ตอบทุกข้อสงสัยกับ วัคซีนโรต้า เพื่อลูกน้อย จำเป็นไหม ใครควรฉีด ผลข้างเคียงเป็นอย่างไร รวบรวมไว้พร้อมเป็นข้อมูลเพื่อการตัดสินใจว่าจะรับดีหรือไม่กันนะ
วัคซีนโรต้า จำเป็นไหม? รวมข้อมูลควรรู้ให้แม่..ก่อนตัดสินใจ!!
เรื่องของลูกไม่ว่าเรื่องไหนก็เป็นสิ่งสำคัญสำหรับพ่อแม่ทุกคน โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพด้วยแล้ว ไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากเห็นลูกต้องทนทรมานกับอาการเจ็บป่วยแม้แต่นิดเดียว การให้วัคซีนจึงเป็นทางเลือกที่มักจะเลือกใช้เป็นตัวช่วยให้ลูกน้อยห่างไกลจากอาการเจ็บป่วย แต่เป็นที่ทราบกันดีว่า วัคซีนทุกชนิดไม่สามารถให้ผลได้ 100% แถมมีผลข้างเคียงมากบ้างน้อยมากตามมาอีกต่างหาก ดังนั้นการจะตัดสินใจให้ลูกน้อยได้รับวัคซีนตัวใดบ้าง หากพ่อแม่ได้ลองหาข้อมูลเพื่อช่วยประกอบการตัดสินใจก็คงจะดีกว่า เพราะเราจะได้เลือกจากข้อเท็จจริงเพื่อประโยชน์ของลุกได้มากที่สุด ซึ่งในปัจจุบันข้อมูลต่าง ๆ ก็มีให้เราได้เลือกรับมากมาย และไม่ยากเย็นเท่าใดนัก
ไวรัสโรต้า คืออะไร ?
หลาย ๆ คนหากพูดถึงไวรัสโรต้า อาจจะทำหน้างง แต่หากเราพูดถึงอุจจาระร่วงแล้วนั้นคงร้อง “อ้อ” กันถ้วนหน้า แต่มาทำความเข้าใจกันเสียก่อนว่า คำสองคำนี้เกียวข้องกันอย่างไร ทำไมถึงต้องเรียกแยกออกมา
โรคอุจจาระร่วงเป็นโรคติดต่อที่มีอาหารและน้ำเป็นสื่อ สามารถพบได้ในทุกฤดูกาลและทุกภาคของประเทศ โดยเชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายโดยตรงผ่านการรับประทานอาหาร และดื่มน้ำหรือน้ำแข็งที่ปนเปื้อน ซึ่งหลักๆแล้วมักมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อโรต้าไวรัส (Rotavirus) และ โนโรไวรัส (Norovirus) เชื้อดังกล่าวจะพบได้ในช่วงอากาศเย็น และที่สำคัญผู้ป่วยที่เคยเป็นแล้วสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ และจะแพร่กระจายเชื้อได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการระบาดเป็นกลุ่มก้อน โดยหลังจากที่ได้รับเชื้อ ส่วนใหญ่จะมีอาการไข้ อาเจียน ท้องเสีย ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำอย่างรุนแรง ทำให้เสียน้ำและเกลือแร่ บางรายรักษาไม่ทันอาจช็อกและเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็กที่ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ ส่วนการรักษาคือการให้ยาตามอาการ เช่น ให้ยาแก้อาเจียน ให้ดื่มน้ำเกลือแร่ทดแทนการสูญเสียน้ำจากการถ่ายอุจจาระและอาเจียน หลีกเลี่ยงการให้ยาฆ่าเชื้อ เด็กเล็กไม่ต้องหยุดนมแม่ ถ้าหากอาการรุนแรง เช่น มีไข้สูง ถ่ายเป็นมูกเลือด อาเจียน ซึมและเพลียมาก ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
ข้อมูลอ้างอิงจาก กรมควบคุมโรค
