RSV อาการ เป็นแบบไหน ติดเชื้อ RSV โรคนี้ป้องกันได้ไหม ทำไมทารก เด็กเล็กเป็น ถึงได้อันตราย
กลับมาตามนัด RSV อาการ แบบนี้ ลูกเป็นแน่!
ฤดูที่ RSV ระบาดกลับมาอีกครั้ง
ปลายฝนต้นหนาวทีไร หนึ่งในโรคยอดฮิตที่เด็กเป็นกันบ่อยก็คือ RSV โดยปีนี้ เริ่มมาส่งสัญญาณเตือนกันบ้างแล้ว แต่ปี 2020 แตกต่างจากทุกปี เพราะปีนี้มีโควิด-19 ทุกครอบครัวจึงต้องระวังกันเป็นพิเศษ มาทำความรู้จัก RSV อาการ เป็นแบบไหน เพื่อสังเกตอาการของลูก ถ้าลูกมีอาการแบบนี้ อาจเป็น RSV ควรพาลูกไปหาหมอ
กลับมาตามนัด RSV โรคประจำปี ปลายฝนต้นหนาว
สัญญาณเตือนโรคร้ายประจำปีอย่าง RSV โผล่มาอีกครั้ง โดยเพจเลี้ยงลูกตามใจหมอ ได้โพสต์ถึง RSV มันมาแล้ว ตอนหนึ่งว่า วันก่อนเพื่อนหมอเด็กของพ่อหมอโพสต์ภาพนี้ขึ้นมาในไทม์ไลน์บนเฟส สารภาพตามตรง ขนลุกซู่ ‘มันมาแล้ว รึ’ ปีนี้ มาไม่ช้าไม่เร็วแต่พี่เขามาตามนัดทุกปี หวังในใจว่าเคสที่เพื่อนเจอจะเป็นแค่ sporadic case หรือการติดเชื้อประปราย ไม่ใช่โหมโรงแรกของการระบาดประจำปี #การ์ดอย่าตก แล้ว ยกการ์ดสูงขึ้นไปอีกก็ดี
หมอวิน เจ้าของเพจเลี้ยงลูกตามใจหมอ ยังฝากเตือนพ่อแม่ที่มีลูกเล็ก ๆ ด้วย เพราะว่า โรคนี้เป็นอันตรายมากสำหรับเด็กเล็กอายุมากกว่า 2 ปี เสี่ยงต่ออาการรุนแรง ซ้ำยังไม่มียารักษาเฉพาะ และไม่มีวัคซีนป้องกันด้วย
เครดิต : https://www.facebook.com/SpoiledPediatrician
โรคร้ายจากไวรัส RSV
ที่เรียก ๆ กันว่า RSV แท้จริงแล้ว ชื่อ RSV นั้นเป็นชื่อเชื้อไวรัส Respiratory syncytial virus เมื่อร่างกายเจอกับเชื้อร้ายตัวนี้ จะส่งผลต่อการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง ได้แก่ หลอดลม หลอดลมส่วนปลาย และถุงลม
องค์การอนามัยโลก (WHO) ประมาณการว่า จะพบเด็กทั่วโลกเสียชีวิตจากการติดเชื้อ RSV ถึงปีละ 160,000 ราย โดยมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีทั่วโลก ติดเชื้อไวรัส RSV 33.8 ล้านคน
โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี
กรมควบคุมโรคระบุว่า ในประเทศไทยมักจะพบเชื้อไวรัสอาร์เอสวีได้บ่อยในฤดูฝนและฤดูหนาว ซึ่งข้อมูลจากการเฝ้าระวังเชื้อก่อโรคปอดอักเสบรุนแรงใน 30 โรงพยาบาลของประเทศไทย ระหว่างปี 2555-2559 พบว่า โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี ตรวจพบเชื้อมากในกลุ่มเด็ก และพบได้บ่อยในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี รองลงมาได้แก่ กลุ่มเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี โดยมีอาการปอดอักเสบรุนแรง 425 ราย ติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี 187 ราย ส่วนกลุ่มผู้ใหญ่มีอาการปอดอักเสบรุนแรง 97 ราย ติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี 4 ราย หรือ 5%
ส่วนข้อมูลการเฝ้าระวังโรคย้อนหลังของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่า ในปี 2560 เชื้อ RSV ระบาดในช่วงระหว่างเดือนสิงหาคม-ตุลาคม พบผู้ป่วยที่มีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 9 แห่ง (โครงการ WHO RSV Surveillance Pilot) จำนวน 1,935 คน ติดเชื้อ RSV จำนวน 148 คน คิดเป็นร้อยละ 7.65 และในปี 2561 พบผู้ป่วยที่มีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 9 แห่ง จำนวน 968 คน ติดเชื้อ RSV จำนวน 115 คน คิดเป็นร้อยละ 11.88
กลุ่มเสี่ยงติดเชื้อไวรัส RSV
ไวรัส RSV มักจะแสดงอาการรุนแรงในเด็กเล็ก เด็กคลอดก่อนกำหนด และผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี รวมทั้งผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคปอด โรคหัวใจ หรือผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันร่างกายผิดปกติ
ติดเชื้อไวรัส RSV ได้อย่างไร
