ไม่สบายทีไรกลุ้มใจทุกที กังวลว่าลูกจะติดจะป่วยตามแม่ มาดูกันว่า แม่ป่วยทำยังไงไม่ให้ติดลูก
แม่ป่วยทำยังไงไม่ให้ติดลูก ดูแลลูกยังไงให้ไม่ป่วย
คนเป็นพ่อเป็นแม่ยามเจ็บป่วยก็ไม่สบายกายอยู่แล้ว ยังต้องไม่สบายใจกลัวว่าลูกจะติดด้วย โดยเฉพาะทารกหรือเด็กเล็กที่ติดเชื้อได้ง่าย แล้วถ้าแม่หรือพ่อเกิดป่วยขึ้นมา จะดูแลลูกอย่างไรไม่ให้ติด สำหรับโรคที่พบว่าติดต่อกันได้ง่าย โดยเฉพาะคนที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย เช่น
- โรคระบบทางเดินหายใจ อาทิ ไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ติดต่อได้เมื่อผู้ป่วย ไอ จาม เชื้อจะเข้าทางเยื่อบุตาและปาก หรือหากสัมผัสปนเปื้อนกับเชื้อโรค แล้วเอามือไปขยี้ตาหรือเอาเข้าปาก ก็เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ เพราะโรคระบบทางเดินหายใจจะปนเปื้อนจากสารคัดหลั่ง เช่น เสมหะ น้ำมูก น้ำลาย และน้ำตา หากลูกอยู่ในวัยทารกหรือเด็กเล็กต้องระวังมากเป็นพิเศษ เพราะอาจลุกลามไปเป็นหลอดลมอักเสบ ไซนัสอักเสบ หรือปอดอักเสบ นอกจากนี้ ในสถานการณ์ที่มีโรคระบาดสำคัญอย่างโคโรนาไวรัส 2019 ก็ยิ่งต้องระวัง เพราะอาการป่วยอาจเริ่มต้นคล้ายกับการเป็นไข้หวัด คนที่ต้องอยู่ใกล้ชิดกับทารกหรือเด็กเล็กต้องระวังเป็นพิเศษ
- โรคระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องเสีย บางรายอาจมีอาการอาเจียน ซึ่งการติดต่อของโรคเชื้อโรคจะปนเปื้อนอยู่ในอาเจียนหรืออุจจาระ มักจะปนเปื้อนหากไม่ได้ทำความสะอาดอย่างดีพอ จึงต้องใส่ใจเรื่องการล้างมือหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง ล้างมือก่อนจับอุปกรณ์หรือของใช้สำหรับเด็ก เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรค
- โรคติดต่อทางผิวหนัง เช่น โรคอีสุกอีใส โรคงูสวัด หรือโรคที่เกิดจากเชื้อรา หากมีอาการไม่สบาย คัน หรือพบผื่นต่าง ๆ ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียด เพราะจะมีระยะของโรคที่สามารถติดต่อได้ผ่านการสัมผัส
วิธีป้องกันไม่ให้ลูกติด
- หากมีอาการไอ จาม อย่างกะทันหัน ควรหันหน้าไปทางข้อศอกเพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจาย ถ้าสารคัดหลั่งติดตามเสื้อผ้าควรรีบเปลี่ยน อาบน้ำเสียใหม่ แยกผ้าไว้ไม่ให้ปะปนกับลูก แต่ถ้ารู้ตัวว่าไอและจามบ่อย ๆ ให้สวมใส่หน้ากากอนามัยเสมอ และพยายามอยู่ให้ห่างจากลูก
- ถ้าใช้มือปิดปากระหว่างไอหรือจาม ให้รีบล้างมือทันที ใช้วิธีการล้างมือเช่นเดียวกับการล้างมือเพื่อป้องกันโควิด-19 จะช่วยให้มือสะอาดปราศจากเชื้อโรค หรือถ้าไม่มีสบู่ ไม่มีน้ำ ให้ใช้ทิชชูเปียกเช็ดก่อนแล้วล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์อีกครั้ง ส่วนทิชชู ทิชชูเปียก หรือผ้าเช็ดหน้า ถ้าปนเปื้อนสารคัดหลั่งแล้วควรทิ้งในถังขยะที่มิดชิด ส่วนผ้าเช็ดหน้าควรแยกซักให้เร็วที่สุด
- แยกห้องกับลูกเพื่อความปลอดภัย ไม่ควรนอนใกล้กัน งดการสัมผัสด้วยการจูบ หอม ไม่ว่าจะจูบที่มือ เท้า แก้ม หรือพุง น้อย ๆ ก็ห้ามเด็ดขาด เพราะเด็กอาจเอามือไปจับแล้วเอานิ้วเข้าปากได้ แต่ถ้าจำเป็นต้องอุ้มลูกควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง และหมั่นทำความสะอาดบ้าน โดยเฉพาะลูกบิดประตู ก๊อกน้ำ โทรศัพท์ ของเล่นและของใช้เด็ก
