ฝีดาษลิงติดยังไง คำถามที่ต้องการคำตอบด่วน! เมื่อไทยพบผู้ติดเชื้อ ฝีดาษลิง รายแรก โรคฝีดาษ ที่กำลังระบาดไปทั่วโลก น่ากลัวแค่ไหน เคย ปลูกฝี แล้วจะรอดไหมนะ
ฝีดาษลิงติดยังไง คำถามควรรู้เมื่อพบผู้ป่วยรายแรกในไทย!
โรคฝีดาษ โรคที่คร่าชีวิตคนไทยไปกว่า 15,000 คน เมื่อคราวระบาดครั้งใหญ่ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และในปี พ.ศ. 2523 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่าโรคฝีดาษถูกกวาดล้างจนหมดแล้ว จึงหยุดการ ปลูกฝี เพื่อป้องกันโรคนับแต่เป็นต้นนั้นมา
ฝีดาษลิง (Monkeypox) คืออะไร?
โรคไข้ฝีดาษลิง หรือ ไข้ทรพิษลิง (Monkeypox) เกิดจาก ไวรัส Othopoxvirus ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับไวรัสโรคไข้ทรพิษ (Smallpox) โดยพบเชื้อในสัตว์ตระกูลลิง และสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระรอก กระแต เป็นหลัก โดยค้นพบโรคนี้ครั้งแรกในลิง ซึ่งไปรับเชื้อมาโดยบังเอิญ จึงเป็นที่มาของชื่อโรค “ฝีดาษลิง”

โรคฝีดาษลิงแพร่ระบาดอยู่ทั่วไปในทวีปแอฟริกา จนกลายเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic disease) ซึ่งพบอัตราการเสียชีวิต 1-10% ทั้งนี้การเสียชีวิตขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ โดยสายพันธุ์หลักของโรคฝีดาษลิง แบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์หลัก คือ
- สายพันธุ์ Congo Basin พบอัตราการเสียชีวิต 10%
- สายพันธุ์ West African พบอัตราการเสียชีวิต 1%
สถานการณ์ โรคฝีดาษวานร ทั่วโลก (ข้อมูล ณ วันที่ 17 ก.ค. 65) จำนวนผู้ป่วยยืนยันทั่วโลก 12,608 ราย พบผู้ป่วยยืนยันเพิ่มขึ้นเป็น 66 ประเทศ ประเทศที่มีผู้ป่วยสูง 5 ลำดับแรก ได้แก่ สเปน 2,835 ราย เยอรมัน 1,859 ราย สหรัฐอเมริกา 1,813 ราย อังกฤษ 1,778 ราย และฝรั่งเศส 908 ราย
ฝีดาษลิง พบแล้วรายแรกในไทย!!
วันนี้ (21 กรกฎาคม 2565) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต พบผู้ป่วยสงสัยโรคฝีดาษลิง จึงส่งทีมปฏิบัติการสอบสวนควบคุมโรค (JIT) กองระบาดวิทยาและสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11 นครศรีธรรมราช ลงพื้นที่สอบสวนโรคร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2565
พบว่า ผู้ป่วยรายดังกล่าว เป็นเพศชาย สัญชาติไนจีเรีย อายุ 27 ปี มีประวัติเดินทางมาจากประเทศไนจีเรีย ให้ข้อมูลการป่วยว่าเมื่อ 1 สัปดาห์ก่อนมีไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูก มีผื่นแดง ตุ่มนูนแดง ตุ่มหนอง เริ่มจากอวัยวะเพศลามไปใบหน้า ลำตัว แขน เก็บตัวอย่างส่งตรวจหาเชื้อก่อโรค เบื้องต้นผลการตรวจ PCR พบเชื้อ Monkeypox virus โดยห้องปฏิบัติการที่คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (TRC-EIDCC)และต่อมายืนยันโดยห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ช่วงบ่ายวันที่ 19 ก.ค. 65 และทีมสอบสวนควบคุมโรครวบรวมข้อมูลการสอบสวนทั้งข้อมูลอาการทางคลินิก ข้อมูลระบาดวิทยา และข้อมูลห้องปฏิบัติการเข้าพิจารณาในคณะกรรมการวิชาการ ภายใต้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติในบ่ายวันที่ 21 กรกฎาคม 2565 ผลสรุปว่าเป็นผู้ป่วยยืนยันฝีดาษวานรที่พบในประเทศไทยเป็นครั้งแรก
ที่มา : www.bangkokbiznews.com

กระทรวงสาธารณสุข ขออย่าตื่นตระหนก!!
