หมอย้ำ!ห้ามดึงมือลูกท่านี้ ทำให้ ข้อศอกหลุด งอแขนไม่ได้ - Amarin Baby & Kids
ข้อศอกหลุด งอแขนไม่ได้ ในเด็ก

หมอย้ำ!ห้ามดึงมือลูกท่านี้ ทำให้ ข้อศอกหลุด งอแขนไม่ได้

Alternative Textaccount_circle
event
ข้อศอกหลุด งอแขนไม่ได้ ในเด็ก
ข้อศอกหลุด งอแขนไม่ได้ ในเด็ก

ข้อศอกหลุด งอแขนไม่ได้ พ่อแม่ที่มีเด็กเล็กต้องระวัง หมอย้ำ!ห้ามดึงมือยกลูกขึ้น จับเพียงแขนท่อนล่างเป็นสาเหตุให้ลูกข้อศอกเคลื่อน เจ็บปวดสุดใจทั้งพ่อแม่และลูก

หมอย้ำ!ห้ามดึงมือลูกท่านี้ ทำให้ ข้อศอกหลุด งอแขนไม่ได้

ขอขอบคุณคลิปดี ๆ จาก Siriraj Channel

อุบัติเหตุใช่มีแค่บนท้องถนน!!

เมื่อพูดถึงอุบัติเหตุ พ่อแม่ที่มีลูกเล็กอาจคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว หรือบางครอบครัวอาจเพียงแต่ไประมัดระวังกับบันได จักรยาน หรือของมีคมเท่านั้น แต่รู้หรือไม่ว่า การเกิดอุบัติเหตุในเด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปีนั้น ส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมของพ่อแม่ หรือพี่เลี้ยงเด็กที่เผลอดึงแขนเด็กโดยไม่ทันระวัง เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้ลูก ข้อศอกหลุด งอแขนไม่ได้ ข้อศอกเคลื่อน จนร้องจ้าปวดแขน ทิ้งแขนมาหลายรายแล้ว

สาเหตุของข้อศอกเคลื่อนในเด็ก

พฤติกรรมสุดฮิตที่มักพบเด็กถูกพามาโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษาข้อศอกเคลื่อนนั้น เกิดจากการดึง กระชากที่แขนเด็กอย่างรุนแรง การดึงแขนนี้ก็อาจจะเป็นการดึงในตอนที่แขนเหยียดซึ่งก็มักจะเป็นจังหวะพยายามดึงมือเพื่อจูงเด็กไปคนละทางกับที่เด็กวิ่ง หรือดึงมือขึ้นเวลาเด็กจะล้ม ในบางรายอาจเกิดจากการเล่นกับลูก เช่น การดึงมือลูกขึ้นเหวี่ยงแบบชิงช้า เป็นต้น

สาเหตุที่กระดูกหลุด หรือเคลื่อนได้ง่ายเนื่องจาก เส้นเอ็นในข้อต่อของเด็กเล็ก ยังไม่มีความมั่นคงแข็งแรงเท่าผู้ใหญ่ เมื่อข้อศอกของเด็กอยู่ในท่าที่เด็กเหยียดข้อศอก และคว่ำมืออยู่ ทำให้กระดูกแขนท่อนล่างของเด็กที่มีกระดูกอยู่ 2 ชิ้น (เรียกว่า กระดูก radius และ ulnar) ชิ้นหนึ่งหลุดออกจากเส้นเอ็นที่ยึดกระดูกไว้บริเวณข้อศอก เมื่อถูกแรงกระชาก

ส่วนสาเหตุอื่นที่อาจพบได้ เช่น อุบัติเหตุลื่นล้ม หรือ เล่นอุ้มเด็กเหวี่ยงแบบชิงช้า เป็นต้น

วิธีป้องกันอุบัติเหตุที่เกิดจากพ่อแม่

  • ไม่ยกตัวเด็กขึ้นมาจากพื้นด้วยการจับที่ข้อมือ หรือจับที่แขนท่อนล่าง (ส่วนที่ติดกับข้อมือ) เพียงข้างเดียว
  • อย่ากระชากแขนเด็ก
  • แนะนำให้ยกตัวลูกที่ใต้รักแร้ หรือ จับที่บริเวณแขนท่อนบน (ส่วนที่ติดกับหัวไหล่) ที่มีกล้ามเนื้อจะปลอดภัยกว่า
  • ไม่อุ้มลูกเล่นเหวี่ยงแบบชิงช้า เพราะอาจเกิดอันตรายได้รับบาดเจ็บอย่างอื่นได้อีกด้วย

