ในช่วงหน้าฝนที่เหล่าแม่บ้านต้องหลบผ้ามาตากในที่ร่มหรือต้องตากในเวลากลางคืน ทำให้ต้องเผชิญกับการตากผ้าไม่แห้ง โดยเฉพาะชุดชั้นในที่ใส่ในร่มผ้าหากนำมาใส่ทั้งที่อับชื้น ควรระมัดระวังโรค เชื้อราในช่องคลอด มีตกขาว คัน ผื่นแพ้ และอื่น ๆ ตามมาได้นะคะ
เตือนแม่! ตากผ้า ตากชุดชั้นในไม่แห้ง ระวัง เชื้อราในช่องคลอด
โดยทั่วไปแล้วเรามักตากผ้าในที่กลางแจ้งหรือที่ระบายอากาศได้ดีเพื่อให้โดนแสงแดดจากธรรมชาติทำให้ผ้าแห้ง แต่ปัญหาในช่วงหน้าฝนที่ทำให้ต้องย้ายมาตากผ้าในที่ร่ม ทำให้เสื้อผ้าไม่แห้งเกิดความอับชื้น ที่อาจก่อให้เกิดเชื้อราได้ง่าย และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรค “เชื้อราในช่องคลอด” โดยพบว่าเชื้อรากว่า 80% อยู่บนผ้าที่ตากในที่อับชื้นไม่โดนแสงแดดส่องถึง คือเชื้อราแคนดิดา อัลบิแคนส์ ที่เจริญเติบโตได้ดีในสภาวะที่อับชื้นเป็นด่าง และเป็นเชื้อที่ทำให้เกิดการอักเสบของช่องคลอด ซึ่งปกติเป็นเชื้อที่อยู่ในช่องคลอดที่ไม่ทำให้เกิดโรค แต่หากใส่ชุดชั้นในที่อับชื้นเป็นเวลานาน ๆ หรือการใส่เสื้อผ้ารัดรูป กางเกงสเตย์ที่ทำให้เกิดการเสียดสี มีความร้อน ความชื้นและเหงื่อออกมาก ก็จะทำให้เชื้อรามีปริมาณมากขึ้นจนก่อโรค ทำให้มีตกขาวร่วมกับการมีอาการคันในช่องคลอดได้ ซึ่งเป็นจุดซ่อนเร้นที่บอบบางและง่ายต่อการติดเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรีย
อาการเชื้อราในช่องคลอด
เชื้อราในช่องคลอด เป็นอาการที่พบได้บ่อยในคนที่มาตรวจภายใน และมักพบในแม่ตั้งครรภ์ประมาณ 10-30% พบได้ในผู้หญิงปกติประมาณ 10% อาการของโรคนี้มีตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงปานกลาง และอาจพบได้ในรายที่ไม่แสดงอาการใด ๆ แต่เมื่อมาตรวจภายในก็พบว่ามีเชื้อราในช่องคลอดแอบแฝงตัวอยู่ และแบบที่แสดงอาการชัดเจน สังเกตได้จากอาการผิดปกติ เช่น
- มีตกขาว ที่เป็นสีขาวครีมหรือเหลือง และลักษณะขนเป็นก้อนคล้ายนมบูด ไม่มีกลิ่น บางครั้งอาจมีลักษณะเป็นน้ำได้เช่นกัน ทั้งนี้หากมีตกขาวที่ผิดปกติจากนี้ เช่น มีสีที่แปลกไป มีกลิ่นผิดปกติ หรือมีอาการอื่นร่วม เช่น มีเลือดออก มีอาการปวดท้องแบบผิดปกติ ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุอื่นที่อาจไม่ใช่อันตรายจากเชื้อราในช่องคลอด
- มีอาการคันและระคายเคืองบริเวณช่องคลอดหรือภายในช่องคลอด ในรายที่มีอาการรุนแรงมากจะคันมาถึงบริเวณขาหนีบ มีอาการแสบ แดง มีผื่นบริเวณจุดซ่อนเร้นที่สัมผัสกับชุดชั้น่ใน และระคายเคืองอย่างรุนแรง
- มีอาการบวมบริเวณจุดซ่อนเร้น
- รู้สึกแสบร้อนขณะมีเพศสัมพันธ์หรือปัสสาวะ
ทั้งนี้แม้ภาวะการติดเชื้อราในช่องคลอดจะสามารถรักษาให้หายได้ด้วยยาหลายชนิด อาทิ ยากิน ยาเหน็บช่องคลอด ยาทาฆ่าเชื้อราหรือชนิดครีมทาในช่องคลอด แต่สำหรับคนที่มีอาการควรไปหาคุณหมอเพื่อขอคำปรึกษา และรักษาอาการที่ถูกต้องดีกว่า ไม่ควรซื้อยามาทาหรือซื้อยามารับประทานเอง เพราะหากรักษาเองไม่หายอาการจะลุกลามมากขึ้น เมื่อไปพบแพทย์ล่าช้าก็อาจใช้เวลาในการรักษานานมากขึ้นหรืออาจมีโรคอื่นแทรกซ้อนตามมาได้
