การดูแลอวัยวะเพศ ของทารกที่ส่วนของหนังหุ้มปลายยังไม่เปิดทำอย่างไร?
ไม่ต้องทำอะไร เพียงระวังอย่าให้มีการอับชื้นนานๆ จากปัสสาวะหรืออุจจาระ เพื่อป้องกันไม่ให้ผิวหนังบริเวณนี้อักเสบ อาบน้ำ หรือเช็ดตัวตามปกติ และทำความสะอาดอวัยวะส่วนนี้ไปด้วยพร้อมกัน ไม่ต้องใช้น้ำยาพิเศษใดๆ *อย่าพยายามใช้ แรงรูดเปิด หรือใช้ไม้พันสำลีเข้าไปเช็ดทำความสะอาด อาจทำให้เกิดการฉีกขาดของเยื่อบุ เกิดการติดเชื้อ อักเสบ และมีการตีบของปลายท่อปัสสาวะ/หนังหุ้มปลายตามมาได้
การดูแลอวัยวะเพศของทารก ที่สามารถรูดเปิดหนังหุ้มปลายได้แล้ว หรือทำการผ่าตัด “ขลิบ” หนังหุ้ม ปลายออกไปแล้ว ทำอย่างไร?
ไม่ต้องทำอะไรเป็นพิเศษ เพียงแค่ทุกครั้งที่อาบน้ำ หรือเช็ดตัวทำความสะอาด ให้รูดเปิดส่วนหัวของอวัยวะเพศออกมาล้าง ทำความสะอาดไปด้วยพร้อมกัน แล้วรูดปิดกลับ (ถ้าขลิบก็ไม่ต้องรูดครับ ส่วนหัวของอวัยวะเพศอยู่ภายนอกอยู่แล้ว) เมื่อ เด็กโตขึ้น สอนให้รูดเปิดมาล้างทำความสะอาดด้วยตนเองในขณะอาบน้ำเท่านี้ก็เพียงพอแล้ว
“ขลิบ” คืออะไร ทำให้ลูกดีไหม?
การขลิบหนังหุ้มปลาย คือการตัดเอาหนังส่วนนั้นออก เปิดให้ส่วนหัวของอวัยวะเพศออกสู่ภายนอก เป็นหัตถการที่ทำกันมานับพันปีตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณ อาจนับเป็นพิธีกรรมหนึ่งในกลุ่มชาติอิสลาม และยิว ที่เด็กชายทุกคนต้องผ่าน ในสหรัฐอเมริกา การขลิบหนังหุ้มปลาย เป็นการผ่าตัดที่ทำมากที่สุดเป็นอันดับ 5 กว่า 60% ของเด็กชายอเมริกัน จะได้รับการทำหัตถการนี้ ด้วยเหตุผลในเรื่องของความง่ายต่อการดูแล ส่วนในเอเชียนั้น ไม่เป็นที่นิยมนักเว้นสำหรับชาวมุสลิม
ข้อดีของการขลิบ
– ทำความสะอาดง่าย ไม่มีการหมักหมม
– เชื่อว่าทำให้อวัยวะเพศเจริญเติบโตได้ดี ไม่ถูกบีบรัด
– ลดโอกาสเกิดการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ของเด็กชายในช่วงแรกเกิดถึงหนึ่งปี จาก 1:100 เป็น 1:1000
– ในผู้ใหญ่ ช่วยลดปัญหาการหลั่งไว
– ลดโอกาสเกิดมะเร็งของอวัยวะเพศชาย และโอกาสเกิดมะเร็งปากมดลูกของคู่สมรส
ข้อเสียของการขลิบ
– เจ็บ โดยเฉพาะถ้าไม่มีการให้ยาระงับความรู้สึกที่ดี
– มีโอกาสเกิดการติดเชื้อของแผลผ่าตัด เสียเลือด หรือเกิดปลายท่อปัสสาวะตีบตามมาได้
– การรับความรู้สึกของอวัยวะเพศลดลง บางการศึกษาพบว่าอาจทำให้การแข็งตัวลดลง (แต่ในทางตรงกันข้าม ก็ลดโอกาสการหลั่งไว)
ถ้าคุณพ่อคุณแม่บางท่านที่อยากจะให้ลูกได้รับการขลิบ อาจปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลตั้งแต่แรกเกิด แต่หากไม่ใช่ความต้องการของคุณพ่อคุณแม่แล้ว…หนังหุ้มปลายแบบไหน ที่ควรพาไปพบแพทย์?
– หนังหุ้มปลายอักเสบบ่อย เกิดแผลเป็นๆ หายๆ อาจบวม แดง มีหนอง มีอาการเจ็บ
– เวลาปัสสาวะ ออกยาก ตรงหนังหุ้มปลายโป่งเป็นกระเปาะ
– มีการติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ หรือมีการโป่งของทางเดินปัสสาวะส่วนบน
– หนังหุ้มปลายปิดสนิท ปกคลุมปลายท่อปัสสาวะ
– เมื่ออวัยวะเพศแข็งตัว มีการตึงของผิวหนังคล้ายวงแหวนรัด ตรงช่วงปลายของอวัยวะเพศ เด็กอาจมีอาการเจ็บ
เป็นอย่างไรบ้างคะ ทางทีมงานหวังว่าคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังมีข้อสงสัย และเรื่องกังวลใจเกี่ยวกับปัญหาอวัยวะเพศของลูกชาย จะได้ความรู้ที่กระจ่างกันขึ้นมาบ้างนะคะ ซึ่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์เช่นนี้ ต้องขอขอบคุณ คุณหมอแมนวัฒน์ โชคสุวัฒนสกุล สูตินรีแพทย์ เจ้าของเพจเรื่องเล่าจากโรงหมอ มา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ …ด้วยความใส่ใจและห่วงใย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจคลิก
ขลิบ หรือไม่ขลิบ ให้ลูกน้อยดี?
จิ๋มเด็ก จู๋เด็ก ทำไมลูกถึงชอบจับเล่น?
ทำความสะอาดอวัยวะเพศของ “ลูกชาย”
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
คุณหมอแมนวัฒน์ โชคสุวัฒนสกุล สูตินรีแพทย์ เจ้าของเพจ “เรื่องเล่าจากโรงหมอ”