ขอให้ประชาชนทำความเข้าใจกับธรรมชาติของโรคนี้ อย่าตื่นตระหนก และมั่นใจได้ว่ากระทรวงสาธารณสุขมีความพร้อมในการรับมือโรคฝีดาษลิง ทั้งมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคอย่างเข้มงวด
โดยกรมควบคุมโรคได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข กรณีโรคฝีดาษลิงโดยเฉพาะ ตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2565 เพื่อติดตามสถานการณ์การระบาดอย่างใกล้ชิด ที่ผ่านมาเคยคัดกรองและส่งตรวจในผู้ป่วยที่มีอาการเข้าได้กับโรคจำนวน 19 รายซึ่งผลตรวจพบว่าไม่เป็นฝีดาษลิง
ทั้งนี้ การเฝ้าระวังผู้ป่วยฝีดาษวานร ที่คลินิกนิรนาม คลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คลินิกโรคผิวหนังและโรงพยาบาล ยังมีการตรวจคัดกรองและรายงานโรคตามนิยามผู้ป่วยสงสัยทุกราย โรคฝีดาษวานรเป็นโรคติดต่อต้องเฝ้าระวัง ตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ซึ่งแพร่โรคได้จากการสัมผัสโดยตรงกับผื่น ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนองจากผู้ป่วย จึงขอให้ประชาชนร่วมมือกันปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด
ฝีดาษลิงติดยังไง ติดง่ายเพียงแค่ฉี่กระเด็นจริงหรือ?

“ฝีดาษลิง ไม่ได้ติดกันง่ายๆ เพียงแค่โดนฉี่กระเด็นใส่ นะครับ”
ตอนนี้กระแสความกังวลเรื่อง “ฝีดาษลิง” เหมือนจะไปกันใหญ่แล้วนะครับ แน่นอนว่ามันเป็นโรคที่ถ้าเป็นขึ้นมา แล้วจะดูไม่ดีเอาเสียเลยกับการมีฝีตุ่มขึ้นเต็มตัว (เหมือนสมัยที่โรคอีสุกอีใส ยังเคยระบาดในไทย) แต่มันก็ไม่ได้จะอันตรายร้ายแรงมากนัก
โอกาสติดโรคก็ไม่ได้จะสูงมากมายอย่างโควิดนะครับ หลักๆ จะเป็นการใกล้ชิด พูดคุย คลุกคลี ใช้สิ่งของร่วมกัน สัมผัสโดนน้ำคัดหลั่งจากผู้ติดเชื้อแล้วมาเข้าสู่บาดแผลบนตัวเรา หรือเข้าไปทางปาก จมูก ตา ให้จำนวนไวรัสเข้าไปเยอะมากเพียงพอที่จะเป็นโรค .. ไม่ใช่ว่าโดนผิวปุ๊บ แล้วติดโรคปั๊บที่มา : เพจอ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์
ทำความเข้าใจก่อนตื่นตระหนก…โรคฝีดาษลิง ติดต่อได้อย่างไร?
สามารถติดต่อได้จาก
- สัตว์สู่คน สามารถติดต่อได้จากสัตว์กัดแทะทุกชนิด โดยติดต่อจากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง น้ำหนอง ตุ่มหนองของสัตว์ ผื่นสัตว์ การถูกสัตว์ติดเชื้อกัดหรือข่วน การรับประทานอาหารที่มีเนื้อสัตว์ติดเชื้อ และปรุงไม่สุก
- คนสู่คน โดยการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่งอย่างไอ จาม ผื่น ตุ่มหนอง น้ำหนอง สิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อของผู้ป่วย ซึ่งมักมาจากการใช้ของร่วมกันกับผู้ป่วย
จะแพร่ระบาดเหมือน Covid-19 ไหม!!!
สำหรับใครที่กังวลและสงสัยว่า โรคไข้ฝีดาษลิง นี้ จะกลายเป็นโรคระบาดที่เกิดการระบาดทั่วโลก (Pandemic) เหมือนกับ Covid-19 ไหม? โอกาสในกลายเป็นการระบาดใหญ่ทั่วโลกนั้นมีได้น้อยกว่า เพราะลักษณะในการแพร่เชื้อจะผ่านการสัมผัสอย่างใกล้ชิดกับผู้ป่วยเป็นหลัก มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถติดเชื้อผ่านละอองฝอยขนาดใหญ่ แต่อย่างไรก็ตามเรายังคงต้องติดตามข้อมูลข่าวสารกันอย่างใกล้ชิดต่อไป
ในแง่ของการควบคุมโรคนั้น หากเชื้อมีการแพร่ระบาดจากคนไปสู่สัตว์ จะทำให้การควบคุมโรคทำได้ยากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มสัตว์ฟันแทะที่จะกลายเป็นแหล่งสะสมเชื้อตามธรรมชาติของเชื้อไวรัสนี้อยู่แล้ว โดย ณ ข้อมูลปัจจุบัน ยังไม่พบรายงานว่า มีเชื้อไวรัสในกลุ่มสัตว์ฟันแทะ (เช่น กระรอก หนู กระแต) ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย
ชวนรู้จักรอบด้าน กับโรคฝีดาษลิง ( Monkeypox) ไปกับแพทย์หญิงวรฉัตร เรสลี อายุรแพทย์เฉพาะทางโรคติดเชื้อ รพ.ศครินทร์
ขอขอบคุณคลิปดี ๆ จาก www.sikarin.com
เคย ปลูกฝี รอดจริงหรือ?