    ข้อศอกหลุด งอแขนไม่ได้ ในเด็กเล็กต้องระวัง
    ข้อศอกหลุด งอแขนไม่ได้ ในเด็กเล็กต้องระวัง

อาการแสดงภาวะข้อศอกเคลื่อนในเด็ก

  • เด็กจะร้องไห้จ้าทันที ที่ขยับแขน หรือข้อศอก
  • ไม่ยอมขยับแขน ยังขยับหัวไหล่ได้ แต่จะไม่ขยับข้อศอก เนื่องจากมีอาการเจ็บมาก
  • เด็กจะงอศอกอยู่ตลอดเวลา ไม่ยอมเหยียดศอก คว่ำมือ หรือหงายมือ
  • บางคนจะใช้มืออีกข้างใช้พยุงจับข้อศอกตลอดเวลา
  • บางรายมีอาการบวม แดงที่ข้อศอก
  • เด็กจะยังคงวิ่งเล่นได้ตามปกติ เพียงแต่ไม่ยอมใช้แขนข้างที่เป็นปัญหา ทิ้งแขน
  • ในเด็กเล็กที่ยังพูดไม่ได้ มักจะขยับแขน-ขาน้อยลง ไม่ยอมเดิม ร้องไห้ ไม่กินนม โดยอาจไม่ได้ร้องไห้งอแงตลอดเวลาถ้ากระดูกไม่ได้หักรุนแรง แต่จะร้องเวลาบริเวณที่กระดูกหักถูกจับและมีการเคลื่อนไหว

ปฐมพยาบาลอย่างไรให้ถูกวิธี เมื่อลูกข้อศอกเคลื่อน

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อเกิดอุบัติเหตุกระดูกข้อศอกเคลื่อนในเด็ก คือ การจัดให้ส่วนที่เจ็บอยู่นิ่งๆ มากที่สุด ควรหาวัสดุที่มีอยู่บริเวณใกล้เคียงมาดามอวัยวะที่เกิดอาการบาดเจ็บเอาไว้ เพื่อป้องกันการเคลื่อนของข้อและกระดูกแล้วรีบพาเด็กไปโรงพยาบาลในทันที พยายามอย่าขยับข้อศอกให้เข้าที่ด้วยตัวเองเพราะอาจทำผิดพลาดแล้วทำให้เกิดการบาดเจ็บที่ข้อศอก เส้นเอ็น เส้นเลือดบริเวณนั้นมากยิ่งขึ้น และในระหว่างทางไปพบแพทย์ ควรประคบเย็นตรงบริเวณที่เจ็บ และรักษาสภาพข้อศอกให้เคลื่อนไหวน้อยที่สุด

แนวทางการรักษา เมื่อไปพบแพทย์

หลังจากที่พ่อแม่แน่ใจแล้วว่าลูกกระดูกข้อศอกเคลื่อน หรือหลุดแน่ ๆ และได้ทำการปฐมพยาบาลเพื่อเตรียมไปพบแพทย์แล้ว แพทย์จะทำการซักประวัติ เพื่อดูว่าเด็กเคยมีประวัติการหกล้ม หรืออุบัติเหตุมาก่อนหรือไม่ และอาการเจ็บที่มาพบแพทย์นั้นรุนแรงแค่ไหน ในการวินิจฉัยมักต้องอาศัยประวัติ เพราะแพทย์จะตัดสินใจทำการเอ็กซเรย์ในรายที่มีประวัติการล้ม บาดเจ็บ หรือไม่แน่ใจว่ามีกระดูกหักหรือไม่ ถ้าประวัติชัดเจนว่าถูกดึงแขนมาเท่านั้นไม่มีอาการบาดเจ็บรุนแรง หรือสันนิษฐานว่าเด็กกระดูกหัก แพทย์ก็จะทำการดัดข้อศอกกลับเข้าที่เลยก็ได้ ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์

