ประจำเดือนไม่มาได้
- ความเครียด เป็นปัญหาที่ส่งผลให้ประจำเดือนมาผิดปกติ ทั้งประจำเดือนมามาก มาน้อย หรือประจำเดือนไม่มา หรือขาดหายไปคราวละหลาย ๆ เดือนได้ เนื่องจากความเครียดมีผลต่อฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการเจริญพันธุ์และการมีประจำเดือน รวมถึงโรควิตกกังวลและอารมณ์ที่แปรปรวนก็ส่งให้ผลประจำเดือนขาดได้
- น้ำหนักตัวน้อยเกินไปหรือมากเกินไป ผู้ที่น้ำหนักตัวลดลงมากอย่างรวดเร็ว รับประทานอาหารน้อย ทำให้ไม่มีสารอาหารไปกระตุ้นการผลิตฮอร์โมนที่มีความจำเป็นในกระบวนการตกไข่ ส่วนคนที่มีน้ำหนักตัวมากเกินไปหรืออ้วนมากก็จะทำให้ร่างกายผลิตเอสโตรเจนมากเกินไป ส่งผลต่อรอบเดือน ทำให้เกิดอาการประจำเดือนขาดหรือมาไม่สม่ำเสมอได้
- การออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ใช้แรงมากเกินไป จะส่งผลต่อระดับฮอร์โมนที่เกี่ยวกับรอบเดือน เนื่องจากร่างกายสูญเสียไขมันมากเกินไปจากการออกแรงหักโหม
- มีภาวะถุงน้ำรังไข่เป็นจำนวนมาก เป็นความผิดปกติของต่อมไร้ท่อที่มักพบได้ในผู้หญิงช่วงอายุ 18-45 ปี โดยถุงน้ำเหล่านี้จะไม่ปล่อยไข่ให้ตกออกมา
- การรับประทานยาบางชนิด เช่น การกินยาคุมกำเนิด การคุมกำเนิดโดยกินยาคุมกำเนิดชนิดที่มีโปรเจสเตอโรนอย่างเดียว ยาคุมแบบฉีด หรือห่วงอนามัยชนิดที่มีฮอร์โมนอาจส่งผลให้ประจำเดือนไม่มาได้ ยารักษาความดันโลหิตสูง หรือยาเสพติดอื่น ๆ เป็นต้น
- มีปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น เป็นโรคของต่อมไทรอยด์ผิดปกติ เนื้องอกต่อมใต้สมอง โรคเกี่ยวกับมดลูก โรคของตับอ่อน หรือโรคของต่อมหมวกไต เป็นต้น ที่อาจทำให้ประจำเดือนขาดหายไปชั่วคราวได้
- เข้าสู่วัยทองหรือวัยหมดประจำเดือน ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น โดยประจำเดือนจะเริ่มขาดเมื่อเข้าสู่อายุระหว่าง 45-55 ปี หรือวัยทอง เนื่องจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนเริ่มลดลง ทำให้ไข่ตกไม่สม่ำเสมอ และเมื่อเลยวัยทองแล้วรอบเดือนจะหยุดมา
- การตั้งครรภ์ ประจำเดือนไม่มาอาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นของภาวะตั้งครรภ์ที่เป็นสาเหตุที่พบได้ทั่วไปมากที่สุด ซึ่งหากไม่แน่ใจว่าที่ประจำเดือนไม่มาจะเป็นเพราะตั้งครรภ์หรือไม่ ก็สามารถทดสอบได้ด้วยตัวเองโดยใช้ชุดตรวจครรภ์เช็กหรือพบคุณหมอเพื่อตรวจให้แน่ใจ
ถ้าสังเกตเห็นว่ามีประจำเดือนขาดหาย มีสัญญานเตือนของอาการที่เป็นไปได้จากสาเหตุเหล่านี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับตรวจวินิจฉัย เพราะหากตรวจพบว่าเป็นอาการของโรคจะได้รักษาอาการได้ทันก่อนลุกลาม หรือพบว่าเกิดจากระดับฮอร์โมนที่ไม่สมดุลก็จะได้รับการรักษาให้หายและกลับมามีประจำเดือนตามปกติได้
ประจำเดือนไม่มา กินยาอะไรดี ควรดูแลตัวเองอย่างไร?