จะเห็นได้ว่า ไวรัสโรต้า นั้นเป็นสาเหตุหนึ่งจากหลายสาเหตุในการก่อให้เกิดโรคอุจจาระร่วง และโรคท้องร่วงรุนแรง โรต้าเป็นเชื้อไวรัสที่มักพบในเด็กเล็ก ทำให้เกิดอาการท้องร่วง ซึ่งไวรัสโรต้า เป็นสาเหตุเกือบครึ่งหนึ่งของการที่เด็กเล็กเกิดอาการอุจจาระร่วงรุนแรงจนต้องนอนโรงพยาบาล ไวรัสนี้มีหลายสายพันธุ์ ดังนั้นจึงสามารถเป็นซ้ำได้อีก แต่การติดเชื้อครั้งหลัง ๆ อาการจะไม่รุนแรงเท่าครั้งแรก ไวรัสนี้ระบาดได้ตลอดทั้งปี และพบมากขึ้นในช่วงอากาศเย็น ฤดูหนาว
ไวรัสโรต้าในเด็ก
ที่นี้เรามาทำความเข้าใจกับเชื้อไวรัสโรต้าที่มักจะพบในเด็กเล็กกันว่า เจ้าเชื้อโรคร้ายนี้เมื่อเข้ามาในร่างกายของลูกรักแล้วจะทำอะไรกับลูกบ้าง
โรต้า ไวรัส มักพบได้ในเด็กเล็ก ซึ่งเมื่อเด็กรับเชื้อไวรัสชนิดนี้เข้าไป จะทำให้เกิดโรคท้องเสียโรต้า โดยเมื่อเด็กได้รับเชื้อไวรัสชนิดนี้เข้าไปในทางเดินอาหาร เชื้อจะทำให้เยื่อบุลำไส้เล็กบาดเจ็บ ทำให้เซลล์เยื่อบุลำไส้เล็กสร้างน้ำย่อยได้น้อยลง ทำให้การย่อยนม และอาหารลดลง การดูดซึมน้ำลดลง ขณะเดียวกันลำไส้เล็กมีการหลั่งเกินร่วมด้วย ทำให้เกิดท้องเสีย เมื่อเซลล์เยื่อบุลำไส้สร้างเสริมขึ้นมาซ่อมแซมซึ่งมักจะเกิดขึ้นใน 3-5 วัน อาการท้องเสียก็จะหายไป
ข้อมูลอ้างอิงจาก med.mahidol.ac.th
เชื้อไวรัสโรต้าเป็นสาเหตุสำคัญของโรคอุจจาระร่วงที่รุนแรงในเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะทำลายการทำงานของลำไส้เล็ก ทำให้เกิดปัญหากับการสร้างน้ำย่อยในการย่อยอาหารที่รับประทานเข้าไป รวมถึงปัญหาการดูดซึมน้ำในร่างกายอีกด้วย เมื่อเชื้อโรคเข้ามารบกวนการทำงายของระบบย่อยอาหาร จึงทำให้ร่างกายเกิดอาการดังต่อไปนี้
- มีไข้
- อาเจียน มักเกิดขึ้นในช่วงวันแรก ๆ ของการติดเชื้อ
- ท้องเสีย ถ่ายเหลวปนน้ำ ส่วนใหญ่อุจจาระมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว อาการเป็นได้นาน 3-7 วัน
- เกิดภาวะขาดน้ำ หากปล่อยไว้นานเกินไม่ได้รับการรักษาอาจช็อกถึงตายได้ ภาวะขาดน้ำเกิดขึ้นได้จากการอาเจียน และถ่ายท้อง เพราะท้องเสียรุนแรง ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำมากเกินจนเกิดภาวะขาดน้ำ ซึ่งสังเกตว่าลูกมีภาวะนี้ได้จาก ปากแห้ง ร้องไห้ไม่มีน้ำตา กระหายน้ำมาก ตาโหล กระหม่อมบุ๋ม เด็กจะซึม และปัสสาวะน้อย
วัคซีนโรต้า
- RotarixTM หยอด 2 ครั้ง เมื่ออายุ 2 และ 4 เดือน
- RotateqTM หยอด 3 ครั้ง เมื่ออายุ 2, 4, 6 เดือน
ทั้งนี้วัคซีนโดสแรกควรได้รับก่อนอายุ 15 สัปดาห์ และวัคซีนโดสสุดท้ายควรได้รับก่อนอายุ 8 เดือน
วัคซีนทั้งสองชนิดมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงไม่แตกต่างกัน โดยมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโรต้าที่รุนแรงได้ดีใกล้เคียงกันประมาณร้อยละ 85-98 วัคซีนมีความปลอดภัยสูง พบผลข้างเคียงได้น้อย เช่น ถ่ายอุจจาระเหลว อาเจียน ซึ่งอาการจะไม่รุนแรง แม้ว่าจะมีรายงานการเกิดลำไส้กลืนกันหลังจากหยอดวัคซีน แต่พบได้ในอัตราที่น้อยมากประมาณ 1-5 คนใน 100,000 ราย
ประสิทธิภาพของวัคซีนดีแค่ไหน ?