ดึงมือลูกท่านี้ มีโอกาส ข้อศอกหลุด งอแขนไม่ได้
ดึงมือลูกท่านี้ มีโอกาส ข้อศอกหลุด งอแขนไม่ได้

สำหรับการเอ็กซเรย์ในเด็กนั้น อาจไม่เห็นอะไรชัดเจนนัก เพราะส่วนที่เคลื่อนเป็นเอ็นยึดกระดูก ทำให้การเอ็กซเรย์ไม่พบ แต่แพทย์จะทำการเอ็กซเรย์แขนทั้งสองข้างของเด็ก เพื่อนำกระดูกมาเปรียบเทียบทั้งซ้าย และขวา ว่ามีความผิดปกติหรือไม่ พบกระดูกหักหรือไม่ เนื่องจากกระดูกของเด็กนั้นยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ทำให้ยากต่อการวินิจฉัย ดังนั้นหากคุณหมอขอเอ็กซเรย์แขนลูกทั้งสองข้างก็อย่าเพิ่งตกใจกันไป

ถึงแม้ว่าในบางรายกระดูกข้อศอกอาจขยับเข้าที่ได้เอง จนสามารถขยับแขนได้เป็นปกติ และหายเจ็บแล้วก็จริง แต่ก็ยังจำเป็นที่จะต้องพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อตรวจให้ละเอียด และเพื่อความแน่ใจว่าไม่ได้มีปัญหาอย่างอื่นร่วมด้วย โดยแพทย์มักให้อยู่สังเกตอาการต่ออีกสักพัก และคอยสังเกตการใช้มือ และแขนของลูก เพราะเด็กยังเล็กเกินกว่าจะบอกอาการตนเองได้

กระดูกหักในเด็ก!!

หากโชคร้าย เด็กไม่ได้เป็นเพียงข้อศอกเคลื่อน หรือการเคลื่อนอาจส่งผลให้กระดูกหักร่วมด้วย คุณพ่อคุณแม่ก็อย่าเพิ่งกังวลใจกันไป เรามีแนวทางการรักษาเมื่อเด็กกระดูกหักมาฝากกัน

รักษาอย่างไร เมื่อเกิดอุบัติเหตุกระดูกหักในเด็ก?

แนวทางในการรักษากระดูกหักสำหรับเด็กนั้นจะไม่ได้แตกต่างกันกับผู้ใหญ่ โดยแพทย์จะทำการจัด ดึงกระดูก หรือผ่าตัดจัดเรียงกระดูกให้เข้าที่เสียก่อน แล้วจึงใส่เฝือกหรือใส่อุปกรณ์ดามเอาไว้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกระดูกเด็กมีขนาดเล็กจึงไม่สามารถใช้อุปกรณ์ขนาดเดียวกันกับผู้ใหญ่ได้ แต่จะใช้เป็นอุปกรณ์พิเศษคล้ายลวดเหล็กมาเป็นตัวยึดไว้เพื่อให้กระดูกที่หักกลับมายึดติดกันสนิทเหมือนเดิมแทน โดยระยะเวลาในการฟื้นตัวของเด็ก กระดูกจะยึดติดเร็วกว่าผู้ใหญ่มาก เช่น เด็กแรกเกิดจะใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ แต่หากเป็นเด็กโตกว่านั้น ก็ใช้เวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์เท่านั้น ส่วนในผู้ใหญ่อาจต้องใช้เวลามากกว่า 6-8 สัปดาห์ เพื่อให้กระดูกยึดติดกันสมบูรณ์

อุบัติเหตุ ข้อศอกเคลื่อน กระดูกหัก ในเด็ก
อุบัติเหตุ ข้อศอกเคลื่อน กระดูกหัก ในเด็ก

กระดูกหักในเด็กกับผู้ใหญ่ แตกต่างกันอย่างไร?