เมื่อไหร่ที่ควรไปพบแพทย์
- ผู้ที่มีภาวะติดเชื้อราในช่องคลอดเป็นครั้งแรก หากสังเกตอาการดังกล่าวและไม่แน่ใจว่าเป็นเชื้อราในช่องคลอดหรือโรคอื่นที่ร้ายแรงกว่านั้น เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ หรือโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
- คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ เมื่อมีอาการควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนที่จะซื้อยามารักษาเอง
- ผู้ที่มีภาวะติดเชื้อราในช่องคลอด 4 ครั้งหรือมากกว่าต่อปี ซึ่งแพทย์อาจต้องให้ยาต้านเชื้อรานานอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำของโรค
วิธีป้องกันไม่ให้เกิด “เชื้อราในช่องคลอด”
- ดูแลความสะอาดป้องกันความอับชื้นของชุดชั้นใน การสวมใส่ชุดชั้นในที่มีความอับชื้นเป็นเวลานาน โดยเฉพาะกางเกงใน กางเกงสเตย์รัดหน้าท้องที่มีการระบายอาก่าศไม่ดี และเป็นที่กักเก็บความอับชื้นไว้มากทั้งจากเหงื่อ จากปัสสาวะที่อาจทำความสะอาดไม่เรียบร้อยบริเวณจุดซ่อนเร้น และยิ่งในช่วงหน้าฝนที่ทำให้การตากผ้าแห้งยากขึ้น ก็อาจทำให้เกิดเชื้อราที่กางเกงชั้นในได้ง่ายยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นนอกจากการทำความสะอาดชุดชั้นในกางเกงชั้นใน ควรนำผ้ามาซักผึ่งให้แห้งสนิทในที่ระบายอากาศได้ดี และควรเลือกกางเกงในที่มีเนื้อผ้าปลอดโปร่ง ผลิตจากเส้นใยธรรมชาติ เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าลินิน มีการระบายอากาศได้ดี และสวมกางเกงและกางเกงชั้นในที่ไม่รัดแน่นจนเกินไป
- ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นด้วยการใช้น้ำเปล่า ทำความสะอาดทุกครั้งในขณะอาบน้ำหรือหลังปัสสาวะเพื่อสุขอนามัยที่ดีและเช็ดให้แห้ง ในส่วนการใช้น้ำยาทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นโดยเฉพาะนั้น อาจไม่จำเป็นต้องใช้เป็นประจำ เนื่องจากในช่องคลอดมีเชื้อแบคทีเรียที่ไม่ทำให้เกิดโรคซึ่งช่วยรักษาสมดุลความเป็นกรด/ด่างอยู่ การใช้น้ำยาทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นบ่อยครั้งจะเป็นการทำลายกรดด่างในช่องคลอด และทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อราได้ง่ายขึ้น หรือบางรายอาจแพ้สารเคมีจากน้ำยาได้
- หลีกเลี่ยงการใช้นิ้วสวนเข้าไปทำความสะอาดในช่องคลอด เพราะเป็นการนำเชื้อแบคทีเรียดีที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อออกจากร่างกายและทำให้เชื้อราเข้าสู่ช่องคลอดได้ง่ายขึ้น ควรทำความสะอาดเบา ๆ ที่ผิวบริเวณจุดซ่อนเร้นภายนอกเท่านั้น