- ทำความสะอาดบ้านให้บ่อยขึ้นด้วยผลิตภัณฑ์ที่สามารถฆ่าเชื้อโรคได้ แต่ต้องปลอดภัยกับลูกน้อย คอยเปิดประตู เปิดหน้าต่าง ให้แสงแดดเข้ามา ปล่อยให้อากาศถ่ายเท เพื่อลดความอับชื้นของบ้าน
แม่ป่วยให้นมลูกได้ไหม
ในน้ำนมแม่นั้นมีสารอาหารมากมาย ทั้งยังมีภูมิคุ้มกันคอยป้องกันให้ร่างกายเจ้าตัวน้อยแข็งแรงและปลอดภัย หากแม่มีอาการเจ็บป่วยไม่สบายยังสามารถให้นมลูกได้ เพราะเชื้อโรคไม่ได้ไหลออกมาทางน้ำนม แต่ถ้าแม่เป็นโรคที่ติดต่อผ่านทางผิวหนังอาจต้องปรึกษาคุณหมออีกครั้ง แต่ถ้าเป็นอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ สามารถใส่หน้ากากอนามัยแล้วให้นมลูกได้ เพียงแต่ต้องหมั่นดูแลทำความสะอาดร่างกาย ล้างมือก่อนอุ้มหรือสัมผัสลูกเสมอ ส่วนการกินยานั้น ถ้าคุณแม่กังวลว่ายาจะผ่านน้ำนมสู่ลูกน้อยหรือไม่ สามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อเลือกยาที่เหมาะสมสำหรับแม่ให้นมได้
เลือกกินอาหารเพิ่มภูมิคุ้มกัน
การเลือกรับประทานอาหารเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน จะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ป้องกันการติดเชื้อโรคได้ง่าย หากแม่มีอาการเจ็บป่วยก็จะช่วยให้ทุเลา ทั้งยังฟื้นฟูร่างกายหลังผ่านอาการเจ็บป่วยให้ค่อย ๆ แข็งแรงขึ้นได้ โดยอาหาร ผัก ผลไม้ ที่ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน ได้แก่
- ปลา มีกรดไขมันโอเมก้า 3 และไขมันที่มีประโยชน์ ช่วยให้เซลล์เม็ดเลือดขาวทำงานได้ดีขึ้น
- ผักผลไม้ที่มีสีแดง มีสารสำคัญ คือ ไลโคปีน (Lycopene) เบตาไซซีน (Betacycin) เควอซิทิน (Quercetin) เฮสเพอริดิน (Hesperidin) และสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) เช่น พริกหยวกสีแดง มีวิตามินซีเป็นสองเท่าของผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว และผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ อุดมไปด้วยวิตามินซี ไบโอฟลาโวนอยด์และสารพฤกษเคมี ช่วยต้านอนุมูลอิสระ
- ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น ส้ม มะนาวและเกรปฟรุต อุดมด้วยวิตามินซี กระตุ้นให้ร่างกายสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาวเพื่อต่อสู้กับเชื้อโรค
- สมุนไพรไทยมากประโยชน์ อาทิ ขิง กระตุ้นภูมิคุ้มกันให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ลดอาการเจ็บคอและภาวะอักเสบ หากเจ็บคอลองจิบน้ำขิงเป็นประจำจะช่วยได้ หรือขมิ้นชัน ช่วยต่อต้านการอักเสบ สารเคอร์คูมินยังช่วยเพิ่มปริมาณและกระตุ้นการทำงานของที-เซลล์
ตัวคุณแม่เองต้องหมั่นดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ออกกำลังกายบ่อย ๆ เลือกรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ โดยเฉพาะผักผลไม้ที่เสริมสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกาย นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมาก ๆ ปฏิบัติตามคำแนะนำของหมออย่างเคร่งครัด จะช่วยให้อาการเจ็บป่วยทุเลาลงได้เร็วขึ้น
อ้างอิงข้อมูล : bumrungrad.com, nursingmoms.net และ breastfeedingthai.com
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม
วิจัยใหม่จากต่างประเทศพบ!! ไมโครพลาสติก รั่วจากขวดนม เพราะต้มก่อนใช้
ผื่นแพ้สัมผัส ลูกเป็นตุ่มแดง บวม คัน แพ้ไส้ในเบาะกันขอบเตียง