โอมิครอนสายพันธุ์ใหม่ ติดเชื้อง่าย ไวกว่าเดิม ยังไม่มีรายงานความรุนแรง ทำให้เกิดคำถามมากมายกับการระมัดระวังตัว ต้องทำตัวอย่างไร ระวังแค่ไหน มาฟังหมอตอบกัน
โอมิครอนสายพันธุ์ใหม่ BA.4/BA.5 ต้องระวังตัวอย่างไร?
องค์กรอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้สายพันธุ์ BA.4/BA.5 เป็นสายพันธุ์ย่อยที่ต้องเฝ้าระวัง (VOC) และคาดว่าจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักของการแพร่ระบาดทั่วโลก
โอมิครอน BA.4/BA.5 ติดเชื้อง่าย ไวกว่าเดิม!!
สาเหตุที่ต้องเฝ้าระวังของสายพันธุ์ BA.4/BA.5 คือ สายพันธุ์นี้มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง L452R ซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวกันกับสายพันธุ์เดลตา (Delta) เชื้อไวรัสมีความสามารถในการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนในเซลล์ปอดได้ดี ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการปอดอักเสบในผู้ติดเชื้อ แตกต่างจากสายพันธุ์ BA.1 / BA.2 ที่เชื้อมีความสามารถในการแบ่งตัวได้ดีในเซลล์ของเยื่อบุระบบทางเดินหายใจส่วนบน
สายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5 ยังมีความสามารถในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน ดื้อต่อแอนติบอดี้ของมนุษย์ นั่นจึงเป็นสาเหตุให้เกิดการติดเชื้อซ้ำ (Re-infection) แม้ว่าจะเคยติดเชื้อหรือฉีดวัคซีนมาแล้วก็ตาม สำหรับประเทศไทยมีระบบเฝ้าระวังสายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ยังพบ BA.4 และ BA.5 ในกลุ่มผู้เดินทางจากต่างประเทศในสัดส่วนสูงกว่าผู้ติดเชื้อในประเทศ และจะมีการศึกษาในผู้ป่วยอาการหนักว่ามีความสัมพันธ์กับ 2 สายพันธุ์นี้หรือไม่
โอมิครอน BA.4 / BA.5 ทำไมต้องเฝ้าระวัง!
- แบ่งตัวเพิ่มจำนวนได้ดีในเซลล์ปอด อาจจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดปอดอักเสบ
- แพร่ระบาดได้ง่าย และรวดเร็วยิ่งขึ้นกว่าเดิม
- หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันเก่ง เคยติดเชื้อหรือฉีดวัคซีนแล้วก็ติดเชื้อซ้ำได้ (วัคซีนได้ผลน้อยลง)
จุดเด่นของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน คือ การแพร่เชื้อได้เร็ว (High transmissibility) กว่าสายพันธุ์อื่น 5 เท่า โดยอาการของโควิดสายพันธุ์ BA.4/BA.5 ไม่แตกต่างอย่างชัดเจนจากสายพันธุ์โอมิครอน
อาการของโอมิครอน BA.4/BA.5
- อาการที่เด่นชัดของสายพันธุ์นี้ จะมีอาการเจ็บคอมาก คอแห้งเหมือนมีเข็มทิ่ม และยังมีอาการอื่น ๆ ร่วม ได้แก่ อ่อนเพลีย เหนื่อย, ไอแห้ง, เจ็บคอ, ไข้, มีน้ำมูก, ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ ปวดเมื่อยตามร่างกาย และถ่ายเหลว
- อาการทางเดินหายใจ ได้แก่ หายใจถี่ และหายใจลำบาก
- อาการทางเดินอาหาร ได้แก่ อาการท้องเสีย
ข้อมูลอ้างอิงจาก www.sikarin.com
คุณหมอแนะ ดูแลตัวเองอย่างไรจาก โอมิครอนสายพันธุ์ใหม่ ในวันที่โควิดเป็นโรคประจำถิ่น!!
วัคซีน กับ โอมิครอนสายพันธุ์ใหม่
เมื่อโควิดยังคงไม่หายไป แต่ได้กลายเป็นโรคประจำถิ่นไปเสียแล้วนั้น ทำให้เรายังไม่สามารถวางใจกับเจ้าเชื้อไวรัสนี้ได้มากเท่าไหร่นัก ดังนั้นวัคซีนยังคงเป็นสิ่งจำเป็นในการช่วยป้องกัน และลดความรุนแรงเมื่อติดเชื้อได้ แต่ประสิทธิภาพของวัคซีนรุ่นเก่ายังคงประสิทธิภาพกับสายพันธุ์ใหม่นี้หรือไม่ อย่างไร
วัคซีนรุ่นเก่าที่เคยได้รับกันมาแล้ว มีความสามารถในการป้องกันการติดเชื้อรุ่นใหม่นี้ ได้เพียง 60% แต่ยังมีประสิทธิภาพมากพอในการลดความรุนแรงของโรคได้ การเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อให้มีภูมิคุ้มกันสูงมากพอยังเป็นเรื่องที่สำคัญ และมีความจำเป็น เพราะจะทำให้ช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อ และป้องกันอาการรุนแรงได้ แต่หลาย ๆ คนได้เกิดคำถามที่ว่า ควรฉีดวัคซีนกี่เข็มถึงกันตายได้กันนะ??
