ข้อห้ามใช้และข้อควรระวัง
ข้อห้ามใช้:
- ห้ามให้ในเด็กที่แสดงอาการแพ้ยาหลังได้รับวัคซีน PCV ในครั้งก่อน หรือแพ้ส่วนประกอบตัวใดตัว
หนึ่งของวัคซีน - ห้ามฉีดวัคซีน PCV เข้าทางหลอดเลือด หรือเข้าภายในผิวหนัง (intradermal)
- กรณีของวัคซีน PCV10 ไม่ควรให้ในเด็กที่อายุมากกว่า 5 ปี
ข้อควรระวัง:
- ควรระมัดระวังในทารกที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ หรือมีความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด หรือผู้ที่กำลังได้รับการรักษาด้วยยาต้านการแข็งตัวของเลือด
- ควรเลื่อนการให้วัคซีน PCV ออกไป หากมีไข้สูงรุนแรงเฉียบพลัน แต่หากมีการติดเชื้อเล็กน้อย เช่น เป็นหวัด ไม่จำเป็นต้องเลื่อนการให้วัคซีนออกไป
- วัคซีนทั้ง PCV10 และ PCV13 สามารถป้องกันเชื้อ S. pneumoniae เฉพาะ Serotype ที่เป็นส่วนประกอบในวัคซีนเท่านั้น และไม่สามารถป้องกันเชื้อก่อโรคอื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุให้เกิดโรค IPD ปอดบวม หรือหูชั้นกลางอักเสบ ดังนั้น ควรอธิบายให้ผู้ปกครองเข้าใจว่า เด็กยังมีโอกาสเป็นโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส หรือเชื้อก่อโรคอื่น ๆ ได้ แม้จะฉีดวัคซีนครบถ้วน
- ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัย และความสามารถในการสร้างภูมิคุ้มกันในกลุ่มบุคคลที่มีภูมิคุ้มกันผิดปกติเช่น ผู้ที่มีโรคมะเร็ง โรคไตชนิดเนฟโฟรติคซินโดรม (Nephrotic syndrome) ทั้งนี้ แพทย์ควรพิจารณาการฉีดวัคซีนเป็นราย ๆ ไป
- ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลการให้วัคซีน PCV ในหญิงตั้งครรภ์และหญิงที่อยู่ระหว่างให้นมบุตร อาการไม่พึงประสงค์ภายหลังจากได้รับวัคซีน
คำถาม – คำตอบ เพื่อคุณพ่อคุณแม่ คลายกังวล ก่อนฉีด วัคซีน PCV
ถาม: อยากรู้ถึงประสิทธิภาพของวัคซีน PCV10 และ PCV13 ต่อการป้องกันการเกิดโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดรุกราน (IPD) และหูชั้นกลางอักเสบ (AOM) ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยเป็นการฉีดแบบ 3 เข็ม (2P+1)ที่คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคกำหนด
ตอบ:
- มาดูประสิทธิภาพของวัคซีน PCV10 ต่อการป้องกันการเกิด IPD เท่ากับ ร้อยละ 92–97
- ประสิทธิภาพของวัคซีน PCV13 ต่อการป้องกันการเกิด IPD เท่ากับ ร้อยละ 67.2–86
- มาดูประสิทธิภาพของวัคซีน PCV10 ต่อการป้องกันการเกิดหูชั้นกลางอักเสบ AOM เท่ากับ ร้อยละ 43.3
- ประสิทธิภาพของวัคซีน PCV13 ต่อการป้องกันการเกิดหูชั้นกลางอักเสบ AOM เท่ากับ ร้อยละ 86[13]
ถาม: วัคซีน PCV สามารถป้องกันสายพันธุ์ที่ไม่ได้มีอยู่ในวัคซีน (Cross protection) ได้หรือไม่
ตอบ:
วัคซีน PCV10 ที่ฉีด 3 เข็ม สามารถป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคอคัสสายพันธุ์19A ได้ร้อยละ 71
ถาม: สามารถนำวัคซีนชนิดอื่นผสมมากับวัคซีน PCV แล้วฉีดให้เด็กเพื่อเป็นการประหยัดเวลาได้หรือไม่
ตอบ: ห้ามนำวัคซีนต่างชนิดผสมรวมกันแล้วฉีด เนื่องจากอาจมีผลต่อประสิทธิภาพในการสร้างภูมิคุ้มกัน รวมทั้งอาจเกิดปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์ภายหลังรับวัคซีนได้
ถาม: การฉีดวัคซีน 3 ชนิด ต่อ 1 ครั้งของการให้บริการ โดยเฉพาะในเด็กอายุ 4 เดือนที่ต้องฉีด DTwP-HBHib(วัคซีนรวมคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน ไวรัสตับอักเสบบี และโรคจากเชื้อ Haemophilus influenzae type B), IPV (วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดฉีด) แล ะ PCV พร้อมกันในวันเดียว สามารถทำได้หรือไม่
ตอบ:
จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกที่แสดงการให้วัคซีนแต่ละชนิดในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค พบว่าประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออกมีการให้วัคซีน PCV ในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค จำนวน 4 ประเทศจากทั้งหมด 11 ประเทศ ได้แก่ บังคลาเทศ ภูฏาน เมียนมาร์ เนปาล โดยมีติมอร์-เลสเต ที่กำลังจะให้วัคซีนในแผนงานฯ และมีอินเดียและอินโดนีเซีย ที่ให้ในพื้นที่บางส่วนของประเทศ
ในสี่ประเทศดังกล่าวที่ให้วัคซีน PCV ในแผนงานฯ มีสามประเทศที่ให้วัคซีน DTwP-HB-Hib และ IPV เช่นเดียวกับประเทศไทย คือ บังคลาเทศ เมียนมาร์และเนปาล
ส่วนภูฏานให้เป็น DTaP-HB-Hib และ IPV ซึ่งมีกำหนดการให้วัคซีน ดังนี้
ประเทศสมาชิก SEAR อายุตามตารางการให้วัคซีน วัคซีน PCV วัคซีน DTwP-HB-Hib วัคซีน IPV
-
- บังคลาเทศ 6, 10, 14 สัปดาห์ 6, 10, 14 สัปดาห์ 6, 14 สัปดาห์
- เมียนมาร์ 2, 4, 6 เดือน 2, 4, 6 เดือน 4 เดือน
- เนปาล 6, 10 สัปดาห์; 9 เดือน 6, 10, 14 สัปดาห์ 6, 14 สัปดาห์
- ภูฏาน 6, 10 สัปดาห์; 9 เดือน 6, 10, 14 สัปดาห์* 14 สัปดาห์
จะเห็นว่าบังคลาเทศ เมียนมาร์และเนปาล มีตารางการให้วัคซีนที่ต้องฉีด 3 เข็มต่อ 1 ครั้งของการให้บริการเช่นเดียวกัน รวมทั้งยังมีอีกหลายประเทศในหลายภูมิภาค จึงเป็นเครื่องยืนยันว่า สามารถฉีดวัคซีนแก่เด็ก 3 เข็มต่อ 1 ครั้งของการให้บริการได้
ข้อมูลอ้างอิงจาก https://ddc.moph.go.th/https://www.bumrungrad.com/https://www.bumrungrad.com
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่