ผู้หญิงทุกคนที่มีอายุมากกว่า 21 ปีขึ้นไป ควรจะได้รับการตรวจภายในอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อหาความผิดปกติต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตในมดลูก ปากมดลูก ฯลฯ แต่ผู้หญิงหลายคนกลับไม่ยอมไปตรวจเพราะอายหรือกลัวเจ็บ ทีมงาน Amarin Baby & Kids ขอเผย ขั้นตอนการตรวจภายใน อย่างละเอียด ให้สาว ๆ แม่ ๆ ทุกคนรู้ว่าการตรวจภายในนั้น นอกจากจะมีประโยชน์ในการป้องกันและรักษาโรคต่าง ๆ แล้ว ยังไม่น่ากลัวอย่างที่คิดเลยค่ะ
เผย! ขั้นตอนการตรวจภายใน ตรวจเลย! ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด
การตรวจภายใน (Per Vaginal Examination / Pelvic Examination) เป็นการตรวจดูอวัยวะภายในบริเวณอุ้งเชิงกรานของผู้หญิง โดยแพทย์จะมีการตรวจอวัยวะเพศหญิง ช่องคลอด ปากมดลูก มดลูก ท่อนำรังไข่ รังไข่ กระเพาะปัสสาวะ ทวารหนัก เพื่อค้นหาความผิดปกติที่อาจเป็นสัญญาณของความเจ็บป่วยหรือโรค
ตรวจภายในสำคัญอย่างไร? ไม่ได้เป็นโรคอะไรทำไมต้องตรวจ?
เพราะอวัยวะภายในระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิงมีความซับซ้อน ทำให้ไม่สามารถมองเห็นความผิดปกติได้ด้วยตาเปล่า แต่จะพบได้จากการตรวจภายในเท่านั้น การตรวจภายใน ไม่เพียงแต่ดูความปกติของปากมดลูก แต่สามารถดูความผิดปกติของอวัยวะสำคัญอื่น ๆ ได้ด้วย ได้แก่ รังไข่ ท่อนำไข่ มดลูก เยื่อบุโพรงมดลูก ปากมดลูก ช่องคลอด และอวัยวะสืบพันธุ์ส่วนนอก โดยอวัยวะเหล่านี้สามารถติดเชื้อหรือเกิดโรคได้ทุกส่วนโดยที่ไม่แสดงอาการให้เห็น เช่น โรคช็อกโกแลตซีสต์ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ มะเร็งปากมดลูก โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อย่างหนองใน เริม เอชพีวี (HPV) ดังนั้นการตรวจภายในก็จะช่วยให้ค้นพบสาเหตุ รวมทั้งป้องกันหรือรักษาโรคนั้นได้ก่อนที่จะลุกลามหรือมีอาการร้ายแรง การตรวจภายในสามารถใช้ได้ในหลายกรณี ดังนี้
- เป็นการตรวจสุขภาพทั่วไปภายในอวัยวะสืบพันธุ์ของผู้หญิง
- ตรวจหาการติดเชื้อในช่องคลอด เช่น การติดเชื้อราหรือแบคทีเรียในช่องคลอด
- หาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคหนองในแท้ โรคหนองในเทียม โรคเริม โรคพยาธิในช่องคลอดจากการติดเชื้อทริโคโมแนส (Trichomoniasis) หรือโรคติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV)
- ตรวจและหาสาเหตุของภาวะเลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก เช่น ตกขาวผิดปกติ เนื้องอกมดลูก เนื้องอกรังไข่ ภาวะมดลูกหย่อน อาการปวดบริเวณอุ้งเชิงกรานหรือบริเวณหลัง
- ตรวจเพื่อวินิจฉัยการคุมกำเนิด โดยเพื่อช่วยให้แน่ใจว่าอุปกรณ์มีความเหมาะสมในการใช้งาน เช่น การใส่ฝาครอบปากมดลูก การใส่ห่วงอนามัย
- ตรวจหาร่องรอยในกรณีการถูกล่วงละเมิดทางเพศ
- ตรวจเมื่อเริ่มตั้งครรภ์
- มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นมะเร็ง
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่