RSV การติดเชื้อที่อันตรายกับเด็ก ทารก ซ้ำยังสามารถแพร่เชื้อเป็น ไวรัส RSV ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุให้เกิดอันตรายอย่างรุนแรงได้
ไวรัส RSV ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ อันตรายไม่แพ้ RSV ในเด็ก
เชื้อไวรัสอาร์เอสวี หรือ Respiratory Syncytial Virus (RSV) เป็นเชื้อไวรัสที่มักทำให้เกิดอาการอักเสบที่เยื่อบุส่วนล่างของทางเดินหายใจ โดยเฉพาะในเด็กเล็กหรือทารก โดยจะทำให้เกิดโรคหลอดลมฝอยอักเสบหรือเกิดภาวะปอดอักเสบได้ ทั้งยังแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว
สำหรับปี 2563 นี้ มีข่าวของการแพร่ระบาด RSV อย่างต่อเนื่อง ทั้งยังส่งผลรุนแรงให้ทารกหรือเด็กเล็กมีอาการร้ายแรงถึงชีวิต โดยศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ในเพจ นพ.ยง ภู่วรวรรณ ว่า RSV มีการระบาดอย่างมากในเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี ในเด็กเล็กต่ำกว่า 5 ปีกว่า 50% ที่ป่วยขณะนี้เป็น RSV และ 20-30% เป็น Rhinovirus ทำให้มีผู้ป่วยเด็กในโรงพยาบาลมากกว่าปกติ โรงพยาบาลเอกชน หอผู้ป่วยเด็กเต็ม สำหรับการติดเชื้อส่วนใหญ่เกิดในโรงเรียนอนุบาลและสถานเลี้ยงเด็ก
แม้ว่าตัวเลขผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อ RSV จะมีจำนวนมาก แต่ผู้ใหญ่ก็ประมาทไม่ได้ เพราะเด็กเล็กหรือทารกที่ติดเชื้อสามารถแพร่ไวรัส RSV ไปยังผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุได้เช่นกัน
ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ ติดเชื้อ RSV จากเด็กได้
นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียู เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ ประจำที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ได้โพสต์ในเฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC ย้ำเตือนถึงอันตรายของการติดเชื้อ RSV ในผู้ใหญ่ โดยเล่าถึงกรณีผู้ป่วยหญิงไทยอายุ 88 ปี เป็นโรคหอบหืด ความดันโลหิตสูง ในตอนที่ทำบุญบ้าน ได้มีหลานอายุ 5 ขวบ ซึ่งเป็นหวัดเล็กน้อยมาร่วมงานเมื่อ 10 วันก่อน
อาการของผู้ป่วยหญิงรายนี้ เข้ามาโรงพยาบาลด้วยอาการไอมาก ขากเสมหะไม่ออก เหนื่อย ใน 3 วัน มีไข้ สูง 1 วัน ตรวจร่างกาย มีไข้ 39 องศาเซลเซียส ฟังปอดมีเสียงวี้ด ๆ ทั้ง 2 ข้าง เอกซเรย์ปอดปกติ หัวใจโตเล็กน้อย เจาะเลือด เม็ดเลือดขาวสูง 15,740 ได้เก็บตัวอย่างจากช่องจมูก ส่งตรวจ PCR พบเชื้อไวรัส RSV type B ส่งเสมหะเพาะเชื้อ ขึ้น Pseudomonas aeruginosa ผู้ป่วยรายนี้ติดทั้งเชื้อไวรัส RSV และแบคทีเรียในทางเดินหายใจส่วนล่าง ต้องเข้ารับการรักษาในไอซียู ให้ออกซิเจน ให้ยาปฏิชีวนะ ยาขยายหลอดลมทั้งกินและพ่น ยาสเตียรอยด์ ผู้ป่วยดีขึ้นช้า ๆ ไข้ลง อาการไอ เหนื่อยค่อย ๆ ดีขึ้น
การระบาดของเชื้อไวรัส RSV
นพ.มนูญ บอกด้วยว่า โรคติดเชื้อไวรัส RSV ที่กำลังระบาดเป็นสาเหตุสำคัญของโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจของเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 4 ปี ปกติโรค RSV จะเริ่มระบาดทุกปีตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนพฤศจิกายน แต่ปีนี้มาช้า เริ่มพบมากเดือนตุลาคม เนื่องจากมีการหยุดเรียนและมีมาตรการต่าง ๆ สำหรับรับมือกับโรคไวรัสโควิด-19
โรค RSV เมื่อหายแล้ว กลับเป็นซ้ำได้อีก เพราะภูมิคุ้มกันอยู่ได้ไม่นาน โรค RSV ยังสามารถแพร่จากเด็กเล็กให้ผู้ใหญ่และคนสูงอายุ คนที่มีโรคประจำตัว โรคปอด โรคหัวใจ ภูมิคุ้มกันต่ำ บางคนป่วยหนักถึงขั้นเสียชีวิตได้
อาการสำคัญของโรคติดเชื้อ RSV
- ไอ
- มีเสมหะ
- เหนื่อย
- คัดจมูก/น้ำมูกไหล
- ไข้ไม่สูง
- ไม่ปวดหัว
- ไม่ปวดตัว
- บางคนหายใจมีเสียงวี้ด ๆ
วิธีป้องกันการติดเชื้อ RSV
- สวมใส่หน้ากากอนามัย
- ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่อย่างถูกวิธี เช่นเดียวกับการล้างมือเพื่อป้องกันโคโรนาไวรัส 2019 (โควิด-19) หรือใช้แอลกอฮอล์เจลล้างมือก่อนเอามือมาสัมผัสกับจมูก ปาก หรือขยี้ตา
- ในเด็กเล็กต้องดูแลสุขอนามัย พ่อแม่หมั่นทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้อยู่เสมอ โดยเฉพาะลูกน้อยในวัยทารกที่ชอบอมมือ ดูดนิ้ว ต้องคอยทำความสะอาดของเล่น หรือหากออกไปข้างนอกควรล้างมือลูกบ่อย ๆ เวลาสัมผัสกับสิ่งของนอกบ้าน
- หากลูกอยู่ในวัยเรียน ถ้ามีอาการเจ็บป่วย แม้เพียงเล็กน้อยควรให้หยุดอยู่บ้าน เพื่อสังเกตอาการ เพราะการติดเชื้อไวรัส RSV ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในโรงเรียนอนุบาลและสถานเลี้ยงเด็ก
- ทำความสะอาดบ้านบ่อย ๆ เปิดบ้านให้แสงแดดเข้ามา เปิดหน้าต่างให้มีอากาศถ่ายเทอย่างสม่ำเสมอ
- เมื่อลูกหรือเด็กเล็กในครอบครัว มีอาการป่วยจากไวรัส RSV พ่อแม่ควรใส่หน้ากากอนามัย ทำความสะอาดเครื่องใช้และของเล่นให้บ่อยขึ้น
- บ้านที่มีผู้สูงอายุ หากพบว่า ลูกหลานติดเชื้อไวรัส RSV หรือแม้แต่มีคนป่วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจอยู่ในบ้าน ก็ควรแยกให้อยู่ห่างกัน แยกห้องนอน เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
โรคติดเชื้อไวรัส RSV ปัจจุบันยังไม่มียารักษา ไม่มีวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส จึงทำได้เพียงการรักษาตามอาการเท่านั้น การป้องกัน เฝ้าระวัง และอยู่ให้ห่างจากผู้ติดเชื้อ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ RSV ได้ง่าย
อ้างอิงข้อมูล : นพ.ยง ภู่วรวรรณ และ หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม