ผลการวิจัยล่าสุดจากสถาบัน จอห์น ฮอบกิ้นส์ พบว่าการถูกปลุกให้ตื่นบ่อยๆ ในระหว่างคืน เป็นอันตรายต่อสุขภาพมากกว่าการนอนหลับระยะสั้นๆ โดยไม่โดนปลุกเสียอีก
มีการทำการวิจัยกับกลุ่มตัวอย่าง เป็นชายและหญิงที่มีสุขภาพดีจำนวน 62 คน ระยะเวลาในการทำวิจัยทั้งหมด 3 คืน โดยคืนหนึ่งจะเป็นการถูกปลุกอย่างรวดเร็ว อีกคืนหนึ่งจะเป็นการเข้านอนช้ากว่าปกติ และสุดท้ายคือการนอนหลับโดยไม่บังคับให้ตื่นแต่อย่างใด
กลุ่มที่โดนปลุกทั้งหมด 8 ครั้งในหนึ่งคืน และกลุ่มที่ต้องเข้านอนดึกกว่าปกติจะมีอารมณ์ดีอยู่ในเกณฑ์ต่ำและมีอารมณ์ขุ่นมัวในเกณฑ์ที่สูง แต่เมื่อถึงคืนที่สอง กลุ่มที่โดนปลุกระหว่างคืนจะมีอารมณ์ขุ่นมัวเพิ่มขึ้นถึง 31% ในขณะที่กลุ่มที่เข้านอนดึกอารมณ์เสียเพิ่มขึ้นเพียง 12% จากคืนแรก
“เมื่อคุณถูกปลุกระหว่างคืน วงจรของการนอนจะหยุดชะงัก สมองจะไม่สามารถสร้างคลื่นความถี่ที่ช่วยในการนอนหลับอย่างที่ควรจะเป็น ทำให้ร่างกายและสมองไม่ได้รับการฟื้นฟูอย่างเต็มที่” ศาสตราจารย์แพททริค ฟินแนน ประจำศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอบกิ้นส์ กล่าว
นอกจากนี้เขายังกล่าวเพิ่มอีกว่าผลจากการทดลองชิ้นนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในกรณีของผู้ที่เป็นโรคนอนไม่หลับอีกด้วย ที่สำคัญการต้องตื่นกลางดึกบ่อยๆ นั้นยังเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของพ่อแม่มือใหม่และผู้ที่มีอาชีพเกี่ยวกับการดูแลเด็กและผู้ป่วยอีกด้วย โดยอารมณ์ซึมเศร้าก็มีผลพวงมาจากการนอนไม่พอนั่นเอง
ศาสตราจารย์ฟินแนนยังได้ทำการทดลองที่เรียกว่า โพลีซอมโนกราฟฟี (Polysomnography) เป็นการตรวจคลื่นสมองและการทำงานของร่างกายในระหว่างการนอนหลับ ทำให้พบว่ากลุ่มที่โดนขัดจังหวะการนอนจะไม่มีเรี่ยวแรง รวมทั้งความรู้สึกเป็นมิตรและเห็นอกเห็นใจผู้อื่นก็ลดต่ำลงเช่นกัน อีกทั้งการถูกปลุกติดต่อกันหลายๆ คืนนั้นจะนำมาซึ่งความเครียดสะสม และส่งผลเสียทั้งต่อสภาพจิตใจและร่างกาย
เห็นแบบนี้แล้วคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ต้องอย่าลืมใส่ใจการนอนหลับพักผ่อนของตัวเองด้วยนะคะ การขอความช่วยเหลือจากญาติและคนใกล้ชิดบ้างในบางคืนก็ช่วยได้ค่ะ คนใกล้ชิดของคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ก็ต้องเข้าใจและยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือบ้าง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในครอบครัวค่ะ
ที่มา: http://www.sciencedaily.com/releases/2015/10/151030220514.htm
ภาพจาก: Shutterstock