- ควรเปลี่ยนผ้าอนามัยอย่างสม่ำเสมอเมื่อมีประจำเดือน หรือหลีกเลี่ยงการใช้แผ่นอนามัยตลอดทั้งวัน เพื่อไม่ให้เกิดความอับชื้น
- รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่สมดุล เช่น โยเกิร์ตหรืออาหารเสริมที่มีแลคโตบาซิลลัส ช่วยรักษาสมดุลของความเป็นกรดด่างในช่องคลอด
- ลดการกินหวาน เนื่องจากการรับประทานอาหารที่หวานจะทำให้ร่างกายมีปริมาณน้ำตาลในเซลล์ต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งทำให้เชื้อราในช่องคลอดมีการเจริญเติบโตได้ดีเป็นพิเศษ
- ไม่จำเป็นต้องใส่ชุดชั้นในเวลานอน สวมใส่เสื้อผ้าที่โปร่งสบาย เพื่อให้จุดอับชื้นในส่วนต่าง ๆของร่างกายได้มีการระบาย
- ไม่ควรนำเสื้อผ้าหรือชุดชั้นในที่เกิดเชื้อราขึ้นกลับมาใส่ซ้ำ หมั่นตรวจดูชุดชั้นในว่ามีจุดเล็ก ๆ ดำ ๆ หรือรอยของเชื้อราหรือไม่ หากมีควรทิ้งทันที
- ปรึกษาแพทย์ในการรับประทานยาอย่างเหมาะสม การกินยาบางประเภท เช่น ยาแก้อักเสบ ยาคุมกำเนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือยาที่เกี่ยวกับการกดภูมิคุ้มกัน เช่น โรคเลือดหรือการทำเคมีบำบัด เหล่านี้จะส่งผลทำให้แบคทีเรียในช่องคลอดลดน้อยลง ทำให้สูญเสียความเป็นสมดุลในช่องคลอด ซึ่งทำให้เชื้อราเจริญเติบโตและเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อในช่องคลอดง่ายขึ้น
- ควรได้รับการตรวจภายในอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อตรวจหาการติดเชื้อในช่องคลอดหรือตรวจเพื่อสุขภาพที่ทำให้รู้ทันความผิดปกติที่อาจเป็นสัญญาณของความเจ็บป่วยหรือโรคอื่น ๆ ได้
ในช่วงฤดูฝนที่นำความอับชื้นมาจนอาจทำให้เกิดโรคเชื้อราในช่องคลอดกับคุณผู้หญิงได้ แม้จะไม่ใช่โรคร้ายและสามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยา แต่มีบางส่วนประมาณ 5-8% ที่สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ อาจเป็นเพราะการดื้อยา หรือการสวมใส่ชุดชั้นในที่มีเชื้อรา และใส่ชุดรัดรูปที่ฟิตแน่นจนเกินไป จึงเป็นเรื่องที่แม่ ๆ และในบ้านที่มีลูกสาวไม่ควรละเลยเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะส่งผลเสียต่อสุขภาพและสุขอนามัยที่ดีแล้ว ยังอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังอื่น ๆ ได้ เช่น กลาก เกลื้อน เชื้อราในเล็บ เชื้อราที่ผม ฮ่องกงฟุต ฯลฯ ที่คอยทำลายบุคลิกภาพ ทำให้หมดความมั่นใจ เนื่องจากอาการคันทำให้รำคาญในบริเวณผิวหนังและจุดซ่อนเร้น ดังนั้นการได้ดูแลทำความสะอาดเสื้อผ้าและปฏิบัติตัวตามหลักสุขอนามัยอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อราในช่องคลอดลงได้นะคะ
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : www.bumrungrad.com, www.sanook.com, www.thaibiocon.com
อ่านบทความน่าสนใจเพิ่มเติม คลิก :
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่