ในความเป็นจริงแล้วไม่ว่าจะกระดูกของเด็กหรือของผู้ใหญ่ก็มีโอกาสหักได้ยากง่ายไม่ต่างกัน แต่ลักษณะของกระดูกที่หัก และบริเวณที่มีโอกาสหักนั้น ในเด็กจะมีลักษณะจำเพาะบางกรณีที่แตกต่างจากผู้ใหญ่ อาทิ กระดูกบริเวณข้อศอก และข้อมือของเด็กจะมีโอกาสหักได้ง่ายกว่า อย่างที่เรามักเห็นกันบ่อยๆ ว่า เด็กที่เล่นบ้านบอล ม้าหมุน แล้วล้มหล่นลงมาศอกกระแทกจนกระดูกหักได้ เป็นต้น นอกจากนั้นแล้ว ในแง่ของความรุนแรงจากอุบัติเหตุกระดูกหักนั้น ในเด็กจะอันตรายมากกว่า เนื่องจาก “Growth Plate” หรือ “แผ่นเยื่อเจริญเติบโตกระดูก” ยังไม่ได้ปิดสนิทเต็มที่เหมือนผู้ใหญ่ ทำให้เมื่อเกิดอุบัติเหตุกระดูกหักแล้วรักษาไม่ดี ดึงจัดรูปกระดูกได้ไม่ดี ไม่เข้าที่ในรูปแบบที่ถูกต้อง ก็จะส่งผลให้อาจเกิดภาวะกระดูกผิดรูปได้ในอนาคต

รักษาโดยแพทย์เท่านั้น หากลูกเกิดอุบัติเหตุกระดูกหักก่อน 14-16 ปี!!

เพราะกระดูกของเด็กยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ เมื่อเด็กกระดูกหัก หากรักษา และจัดรูปได้ไม่ดีจะมีโอกาสผิดรูปได้สูง โดยกระดูกที่สร้างต่อออกมาอาจจะคด เก โก่ง หรือว่าสั้นไปเลยได้ โดยกระดูกของเด็กผู้หญิงจะโตเต็มที่ตอนอายุประมาณ 14 ปี ส่วนผู้ชายจะโตเต็มที่ประมาณตอนอายุ 16 ปี ดังนั้น หากเกิดอุบัติกระดูกหักในช่วงอายุก่อน 14-16 ปี จะต้องทำการรักษาภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ต้องมีการเอกซเรย์ตรวจดูว่าแผ่นเยื่อเจริญเติบโตกระดูก หรือ Growth Plate แตกหักอย่างไร และวางแผนการรักษาให้เหมาะสมเพื่อให้กระดูกยึดติดเข้ารูปแบบปกติ และหายดีกลับมาอยู่ในภาวะที่สมบูรณ์ที่สุด ดังนั้น หากลูกเกิดอุบัติเหตุกระดูกหัก จึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำเรื่องการปฐมพยาบาลอย่างเคร่งครัด และมาปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาทันทีจึงจะเป็นผลดีกับเด็กมากที่สุด

แชร์ประสบการณ์จริง…ลูก ข้อศอกหลุด งอแขนไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องไกลตัว!!