ผู้ที่ได้รับการปลูกฝีเพื่อป้องกันฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษในอดีตมีภูมิคุ้มกันที่ช่วยป้องกันฝีดาษลิงได้ เพียงแต่ประเทศไทยเลิกปลูกฝีไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 เนื่องจากฝีดาษคนหรือไข้ทรพิษหมดไปจากโลกในขณะนั้น ดังนั้นการสังเกตว่าตนเองเคยได้รับการปลูกฝีแล้วหรือไม่สามารถสังเกตได้จากแผลเป็นบริเวณต้นแขนซ้าย ซึ่งจะมีลักษณะเป็นแผลแบนเรียบหรือมีหลุมลงไปเล็กน้อย ประกอบกับต้องสังเกตปีเกิด นั่นคือหากเกิดหลังปี พ.ศ. 2523 ยังไม่เคยได้รับการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษแน่นอน ส่วนในผู้ที่เกิดหลังปี พ.ศ. 2517 แต่ก่อนปี พ.ศ. 2523 นับเป็นช่วงก้ำกึ่งต้องตรวจดูแผลอย่างละเอียดโดยแพทย์เฉพาะทางเพื่อจะยืนยันได้ว่าเคยปลูกฝีมาแล้วหรือไม่
ที่มา : รศ.พญ. พรรณพิศ สุวรรณกูล รพ. Bangkok Hospital
วัคซีนฝีดาษลิง มีไหม ประสิทธิภาพเป็นอย่างไร?
ขณะนี้มีวัคซีนฝีดาษคนที่องค์การเภสัชกรรมผลิตเก็บไว้นานกว่า 40 ปี และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้นำมาตรวจสอบคุณภาพวัคซีน
โดยเป็นวัคซีนเชื้อเป็นเก็บในรูปผงแห้งที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส ผลิตตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 และ 2523 จำนวน 13 รุ่นการผลิต รวม 10,000 หลอด บรรจุหลอดละ 50 โดส รวมทั้งหมด 500,000 โดส
ทั้งนี้ วัคซีนดังกล่าวเป็นวัคซีนรุ่นแรกที่ผลิตจากน้ำเหลืองของสัตว์ รูปแบบการนำมาใช้โดยการหยดลงผิวหนังและใช้เข็มสะกิดผิวให้ถลอกเพื่อให้วัคซีนซึมผ่าน
โดยสถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ทำการตรวจสอบคุณภาพวัคซีนตามมาตรฐานการตรวจวัคซีนในห้องปฏิบัติการ โดยวิธี RT-PCR พบว่า วัคซีนฝีดาษ จำนวน 13 รุ่นการผลิต ยังคงมีลักษณะทางกายภาพที่ดี แต่การที่จะนำมาใช้ได้ในสภาวะฉุกเฉินนั้นจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาถึงประโยชน์และความเสี่ยงที่จะได้รับ รวมถึงวัคซีนทางเลือกที่มี ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยสำหรับผู้ได้รับวัคซีน
ที่มา : www.prachachat.net

ห่างไกล โรคระบาด กับวิธีปฎิบัติตัวป้องกันควบคุมโรคด้วยตนเอง
การป้องกันควบคุมโรคด้วยตนเองนั้น สามารถปฎิบัติตัวได้ดังต่อไปนี้
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อหรือสัตว์ป่า
- หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ
- ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์เมื่อสัมผัสกับสัตว์หรือคนที่ติดเชื้อ หรือเดินทางเข้าไปในป่า
- ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยง หรือนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศโดยไม่มีการคัดกรองโรค
- หลังกลับจากประเทศที่เป็นเขตติดโรค ต้องทำการคัดกรองและเฝ้าระวังอาการจนครบ 21 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ และแยกกักเพื่อมิให้แพร่กระจายเชื้อ
โรคฝีดาษลิงแม้ว่าจะไม่ร้ายแรง และมีความเสี่ยงในการติดเชื้อต่ำ แต่มักพบในเด็กเล็กเป็นส่วนใหญ่ พ่อแม่ผู้ปกครองจึงต้องหมั่นสังเกต และดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด รวมถึงศึกษาทำความเข้าใจกับโรคระบาดใหม่นี้ เพื่อมิให้ต้องตื่นตระหนกเกินความจำเป็นได้
ข้อมูลอ้างอิงจาก www.thansettakij.com
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่