การติดต่อของเชื้อไวรัส RSV ติดต่อได้จากการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ เช่น น้ำมูกหรือเสมหะ เชื้อไวรัสสามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านทางตา จมูก ปาก และจากการสูดหายใจเอาเชื้อที่อยู่ในอากาศในรูปละอองฝอยจากการไอ จามของผู้ป่วย
ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะแสดงอาการหลังสัมผัสถูกเชื้อไวรัสในระยะเวลา 4-6 วัน และเมื่อป่วยจะสามารถแพร่กระจายเชื้อได้นาน 3-8 วัน
RSV อาการ เป็นแบบไหน
อาการแสดงที่สำคัญ หลังสัมผัสถูกเชื้อไวรัสประมาณ 4-6 วัน ผู้ติดเชื้อมักจะมีอาการ ดังนี้
- หากพบอาการเล็กน้อยไม่รุนแรง มักจะมีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ
- ถ้าอาการรุนแรงจะหายใจเร็ว หอบเหนื่อยเนื่องจากปอดอักเสบ รับประทานอาหารได้น้อย ซึมลง เด็กบางคนไข้สูงนานเป็นเวลาหลายวัน มีเสมหะมาก เด็กบางคนอาจได้รับเชื้อจนทำให้เกิดโรคหลอดลมฝอยอักเสบ หรือโรคปอดบวมได้
การวินิจฉัยว่าเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสอาร์เอสวีหรือไม่ ทำได้โดยการตรวจหาเชื้อไวรัสอาร์เอสวีจากสารคัดหลั่งในจมูก
วิธีรักษาหลังรับเชื้อไวรัสอาร์เอสวี
ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสอาร์เอสวี ทั้งยังไม่มียารักษาโดยตรง จึงทำได้เพียงรักษาตามอาการ ส่วนยาสำหรับการรักษาเชื้อไวรัสโดยเฉพาะ ยังอยู่ระหว่างการศึกษาและยังไม่มีจำหน่ายอย่างเป็นทางการในประเทศไทย
ป้องกันการติดเชื้อ RSV อย่างไร
- ล้างมือให้บ่อย เช่นเดียวกับโรคอื่น ๆ ที่ต้องดูแลรักษาความสะอาดร่างกายเป็นประจำ และหมั่นล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร สำหรับพ่อแม่ก็ต้องสอนลูกให้ล้างมืออย่างถูกวิธีเป็นประจำ นอกจากจะป้องกันการติดเชื้อ RSV ได้แล้ว ยังป้องกันโควิด-19 และโรคอื่น ๆ ได้ด้วย
- ไม่พาลูกเล็กไปอยู่ใกล้ชิดกับคนป่วย หากทราบว่ามีคนในครอบครัวป่วย ไม่ควรให้ลูกไปเจอ โดยเฉพาะเด็กที่คลอดก่อนกำหนดที่เจ็บป่วยได้ง่าย และทารกช่วงอายุ 1-2 เดือน
- หลีกเลี่ยงการพาลูกไปยังสถานที่ที่มีคนแออัด หากจะพาลูกไปเที่ยวห้างสรรพสินค้า หรือรับประทานอาหารนอกบ้าน ควรดูแลเรื่องความสะอาด และไม่อยู่ในที่ที่คนอยู่เยอะ
- ลดการจับหน้า ขยี้ตา แคะจมูก ดูดนิ้ว ดูแลลูกเล็กอย่างใกล้ชิด หากลูกรู้เรื่องแล้ว สามารถสอนเรื่องความสะอาด เพื่อให้ลูกลดพฤติกรรมเหล่านี้ได้
- ไม่ใช้ของใช้ร่วมกับผู้อื่น ไม่ใช้ของร่วมกับลูก ไม่ควรกินอาหารจานเดียวกับลูกหรือใช้ช้อนส้อมกับลูก เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ เพราะบางทีผู้ใหญ่ได้รับเชื้อบางชนิดแต่ร่างกายไม่แสดงอาการ
- ทำความสะอาดของเล่นลูกเป็นประจำ หลีกเลี่ยงการพาลูกไปเล่นของเล่นของคนอื่น โดยเฉพาะช่วงที่มีโรคระบาด หากต้องไปเล่นตามสวนสาธารณะ หรือสถานที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ ควรพิจารณาสถานที่ที่เข้มงวดเรื่องความสะอาด
- ควรให้เด็กดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอในแต่ละวัน เพราะน้ำจะช่วยให้สารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก เสมหะ ไม่เหนียวข้นเกินไป ช่วยไม่ให้ไปขัดขวางการทำงานของระบบทางเดินหายใจ
- ลูกในวัยทารกหรือเด็กเล็ก ควรกินนมแม่เพื่อรับสารอาหารสำคัญ โดยนมแม่ยังลดการติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อ RSV ลดความรุนแรงของเชื้อโรค ลดการติดเชื้อทางเดินหายใจได้ถึง 72%
ไม่ใช่แค่อาการป่วยของลูกเท่านั้น ที่พ่อแม่ควรสังเกตว่า อาการแบบนี้ใช่โรคติดเชื้อจาก RSV หรือไม่ แต่ตัวพ่อแม่และคนในครอบครัวเอง หากมีอาการเจ็บป่วยก็ควรใส่หน้ากากอนามัย ปิดปาก จมูกเวลาไอจาม หมั่นทำความสะอาดบ้าน และรีบไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของอาการป่วยให้เร็วที่สุด
อ้างอิงข้อมูล : moph.go.th
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
5 แมลงมีพิษ และสัตว์ร้ายที่มากับหน้าฝน อันตรายใกล้ตัวลูก ที่พ่อแม่ต้องระวัง!