อุทาหรณ์ ลูกข้อศอกเคลื่อน
อุทาหรณ์ ลูกข้อศอกเคลื่อน
ป้าหมอขอขอบคุณคุณแม่นกที่กรุณาแชร์ประสบการณ์เพื่อเป็นความรู้ให้กับคุณพ่อคุณแม่ท่านอื่นดังนี้ค่ะ
.
>>> บทเรียนราคาแพง..เมื่อคืนนี้เวลา 3 ทุ่มกว่า รู้สึกเสียใจที่สุด ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นกับตัวเอง ลูกชายวัยกำลังซน 2 ขวบ จะไปเปิดตู้เย็น เราก็ดึงแขนออกมาไม่ให้เปิด ลูกก็ทำตัวอ่อนแบบไม่ยอมยืน ด้วยอารมณ์ที่โมโหเลยดึงแขนลูกขึ้นมาแล้วพาไปหาพ่อเขา ลูกก็ร้องไม่หยุด เราก็นึกคงว่าเป็นธรรมดาของเด็กที่ร้องไห้งอแง ผ่านไป 10 กว่านาที ก็ยังร้องไม่หยุดเหมือนเจ็บปวดกว่าเดิม แฟนเลยบอกว่าสงสัยแขนลูกจะหลุด เรานี่ตกใจมาก..แบบว่าลูกชายยกแขนไม่ได้อยู่ในลักษณะงอ จับก็ร้อง หนักกว่าเดิม ไม่มีทีท่าว่าจะหยุด เวลานั้นได้แต่โทษตัวเอง ว่าทำอะไรลงไป ลูกต้องมาเจ็บเพราะเรา เสียใจมาก เราไม่ได้ตั้งใจ เราเลยรีบพาไปโรงพยาบาล ลูกร้องไห้ไปตลอดทาง โกรธตัวเองที่สุด 4 ทุ่มกว่าถึงโรงพยาบาล ไปที่แผนกฉุกเฉิน หมอก็เขามาดูลูกนี่ยิ่งร้องหนักกว่าเดิม เรานี่ยิ่งปวดใจมาก หมอก็ขยับแขน เสียงดังกึกๆ หมอบอกว่า บาดเจ็บบริเวณข้อศอกจริงๆ #กระดูกข้อศอกเคลื่อน !!! หมอ ได้ขยับเข้าให้แล้ว รอดูอาการสัก 20 นาที พาน้องเล่นให้อารมณ์ดีแล้ว กลับมาหาหมออีกนะคะ…เราเลยพาไปซื้อขนมที่หน้าโรงพยาบาล สังเกตุ ลูกไม่ร้องแล้ว ยกแขนขึ้นหยิบขนมได้แล้ว เรานี่ดีใจมาก..นึกว่าจะเป็นอะไรมากกว่านี้ ใจคอไม่ดีเลย นั่นจึงเป็นบทเรียนราคาแพงมาก ขอให้แม่ๆอย่าได้ทำแบบเราอีกนะ เวลาจับลูกต้องเบาๆ ขอให้เราเป็นเคสสุดท้ายเลยนะคะ อย่าให้เกิดแบบนี้อีก…เสียใจมากๆค่ะ😭😭 ฝากไว้เป็นอุทาหรณ์ค่ะ <<<
.
ป้าหมอ >>> ภาวะนี้พบได้บ่อยในเด็กเล็กกว่า 5 ขวบ เนื่องจากสรีระของกล้ามเนื้อ เอ็น และข้อศอก ยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ ง่ายต่อการเคลื่อนหลุด ถ้าขยับผิดจังหวะ มักเกิดขึ้นจากการดึงหรือยกเด็กขึ้นมาจากพื้นโดยใช้แขนหรือมือเพียงข้างเดียว ส่วนสาเหตุอื่นที่อาจพบได้ เช่น อุบัติเหตุลื่นล้ม หรือ เล่นอุ้มเด็กเหวี่ยงแบบชิงช้า
.
หากเคยเป็นแล้ว จะเป็นซ้ำได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใน 3-4 สัปดาห์ จึงต้องระวังให้มากขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว
ข้อความบางส่วนจากเพจ สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ สามารถอ่านเพิ่มเติมพร้อมสาระดี ๆ ได้ที่เพจคุณหมอ

ขอขอบคุณอุทาหรณ์ลูกข้อศอกหลุดจากคุณแม่ที่กรุณานำมาเล่าเพื่อเป็นข้อเตือนใจให้กับครอบครัวอื่นอีกครั้ง ทำให้เราเห็นได้ว่าอุบัติเหตุที่ทำให้ลูกเจ็บตัว สามารถเกิดขึ้นได้ไม่ยากเลย ในบางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจไม่ทันระวัง และไม่คิดว่าจะทำให้ลูกเจ็บ จึงฝากไว้ให้พ่อแม่ทุกคนได้คอยระวังกัน

ข้อมูลอ้างอิงจาก รพ.เปาโล / FB เพจกระดูกเด็ก / FB เพจ สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ / รพ.พญาไท

 

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

5 วิธีการ ปฐมพยาบาล ลูกกระดูกหัก

อย่าเพิ่งดัดขาลูก!โรค ขาโก่ง ในเด็กต้องรักษาห้ามดัด

เช็คด่วน!! 12 พฤติกรรมเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้า

ซน ยุกยิกตลอด สมาธิไม่ดี ระวังลูกเป็น โรคซนสมาธิสั้น

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up