จากรายงานการศึกษา Efficacy of Fourth Dose of Covid-19 mRNA Vaccine against Omicron ได้ทำการทดลองให้บุคลากรทางการแพทย์สองกลุ่ม ระหว่างกลุ่มที่ได้รับวัคซีน mRNA 4 เข็ม กับ กลุ่มที่ได้รับวัคซีน mRNA 3 เข็ม มาสังเกตการติดเชื้อโอมิครอน พบว่า
- การติดเชื้อโอมิครอนของทั้งสองกลุ่มไม่ต่างกัน
- กลุ่มที่ฉีดวัคซีน mRNA เข็ม 4 กระตุ้นภูมิขึ้นเพียงเล็กน้อย
จากรายงานดังกล่าว พอจะสรุปได้ว่า ถ้าเราได้รับวัคซีน mRNA 3 เข็มขึ้นไป สามารถช่วยป้องกัน และลดความเสี่ยงไม่แตกต่างจาก 4 เข็ม ขอเน้นย้ำว่ารายงานผลดังกล่าวเป็นการนำกลุ่มทดลองที่ได้รับวัคซีน mRNA เท่านั้น แต่ในประเทศไทยมีวัคซีนทั้งแบบเชื้อตาย เช่น ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม เป็นต้น และวัคซีนแบบ mRNA เช่น ไฟเซอร์ โมเดอร์น่า เป็นต้น ดังนั้นจึงต้องคำนึงถึงวัคซีนที่ตนเองได้รับมาด้วยก่อนตัดสินใจ
ถ้าติดแล้วรักษาอย่างไร?
เนื่องจากปัจจุบัน โควิด19 ได้กลายเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว ดังนั้นการดูแลรักษาจึงมีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเล็กน้อย เน้นการรักษาให้ยาตามอาการ และขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ โดยคุณหมอได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับยาไว้ ดังนี้
ยาที่จะได้รับในการรักษาเมื่อติดเชื้อ จะประกอบไปด้วย
- ยาเพื่อรักษาตามอาการ ซึ่งยากลุ่มนี้สามารถมีติดบ้านไว้ได้ตามปกติ เพื่อบรรเทาอาการของโรคที่อาจเกิดขึ้น
- ยาประเภทที่สอง คือ ยาเพื่อรักษาเพื่อลดการเกิดปอดอักเสบ หรือลดการเสียชีวิต เป็นการรักษาเฉพาะเพื่อต่อสู้กับไวรัส ซึ่งจะเป็นยาที่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์
ยาที่ควรมีติดบ้านในช่วงโควิดระบาด!!
ในเบื้องต้นในช่วงการระบาดของสถานการณ์โควิด-19 ยาที่ควรจะมี หรือสามารถซื้อไว้ติดบ้านได้ จะเป็นยาในกลุ่มแรก คือ ยารักษาตามอาการ หรือยาเพื่อบรรเทาอาการของโรค ได้แก่
- ยาประจำตัว สำหรับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ควรวางแผนเรื่องของยาให้มียาทานต่อเนื่อง 1-2 เดือน เพื่อลดการเดินทางไปโรงพยาบาล และลดการกำเริบของโรค
- ยาพาราเซตามอล โดยให้กินยาพาราเซตามอลทันทีเมื่อมีไข้ หรือมีไข้สูงเกิน 37 องศาเซลเซียส เนื่องจากอาการโควิด-19 การมีไข้สูงอาจทำให้เกิดอันตรายได้ เช่น หัวใจเต้นเร็ว ร่างกายอ่อนเพลีย หรือร่างกายขาดน้ำ เป็นต้น ไม่แนะนำให้ใช้ยาแอสไพรินในการลดไข้ จากข้อมูลเบื้องต้นคุณหมอมักไม่แนะนำให้ใช้ยาแอสไพรินในการรักษาอาการไข้หวัดใหญ่ หรือผู้ที่มีไข้สูง โดยเฉพาะในเด็ก เพราะอาจจะเป็นการเพิ่มสาเหตุของอาการตับอักเสบมากขึ้น
- ยาฟ้าทะลายโจร เป็นยาช่วยบรรเทาอาการที่ไม่รุนแรง แต่ไม่ได้ช่วยป้องกันการป่วยจากโควิด-19 ใช้ในผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำต่อการเกิดโรครุนแรง หรือผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ใช้เมื่อเริ่มมีอาการป่วยเล็กน้อย เช่น คัดจมูก มีน้ำมูก ไม่ควรกินเกินวันละ 180 มิลลิกรัม แบ่งกินวันละ 3-4 ครั้ง ข้อควรระวัง : ไม่ควรกินเกิน 5 วัน หลังกินยาฟ้าทะลายโจรไป 3 วันหากอาการไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์ ไม่ควรกินยาฟ้าทะลายโจร ร่วมกับยาบางชนิด เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือด หรือยาลดความอ้วน ควรเลือกซื้อยาฟ้าทะลายโจรที่ผ่านการรับรองจาก อย.เท่านั้น
