ทำอย่างไรเมื่อทารกท้องเสีย?
อาการท้องเสีย เป็นกลไกการกำจัดเชื้อโรคออกจากร่างกาย ดังนั้น เมื่อเชื้อโรคถูกขับออกจากร่างกาย ก็จะทำให้ไม่สะสมจนเกิดปริมาณมากและดูดซึมเข้าระบบการไหลเวียนโลหิตของร่างกายจนเกิดปัญหาการติดเชื้อในกระแสเลือดตามมา จึงไม่ควรพยาายามให้ยาหยุดถ่าย เพราะอาจทำให้เกิดการสะสมของเชื้อโรคและสารพิษ และกระจายเชื้อออกนอกลำไส้ได้ ควรให้ลูกทานสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ เพื่อทนแทนการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ที่ออกจากร่างกาย หากลูกน้อยไม่มีอาการอาเจียนร่วมด้วย คุณแม่จะยังสามารถให้ทารกดื่มนมแม่หรือนมผงได้ตามปกติ แต่หากทารกอาเจียนและไม่สามารถดื่มนมได้ แพทย์อาจให้เด็กดื่มสารละลายอิเล็กโทรไลต์สำหรับทารก โดยการให้สารละลายน้ำตาลเกลือแร่กับทารก ควรใช้ช้อนตักป้อนทีละน้อย เพื่อช่วยลดปัญหาการอาเจียน การปฏิเสธการกิน และยังช่วยให้ดูดซึมได้ดีกว่าการให้ดูดจากขวด
สำหรับอาหารสำหรับเด็กท้องเสีย ในเด็กเล็กที่ทานนมแม่ สามารถให้ทานนมแม่หรือนมผสมต่อไปได้และควรให้ลูกดูดนมบ่อยขึ้นกว่าปกติ สำหรับเด็กที่โตแล้ว ทานอาหารเป็นหลักแล้ว ควรให้ทานอาหารที่ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก เป็นต้น
วิธีป้องกันอาการท้องเสียในเด็ก
การที่ ลูกชอบอมมือ เป็นพัฒนาการอย่างหนึ่งของทารก โดยสาเหตุที่ลูกเอามือเข้าปากเป็นเพราะ
- เป็นการสำรวจร่างกาย สิ่งแปลกใหม่ ที่อยู่รอบตัว
- เรียกร้องความสนใจ เพราะเมื่อเขาเอามือเข้าปาก แม่ก็จะหันมาสนใจเขา ดึงมือออกจากปากเขาทุกทีเลย พอเขาอยากให้แม่สนใจ เขาก็จะเอามือเขาปากอยู่บ่อยๆ เพราะลูกอยากให้แม่สนใจบ่อยๆ
- ลูกเหงา อมนิ้วแก้เบื่อ เด็กบางคน ใช้การอมนิ้ว เพื่อกล่อมให้ตัวเองหลับ
- ฟันจะขึ้น
จะเห็นได้ว่าจริง ๆ แล้วสาเหตุที่ ลูกชอบอมมือ เป็นเพราะพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็ก ดังนั้น การจะไปห้ามไม่ให้ ลูกชอบอมมือ ก็ดูจะเป็นการไปปิดกั้นพัฒนาการของลูกมากจนเกินไป แต่จะทำอย่างไรที่จะป้องกันไม่ให้ลูกท้องเสียจากการอมมือหรือเอาของเข้าปาก? ทีมงานจึงขอนำข้อมูลจาก นายแพทย์วิบูลย์ กาญจนพัฒนกุล รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ ที่ได้กล่าวไว้ว่า วิธีป้องกันท้องเสียที่ดีที่สุดคือ การรักษาความสะอาดเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าปากเด็ก โดยควรปฏิบัติ ดังนี้
- ผู้เลี้ยงเด็กต้องหมั่นล้างมือทุกครั้ง
- ก่อนจะหยิบจับอาหารหรือชงนมให้เด็กที่กินนมผสม รวมทั้งขวดนม จุกนม ต้องล้างทำความสะอาดหลังการใช้ทันทีและฆ่าเชื้อโดยการต้มจนเดือดอย่างน้อย 10 – 15 นาที
- ควรชงนมในปริมาณที่กินหมดในครั้งเดียว ถ้ายังกินไม่หมดควรมีฝาครอบจุกให้มิดชิดและไม่ควรทิ้งไว้นานเกิน 2 ชม
นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นทำความสะอาดของเล่น ของใช้ ต่าง ๆ ที่ลูกอาจจะหยิบจับเอาเข้าปากได้ เพื่อป้องกันเชื้อโรคที่อาจเข้าสู่ร่างกายของลูกได้ เพราะสิ่งเหล่านี้ หากทำเป็นประจำ นอกจากจะช่วยป้องกันโรคท้องเสียในเด็กได้ ยังสามารถป้องกันโรคติดต่อร้ายแรงอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น โรคมือ เท้า ปาก โรคไข้หวัดต่าง ๆ เป็นต้น
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
เด็กท้องเสีย อาเจียน เพราะโนโรไวรัสระบาด
เสียหลานชายวัย 1 ขวบ เพราะ โรต้าไวรัส
ระวัง! ลูกอาเจียน เสี่ยงเป็น 6 โรคร้าย
ขอบคุณข้อมูลจาก : สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, Pobpad, นมพ่อแบบเฮฟวี่
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่