การรักษาอาการประจำเดือนไม่มาขึ้นอยู่กับสาเหตุที่เกิดภาวะประจำเดือนขาด ซึ่งจะได้รับการรักษาที่แตกต่างกัน และการปรับพฤติกรรมก็มีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาประจำเดือนที่มาไม่ปกติได้ เช่น
- กินยาฮอร์โมนเสริม สำหรับคนที่มีอาการประจำเดือนขาดสาเหตุจากระดับฮอร์โมนที่ไม่สมดุล ผอมเกินไป อ้วนเกินไป ซึ่งเป็นสาเหตุที่ไม่ใช่ความผิดปกติที่เกี่ยวกับโรคอื่น ๆ เมื่อไปตรวจอาการแล้วในเบื้องต้นเพื่อให้ประจำเดือนมาปกติ คุณหมออาจจ่ายยาฮอร์โมนเสริมหรือฮอร์โมนสังเคราะห์ เพื่อปรับระดับฮอร์โมนให้เป็นปกติ โดยอาจให้กินยาเป็นประจำในช่วงเดียวกันของทุก ๆ เดือน ประมาณ 6 เดือน และหลังจากนั้นให้ดูว่าประจำเดือนมาได้ปกติโดยไม่จำเป็นต้องกินยาหรือไม่
- กินยาคุมกำเนิด หากมีความผิดปกติ เช่น กรณีเกิดภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ แพทย์อาจจ่ายยาคุมกำเนิดแบบเม็ด หรือยาที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพื่อช่วยรักษาอาการ หรือภาวะรังไข่เสื่อมก่อนกำหนดผู้ที่ประจำเดือนไม่มาจากสาเหตุนี้ อาจได้รับการรักษาด้วยยาคุมกำเนิดแบบเม็ดหรือกลุ่มยาฮอร์โมนทดแทน ทั้งนี้การวิธีนี้ควรได้รับคำปรึกษาจากแพทย์และทำตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เนื่องจากในบางรายอาจมีความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงจากยาคุมกำเนิดได้
- กินอาหารให้ครบถ้วนและสมดุล สำหรับผู้ที่มีภาวะประจำเดือนขาด ควรเน้นอาหารที่มีธาตเหล็กและแคลเซียม ไขมันประเภทไขมันดี เช่น ปลาแซลมอน ทูน่า อาหารเสริมที่มีกรดโฟลิก และโปรตีนที่มีไขมันต่ำ เช่น เนื้อปลา เนื้อไก่ไม่ติดมัน ควบคู่กับการกินอาหารที่มีไฟเบอร์สูง ผลไม้ที่มีวิตามิน c และมีแคโรทีน เช่น มะละกอ แครอท สับปะรด มะม่วง ที่มีปริมาณของฮอร์โมนเอสโตรเจนมาก น้ำขิง เป็นต้น หากรับประทานอาหารในปริมาณที่เหมาะสมต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน ก็จะได้รับสารอาหารครบถ้วน เพราะการขาดสารอาหารก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติได้
- ออกกำลังกายที่ไม่หนักจนเกินไป จะทำให้ระบบฮอร์โมนในร่างกายปกติขึ้น และจะทำให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ เนื่องจากการออกกำลังกายที่หักโหมหรือใช้แรงหนักมากเกินไปจะทำให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง จนเป็นสาเหตุของการมีประจำเดือนที่มักมาไม่ปกติ ไม่สม่ำเสมอหรือขาดประจำเดือน
- ดูแลน้ำหนักให้ในอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน น้ำหนักที่เปลี่ยนแปลงสามารถส่งผลกระทบต่อการมีประจำเดือนได้ การควบคุมน้ำหนักในอยู่ในเกณฑ์สุขภาพดี และ ไม่อดอาหารเพื่อให้น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว ก็จะช่วยแก้ปัญหาเพื่อให้ประจำเดือนมาเป็นปกติได้ สำหรับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับน้ำหนักตัว ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการเพื่อช่วยแนะนำหลักการกินที่ถูกต้อง เพื่อที่จะดูแลตัวเองให้มีน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
- หากิจกรรมทำเพื่อช่วยลดภาวะเครียด ความเครียดเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะประจำเดือนขาด ทุกครั้งที่เกิดความเครียด ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนบางชนิด เช่น อะดรีนาลีน ออกมามาก ซึ่งส่งผลทำให้ประจำเดือนแปรปรวน ฉะนั้นควรหาเวลาเพื่อผ่อนคลายและไม่ทำให้ตัวเองเครียดมาก เช่น ท่องเที่ยว อ่านหนังสือ ดูหนัง แช่น้ำอุ่น ทำงานอดิเรก นั่งสมาธิ ใช้เวลากับเพื่อนหรือครอบครัว หรือทำกิจกรรมตามที่ชื่นชอบ แต่ถ้าหากมีความเครียดมากจนไม่รู้สึกดีขึ้น อาจจำเป็นต้องปรึกษาคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อช่วยแก้ปัญหาอาการเครียด
- นอนพักผ่อนให้เพียงพอ การนอนดึกหรือมีชั่วโมงการนอนที่น้อยเกินไปต่อวันจะส่งผลกระทบต่อการหลั่งฮอร์โมนและการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุให้ประจำเดือนมาไม่ปกติได้ เพราะฉะนั้นควรให้ความสำคัญกับการนอนเพื่อสุขภาพที่ดีต่อร่างกาย
- สังเกตความผิดปกติร่างกาย เมื่อพบว่าเดือนนั้นประจำเดือนไม่มา ควรเริ่มจดบันทึกเพื่อดูว่าประจำเดือนเริ่มขาดหายไปหรือมาช้ากว่าวันที่เคยมา และคอยสังเกตความผิดปกติอื่น ๆ เช่น มีอาการปวดท้องผิดปกติ มีน้ำนมไหลออกมาทั้งที่ไม่ตั้งครรภ์ มีขน มีหนวดขึ้นผิดปกติหรือไม่ เป็นต้น
การมีประจำเดือนนั้นเป็นส่วนหนึ่งตามธรรมชาติของร่างกายเพศหญิง ผู้หญิงที่ถึงวัยมีประจำเดือนจึงควรสังเกตในทุกรอบเดือน ทั้งระยะห่างในแต่ละรอบ จำนวนวัน สีของประจำเดือน ปริมาณ และอาการอื่น ๆ ซึ่งภาวะประจำเดือนไม่มาอาจเกิดขึ้นได้จากสาเหตุที่ไม่รุนแรงไปจนถึงร้ายแรงมากได้ เมื่อรู้สึกว่าประจำเดือนไม่มาติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน อย่านิ่งนอนใจ ควรไปพบคุณหมอเพื่อตรวจภายในและหาสาเหตุแก้ไขและรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : www.gedgoodlife.com, www.paolohospital.com
อ่านต่อบทความที่น่าสนใจอื่น ๆ คลิก :
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่