- ยาแก้ไอแบบเม็ด Dextromethorphan ถ้ามีอาการไอเยอะ สามารถกินได้ แต่ควรกินตามขนาดที่แพทย์ หรือเภสัชกรแนะนำ และกินเฉพาะผู้ที่ยังไม่มีอาการปอดอักเสบ เนื่องจากสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบแล้ว หลายคนจะมีอาการไอมากกว่าปกติ รวมถึงมีเสมหะจำนวนมาก ซึ่งผลิตจากถุงลมส่วนล่าง ที่พยายามจะขับออกมาเวลามีเชื้อ ดังนั้นหากมีอาการปอดอักเสบแล้ว กินยาแก้ไอลักษณะนี้ เหมือนเป็นการไปกดอาการไอมากจนเกินไป ทำให้ร่างกายจะขับเสมหะออกมาตามธรรมชาติ ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายกับร่างกายได้ **ยานี้เป็นยาเพื่อบรรเทาอาการไอเท่านั้น ไม่ได้มีผลเกี่ยวกับการที่เชื้อจะลงปอดหรือไม่
- ยาลดน้ำมูก Chlorpheniramine หรือ CPM เป็นยาเพื่อช่วยลดเสมหะ ช่วยให้หายใจสะดวกขึ้น สามารถบรรเทาอาการได้ ในคนที่มีอาการเยอะ ข้อควรระวัง : หากเป็นผู้ป่วยโรคไต หรือ โรคตับบางอย่างที่มีข้อห้ามในการใช้ก็ต้องระมัดระวัง ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น : หากใช้มากเกินไปอาจทำให้น้ำมูกแห้ง คอแห้ง ปากแห้ง หรือมีอาการง่วงซึมได้ ควรใช้เท่าที่จำเป็น หรือใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์
- ยาแก้แพ้ Fexofenadine เป็นยาที่มีฤทธิ์ช่วยลดน้ำมูก สามารถมีติดบ้านได้ แต่ให้รับประทานเท่าที่จำเป็น หรือใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์
- ผงเกลือแร่ ORS (Oral Rehydration Salts) หรือที่เรียกว่า ผงน้ำตาลเกลือแร่ (Electrolyte Powder Packet) คือ สารที่ช่วยทดแทนการสูญเสียเกลือแร่ มีคุณสมบัติในการช่วยเพิ่มพลังงาน เกลือแร่ และน้ำในร่างกาย รวมทั้งป้องกันความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจากการสูญเสียน้ำ และเกลือแร่จากอาการท้องเสีย หรือ อาเจียน ให้ชงเกลือแร่ ORS ผสมน้ำต้มสุก น้ำสะอาด จิบเรื่อยๆ ทั้งวัน (ในผู้ป่วยที่เป็นโรคไตและโรคหัวใจควรปรึกษาแพทย์ก่อน)
เป็นไปได้ว่า ที่ BA.4 และ BA.5 จะมาแทนที่สายพันธุ์อื่นได้นั้น เนื่องจากว่ามันมีความสามารถในการที่จะหลบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ที่เกิดจากการที่เคยติดเชื้อหรือจากการฉีดวัคซีน จนทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำได้ อย่างไรก็ตาม วัคซีนก็ยังเป็นเกราะป้องกันที่ดี ต่อการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจากเชื้อพวกนี้ การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นบูสเตอร์ ก็ยังมีแนวโน้มที่จะสามารถช่วยเสริมระดับภูมิคุ้มกันในร่างกาย ในการรับมือกับสายพันธุ์ย่อยใหม่นี้
สรุป เชื้อโควิดโอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 อยู่ในกลุ่มของเชื้อที่ต้องจับตามอง ว่าจะมาแทนที่สายพันธุ์ย่อยเดิม อย่าง BA.2 เมื่อไหร่ ซึ่งการคาดการณ์ที่มีอยู่ขนาดนี้ ยังไม่มีตัวชี้บ่งว่า จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดที่รุนแรง และมีผู้เสียชีวิตมาก เหมือนช่วงปีก่อน ๆ การระมัดระวัง ปฎิบัติตัวป้องกันอย่างที่เคยทำมายังคงเป็นสิ่งจำเป็น ใส่หน้ากากอนามัย รักษาระยะห่าง หมั่นล้างมือ เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้เราห่างไกลจากการเจ็บป่วยจากเชื้อไวรัสโควิด 19 ได้เป็นอย่างดี
ข้อมูลอ้างอิงจาก หมอเฉพาะทางบาทเดียว /www.bangkokbiznews.com
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่