ห่วง! อาการ Long COVID-19 เสี่ยงเกิด โรคผมผลัด - Amarin Baby & Kids
โรคผมผลัด

ห่วง! อาการ Long COVID-19 เสี่ยงเกิด โรคผมผลัด

Alternative Textaccount_circle
event
โรคผมผลัด
โรคผมผลัด

ห่วง! อาการ Long COVID-19 เสี่ยงเกิด โรคผมผลัด

เมื่อติดเชื้อโควิด-19 ความรุนแรงของโรคตอนแสดงอาการย่อมแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับแต่ละคน และเมื่อหายจากการติดเชื้อ แต่ละคนก็จะมีการฟื้นฟูร่างกายที่ต่างกัน บางคนก็กลับมาเป็นปกติเลย แต่บางคนแม้เวลาจะผ่านไปหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนแล้ว แต่ก็ยังไม่รู้สึกแข็งแรง รู้สึกว่าร่างกายมีความผิดปกติซึ่งอาจเป็นหนึ่งในอาการของ ‘ลองโควิด’ (LONG COVID) และอาจนำไปสู่อาการผมร่วงจาก โรคผมผลัด ได้ค่ะคุณพ่อคุณแม่

รู้จักภาวะ ลองโควิด (LONG COVID)

ลองโควิด หรือ POST-COVID SYNDROME อาจมีอาการคล้าย ๆ เดิมที่เคยเป็นตอนที่ติดเชื้อโควิด-19 อยู่ หรืออาจจะเป็นอาการใหม่ที่ไม่เคยเป็นตอนที่ติดเชื้อเลยก็ได้ ผู้ติดเชื้อที่มีอาการหนัก อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวมากกว่า แต่อาการลองโควิด นี้ก็ยังสามารถเกิดได้ในผู้ติดเชื้อที่มีอาการน้อย หรือแทบไม่มีอาการเลยก็ได้ โดยอาการที่เกิดขึ้นนั้นอาจยาวนานได้ถึง 3 เดือนขึ้นไป

อาการลองโควิดที่พบมากที่สุด 10 อันดับแรก

ดร.โซเนีย วิลลาพอล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านศัลยกรรมประสาทที่โรงพยาบาลฮูสตัน สหรับอเมริกาและทีมวิจัย ได้ทำการศึกษาผู้ป่วยโควิด-19 เกือบ 48,000 ราย พบผลกระทบระยะยาวหลังหายป่วยโควิด-19 จำนวนมากโดยอาการที่พบบ่อยที่สุดเหล่านี้มีตั้งแต่ไม่รุนแรงจนถึงทำให้ร่างกายทรุดโทรม และมีผลยาวตั้งแต่หลักหลายสัปดาห์จนถึงหลักหลายเดือนหลังหายจากโควิด-19 โดยอาการที่พบมากที่สุด 10 อันดับแรกคือ

  • เหนื่อยล้าอ่อนเพลีย (58%)
  • ปวดศีรษะ (44%)
  • สมาธิสั้น (27%)
  • ผมร่วง (25%)
  • หายใจลำบาก (24%)
  • สูญเสียการรับรสชาติ (23%)
  • สูญเสียการรับกลิ่น (21%)
  • หายใจถี่ (21%)
  • ปวดตามข้อ (19%)
  • ไอ (19%)

นอกจากนี้ยังอาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรคปอด เช่น รู้สึกไม่สบายหน้าอก ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ และการเกิดพังผืดในปอด และพบปัญหาหัวใจและหลอดเลือด เช่น ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ และกล้ามเนื้อหัวใจตาย และปัญหาอื่น ๆ เช่น หูอื้อและเหงื่อออกตอนกลางคืน นักวิจัยรู้สึกประหลาดใจที่พบอาการทางระบบประสาทหลายอาการด้วย เช่น ภาวะสมองเสื่อม ซึมเศร้า วิตกกังวล และโรคย้ำคิดย้ำทำ

โรคผมผลัด (Telogen effluvium) หนึ่งในอาการ Long COVID-19

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย โดย พญ.ชินมนัส เลขวัต, รศ.นพ.รัฐพล ตวงทอง, รศ.นพ. พูลเกียรติ สุชนวณิช และ รศ.ดร.พญ. รัชต์ธร ปัญจประทีป ร่วมเผยข้อมูลโรคผมผลัดหลังจากการติดเชื้อโควิด-19 หรือ ภาวะผมร่วงหลังการติดเชื้อ พร้อมแนวทางการรักษาว่า ภาวะผมร่วงภายหลังการติดเชื้อ โควิด-19 นานเกิน 12 สัปดาห์ขึ้นไป ส่วนใหญ่เกิดจากโรคผมผลัด ซึ่งเป็นอาการ ผมร่วงมากผิดปกติ คือมากกว่า 100 เส้นต่อวัน แต่ไม่มากเกิน 50% ของผมทั้งศีรษะ