เด็กที่ได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าครบแล้ว อาจยังเกิดโรคอุจจาระร่วงจากการติดเชื้อไวรัสโรต้าได้ แต่อาการมักไม่ค่อยรุนแรง วัคซีนลดอาการท้องเสียอย่างรุนแรงจากเชื้อโรต้าไวรัสได้ 80-90% ลดการรับผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาลเนื่องจากท้องเสียได้ประมาณ 80-95% โดยรวมป้องกันท้องเสียจากเชื้อโรต้าได้ถึง 70%
อาการข้างเคียง มีอะไรบ้าง ? ควรกังวลไหม ?
การรับข้อมูลในเรื่องเกี่ยวกับอาการของโรค หรือข้อมูลทางการแพทย์ต่าง ๆ นั้น คุณพ่อคุณแม่ควรดูถึงแหล่งอ้างอิงที่มาของข้อมูลดังกล่าวด้วยว่าเป็นแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน เพราะในบางครั้งอาการวิตกจนเกินไปก็อาจทำให้เราตัดสินใจผิดพลาดได้เช่นกัน เมื่อพูดถึงอาการข้างเคียงของการรับวัคซีนโรต้า ที่เป็นที่กังวลของพ่อแม่อยู่ในขณะนี้นั้น เรามีคำตอบมาให้พิจารณา ดังนี้
อาการข้างเคียงที่พบได้หลังจากได้รับวัคซีน ได้แก่ เบื่ออาหาร อาเจียน ท้องเสีย งอแง ไข้ ส่วนอาการข้างเคียงอื่น ๆ ที่อาจพบได้บ้าง ได้แก่ ท้องอืด ปวดท้อง ผิวหนังอักเสบ อย่างไรก็ดี เด็กส่วนใหญ่มักไม่เกิดอาการข้างเคียงหลังจากได้รับวัคซีน
ข้อห้ามของการให้วัคซีนโรต้า มีอะไรบ้าง
- ห้ามให้วัคซีนในเด็กที่มีอายุเกินกว่าที่กำหนด
- ห้ามให้วัคซีนในเด็กที่มีอาการแพ้ยาหลังได้รับวัคซีนโรต้าในครั้งก่อน หรือแพ้ส่วนประกอบตัวใดตัวหนึ่งของวัคซีน
- ห้ามให้วัคซีนในเด็กที่เคยมีประวัติเป็นโรคลำไส้กลืนกัน (Intussusception) หรือเป็นโรคระบบทางเดินอาหารผิดปกติตั้งแต่กำเนิดที่ยังไม่ได้รับการรักษา เช่น Meckel diverticulum ซึ่งมีแนวโน้มที่อาจก่อให้เกิดโรคลำไส้กลืนกัน
- ห้ามให้วัคซีนในเด็กที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องชนิด Severe combined immunodeficiency (SCID) syndrome
ข้อควรระวังของการให้วัคซีนโรต้า มีอะไรบ้าง
-
หากเด็กมีไข้สูงรุนแรงเฉียบพลัน หรือมีอาการท้องเสียหรืออาเจียน ควรเลื่อนการให้วัคซีนออกไป
-
ในกรณีทารกที่เป็นโรคระบบทางเดินอาหาร ควรให้วัคซีนโรต้าด้วยความระมัดระวัง โดยอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์
-
ไม่แนะนำให้ใช้วัคซีนนี้ในเด็กโต ผู้ใหญ่ หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร
ข้อมูลอ้างอิงจาก www.bumrungrad.com
เมื่อคำนึงถึงประโยชน์จากวัคซีนในการป้องกันโรคแล้ว ถือว่าสูงกว่าเมื่อเทียบกับผลข้างเคียงที่พบได้น้อยมาก องค์การอนามัยโลกจึงแนะนำว่า เด็กเล็กทุกคนควรได้รับการหยอดวัคซีนนื้ตั้งแต่อายุ 2 เดือน โดยให้พร้อมกับวัคซีนอื่น ๆ ตามวัย
ข้อมูลอ้างอิงจาก สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่