พฤติกรรมคล้ายออทิสติก หรือ ออทิสติกเทียม คืออะไร
พฤติกรรมคล้ายออทิสติกหรือในสื่อสังคมมักเรียกว่า “ออทิสติกเทียม” เป็นภาวะที่เด็กขาด “การกระตุ้น” ในการสื่อสารสองทาง จึงส่งผลให้เกิดความผิดปกติทางการสื่อสารกับผู้อื่น เนื่องจากพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูขาดการมีปฏิสัมพันธ์กับลูก เช่น ไม่พูดคุย ไม่เล่นกับลูก เป็นต้น
แต่การให้ลูกเล่นอุปกรณ์สื่อสารอย่างแท็บเล็ตและสมาร์ทโฟน ซึ่งเป็นการสื่อสารแบบ One-way Communication หรือการรับสารเพียงทางเดียว จึงส่งผลให้เด็กเกิดความผิดปกติด้านพัฒนาการทางสังคม คือ…
เด็กจะไม่ยอมสบตา ไม่ชอบมองหน้าคนอื่น ไม่สนใจมองตามเมื่อเราเรียกชื่อ ไม่สนใจผู้อื่น ไม่ชี้นิ้วสั่งหรือบอกเมื่อต้องการของที่อยากได้ มีความผิดปกติทางด้านภาษา คือ เริ่มพูดได้ช้ากว่าเด็กปกติ หรือพูดได้แต่ไม่เป็นภาษา ฟังไม่รู้เรื่อง ชอบพูดคำเดิม ๆ ซ้ำ ๆ ทั้งวัน
และท้ายที่สุดมีความผิดปกติด้านพฤติกรรม คือ ชอบอยู่ในโลกส่วนตัว มีพฤติกรรมซ้ำ ๆ นอกจากนี้ยังมีผลต่อพัฒนาการล่าช้า สมาธิสั้นเกิดจากความผิดปกติทางสมอและมีปัญหาเรื่องการควบคุมอารมณ์ นั่นคือ อยู่ไม่นิ่ง ไม่มีสมาธิทำกิจกรรมนั้น ๆ ให้สำเร็จ นั่งทำอะไรนาน ๆ ไม่ได้
ออทิสติก VS ออทิสติกเทียม
โรคออทิสติก เกิดจากความผิดปกติของสมองเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ในขณะที่อาการออทิสติกเทียม จะเกิดจาก “ขาดการกระตุ้น” เป็นหลัก และถึงแม้ว่าทั้งสองอย่างจะมีลักษณะอาการคล้ายกัน แต่เด็กที่เป็นออทิสติกเทียมหากได้รับ “การกระตุ้น” ที่เหมาะสมถูกทางในระยะเวลาสั้นๆ ก็จะสามารถกลับมาเป็นเด็กปกติได้
ในขณะที่เด็กออทิสติกยังคงมีพฤติกรรมที่ต่างจากเด็กปกติถึงแม้จะได้รับการฝึกกระตุ้นพัฒนาการแล้ว อย่างไรก็ตามเด็กที่เป็นออทิสติกหากได้รับการกระตุ้นพัฒนาการอย่างเหมาะสมก็สามารถมีพัฒนาการและพฤติกรรมที่ดีขึ้นได้อย่างมาก
√ วิธีการป้องกันให้ลูกน้อยห่างไกล ออทิสติกเทียม
1. พูดคุยกับลูกบ่อยๆ
ในกรณีสำหรับเด็กเล็กต้องพูดช้าๆ ชัดๆ เพื่อให้ลูกเรียนรู้การออกเสียงและเลียนแบบพฤติกรรมของผู้เลี้ยงดู อย่างน้อยควรคุยกับเด็กวันละ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง เพื่อให้เกิดการสื่อสารแบบ Two-way Communication โต้ตอบระหว่างกัน และให้เด็กได้เรียนรู้คำศัพท์ที่ช่วยในการสื่อสาร ตลอดจนเรียนรู้การมีปฏิสัมพันธ์และควรเปิดโอกาสให้เด็กได้เล่นกับเด็กด้วยกันเองบ้าง
2. หลีกห่างสมาร์ทโฟน
ในการเลี้ยงลูกช่วง 1.5 ขวบปีแรก ไม่ควรนำสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตมาให้เด็กเล่น ในเด็กหลัง 1.5 ขวบหากให้เล่นต้องไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน โดยหลีกเลี่ยงการให้เด็กเล่นเพียงลำพัง ขณะเดียวกันต้องมอบความรักความอบอุ่น รวมถึงเสริมสร้างทักษะด้วยการเล่นเพื่อเสริมพัฒนาการสมองและร่างกาย เช่น การต่อบล็อก ร้อยเชือก ระบายสี ปั้นแป้ง เตะบอล ขี่จักรยาน เพราะการเจริญวัยของลูกน้อยในวัยนี้เป็นดั่งช่วงขุมทรัพย์สมองเด็กที่จะเจริญเติบโตมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ และเป็นวัยแห่งการเลียนแบบ ดังนั้นของเล่นที่ดีตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมที่สุดก็คือพ่อกับแม่
ทั้งนี้หากเด็กมีพฤติกรรมที่คล้ายออทิสติก หรือออทิสติกเทียม คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวลใจ เพราะสามารถหายขาดและหายไวได้ถ้ารู้โดยเร็ว ซึ่งส่วนใหญ่เด็กที่พบว่ามีพฤติกรรมคล้ายออทิสติกถ้าทำการรักษาอย่างถูกต้อง อาการจะดีขึ้นภายในระยะเวลา 6 เดือน และกลับมาเป็นเด็กปกติได้
สำหรับคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองที่กำลังสงสัยหรือไม่แน่ใจว่าลูกเป็นออทิสติกหรือมีพฤติกรรมที่คล้าย
ออทิสติกหรือไม่ ควรนำเด็กเข้ารับการตรวจเช็กพัฒนาการกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อวินิจฉัยอาการที่ถูกต้อง และไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะวัย 5 ขวบแรกเป็นช่วงวัยที่สมองของเด็กมีพัฒนาการอย่างเต็มที่ต้องป้องกันและรีบรักษาให้ถูกวิธี
อ่านต่อ “บทความดี ๆ น่าสนใจ” คลิก!
- แชร์ประสบการณ์! ลูกติด ipad เพราะแม่ใช้เลี้ยงตั้งแต่เล็ก เสี่ยงเป็นออทิสติก
- ลูกเป็นออทิสติกเทียม เพราะดูทีวีมากเกินไป
- เรากำลังเลี้ยงลูกให้เป็น “ออทิสติกเทียม” ด้วย ทีวี แท็บเล็ต และเร่งเรียน หรือเปล่า?
- แชร์ประสบการณ์! ลูกติด ipad เพราะแม่ใช้เลี้ยงตั้งแต่เล็ก เสี่ยงเป็นออทิสติก
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.bangkokhospital.com