โรคผมผลัด
โรคผมผลัด ผมร่วง หนึ่งในอาการ Long COVID-19

สาเหตุของ โรคผมผลัด

เนื่องจากการเจ็บป่วยจากการติดเชื้อโควิด-19 ทำให้ร่างกายเกิดความเครียด และมีการกระตุ้นให้เกิดการอักเสบที่รากผม ซึ่งส่งผลต่อวงจรชีวิตของผม ทำให้มีการเปลี่ยนเร็วกว่าปกติ ทำให้เกิดการหลุดร่วงของเส้นผมได้มากกว่าปกติ นอกจากโรคผมผลัดแล้ว ยังมีรายงานผู้ป่วยโรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia areata) ที่เกิดขึ้นใหม่ หรือในผู้ป่วยโรคผมร่วงเป็นหย่อมที่เป็นมากอยู่แล้วมีอาการมากขึ้นภายหลังจากมีการติดเชื้อโควิด-19 เนื่องจากภาวะเครียดจากการเจ็บป่วยด้วยค่ะ

ประเภทของโรคผมผลัด

ภาวะโรคผมผลัดโดยปกติแล้วสามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิดได้แก่

  • โรคผมผลัดที่เป็นเฉียบพลัน (Acute telogen effluvium)
  • โรคผมผลัดที่เป็นเรื้อรัง (Chronic telogen effluvium)

จากการศึกษาในต่างประเทศ พบผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อโควิด-19 เกิดโรคผมผลัดหลังจากการติดเชื้อประมาณร้อยละ 25 ซึ่งใกล้เคียงกับข้อมูลของผู้ป่วยในประเทศไทยที่พบร้อยละ 23 นอกจากโรคผมผลัดหลังจากการติดเชื้อโควิด-19 โรคผมผลัดอาจเกิดได้จากสาเหตุอื่น เช่น เกิดภายหลังจากเกิดภาวะการเจ็บป่วยที่เป็นมาก มีภาวะเครียดมาก หรือการขาดสารอาหาร หรือเป็นโรคไทรอยด์หรือการรับประทานยาบางอย่าง โดยอาการอาจเป็นชั่วคราวหรือเป็นต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน

การดูแลรักษาโรคผมผลัด

การดูแลรักษาโรคผมผลัดที่สำคัญที่สุดคือ การหาสาเหตุและแก้ไขสาเหตุ ถ้ามีปัจจัยกระตุ้นอื่นนอกเหนือจากภาวะเจ็บป่วยจากการติดเชื้อโควิด-19 ก็ควรจะรักษาร่วมด้วย

  1. ถ้าผู้ป่วยเกิดภาวะผมร่วงภายหลังจากมีการติดเชื้อโควิด-19 โดยไม่มีปัจจัยอื่น โดยทั่วไป ผู้ป่วยที่มีโรคผมผลัดมักหายได้เองหลังจากสาเหตุหมดไปแล้วประมาณ 3-6 เดือน ในกรณีผู้ป่วยที่เป็นโรคผมผลัดหลังจากการติดเชื้อภายหลังการติดเชื้อโควิด-19 อาจจะหายได้เร็วกว่าที่ระยะเวลาประมาณ 2 เดือน
  2. การพรางผมบาง ช่วยทำให้ภาพลักษณ์ของผู้ป่วยดีขึ้นได้ เช่น ทรงผม, การทำสีผมหรือการใส่วิก
  3. การรักษาด้วยยาทาไมน็อกซิดิล อาจแนะนำให้ผู้ป่วยใช้ยาทา ร้อยละ 5 minoxidil solution วันละ 1-2 ครั้ง หรือร้อยละ 2 minoxidil solution วันละ 2 ครั้ง เพื่อกระตุ้นผมให้ขึ้นใหม่ โดยอาจเริ่มใช้ ตอนที่ผมเริ่มจะหยุดร่วง การทายานี้อาจทำให้เกิดผมร่วงในช่วงแรกๆ ที่ใช้ยาได้ และยังไม่จำเป็นต้องทายานี้เสมอไปในโรคผมผลัด เนื่องจาก ในภาวะนี้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นได้เองหลังสาเหตุกระตุ้นหมดไป
  4. ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาที่อาจมีส่วนทำให้ผมร่วง เช่น ยารักษาความดันโลหิตสูงชนิด Beta blockers ยารับประทานวิตามินเอและยากันเลือดแข็งตัว ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานยา ในผู้ป่วยที่รับประทานยานี้อยู่แล้วไม่ควรหยุดยาเองควรปรึกษาแพทย์ก่อน

นอกจากนี้ ควรดูแลสุขภาพให้ดีด้วย เช่น

  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • หลีกเลี่ยงความเครียด

ในกรณีผมไม่หยุดร่วงใน 6 เดือน หลังจากที่หายจากโรคติดเชื้อโควิด-19 แล้วหรือถ้าผมร่วงมากเกินร้อยละ 50 ของผมบนศีรษะหรือมีอาการผมร่วงจนหมดศีรษะอาจเป็นโรคอื่น เช่น โรคผมร่วงเป็นหย่อมที่มีอาการรุนแรง แพทย์ควรส่งต่อผู้ป่วยเพื่อการวินิจฉัยและรักษากับแพทย์เฉพาะทางเพื่อติดตามการรักษา

ขอบคุณข้อมูลจาก

แนวหน้า, โรงพยาบาลไทยนครินทร์, PPTV HD, สสส.

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

เช็กวิธีรักษา ผู้ป่วยโควิด แบ่งตามสี-สิทธิ UCEP Plus ฟรี

ติดโควิด ใช้สิทธิประกันสังคม ต้องทำยังไง?

ทำความสะอาดบ้าน อย่างไรเมื่อกลับถึงบ้านให้ปลอดโควิด19

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up