อุบัติเหตุ สิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะกับลูกของเรา จึงขอเชิญชวนคุณพ่อคุณแม่มาเรียนรู้ วิธีการทำ CPR เพื่อช่วยชีวิตลูกหากเกิดเรื่องไม่ขาดฝันขึ้น
พ่อแม่ฝึกการทำ CPR ยิ่งช่วยลูกได้เร็ว โอกาสรอดยิ่งสูง
ทีมกองบรรณาธิการ ABK ได้มีโอกาสไปร่วมงาน Amarin Baby & Kids Fair ครั้งที่ 22 Presented By Lazada นอกจากสินค้าดี ๆ มากมายแล้ว ยังได้มีโอกาสได้ฟังเสวนาเรื่อง “การปฐมพยาบาลเบื้องต้น และ CPR (การช่วยฟื้นคืนชีพในเด็ก)” โดย แพทย์หญิงนงนภัส เก้าเอี้ยน กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบทางเดินหายใจในเด็ก และทีมพยาบาล โรงพยาบาลพระรามเก้า จึงขอนำเนื้อหาที่มีประโยชน์มาถ่ายทอดให้คุณแม่ทั้งหลายได้อ่านกันค่ะ
เมื่อลูกหกล้ม ปฐมพยาบาลอย่างไร
- ให้รีบเข้าไปประคอง และดูว่าเป็นการหกล้มอย่างรุนแรงหรือไม่
- หากพบว่ามีบาดแผล ให้ทำความสะอาดบาดแผล (ผู้ที่ทำแผลควรล้างมือให้สะอาด) เพื่อฆ่าเชื้อและกำจัดสิ่งสกปรกที่อาจติดอยู่ในบาดแผล จากนั้นให้ทายาสำหรับรักษาแผลสดและปิดด้วยพลาสเตอร์หรือผ้าพันแผล
- ถ้าเลือดไหลเยอะให้กดบาดแผล
- เพื่อป้องกันไม่ให้มีการฟกช้ำ หรือบวมอย่างรุนแรง ให้ทำการประคบเย็นบริเวณบาดแผล บริเวณฟกช้ำ หรือบวม
- ในกรณีที่มีอาการปวด ให้รับประทานยาแก้ปวด
- พักผ่อนและรอดูอาการ และสังเกตอาหารใน 24 ชั่วโมงแรก
ข้อควรระวัง
- หากเป็นการ พลัดตก หกล้มที่ไม่รุนแรงก็สามารถปฐมพยาบาล และให้พักผ่อนได้
- หากเป็นการบาดเจ็บที่รุนแรง เช่น ศีรษะ คอ ดวงตาได้รับการกระทบกระเทือน ควรรีบปฐมพยาบาลเบื้องต้นและนำส่งโรงพยาบาลทันที
- ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด แอลกอฮอล์ล้างแผล หรือผลิตภัณฑ์สำหรับทำความสะอาดบาดแผลเท่านั้น
- การประคบเย็นควรใช้ผ้าสะอาดห่อน้ำแข็ง ไม่ควรใช้น้ำแข็งประคบโดยตรง
- หากมีเลือดไหลต่อเนื่อง ให้ทำการห้ามเลือดด้วยผ้าสะอาดเท่านั้น ไม่ควรใช้มือหรืออุปกรณ์อื่นที่ไม่สะอาดทำการห้ามเลือด
- ในกรณีที่มีการหกล้มจนกระดูกหัก พยายามอย่าให้ผู้บาดเจ็บเคลื่อนไหวเพราะอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บมากยิ่งขึ้น
การปฐมพยาบาลเด็กที่สำลัก หรือมีสิ่งแปลกปลอมอุดกั้นทางเดินหายใจ
สำลัก….สังเกตจากอาการอย่างไร
- ระหว่างที่เด็กกินนม จะไอ มีอาการเหมือนกับจะขย้อนนมหรืออาหารออกมา หากสำลักไม่มาก ก็อาจไอเล็กน้อย 2-3 ครั้งแล้วก็หายไป
- หากสำลักมาก จะไอแรงถึงขนาดหน้าเขียว หรือมีเสียงหายใจผิดปกติ ดังครืดคราด
- การไอเป็นกลไกการขับสิ่งแปลกปลอมออกจากท่อหลอดลม
- หากไอออกมาสำเร็จ เขาจะหยุดไอและเป็นปกติ
อาการแสดงว่ากำลังสำลัก
- ถ้าขับออกไม่สำเร็จ สิ่งแปลกปลอมขนาดเล็กอาจลงไปสู่ทางเดินหายใจส่วนล่าง เกิดปอดอักเสบ หรือลงไปอุดในหลอดลมขนาดเล็กเกิดภาวะปอดแฟบหรือปอดแตกตามมา
- ถ้าสิ่งแปลกปลอมมีขนาดใหญ่จะอุดท่อหลอดลมขนาดใหญ่ จะทำให้เด็กหายใจไม่ได้โดยเฉียบพลัน
อาการที่แสดงว่ามีอาการรุนแรง
- ลูกจะมีอาการ คือ พยายามไอแต่ไม่มีเสียงไอออกมา หายใจไม่ได้ หน้าเขียว ตาเหลือก ร้องไห้ไม่มีเสียง พูดไม่มีเสียง หรือหมดสติ เป็นกรณีฉุกเฉินที่คุณต้องใช้วิธีการต่อไปนี้ในการทำให้สิ่งอุดกั้นหลุดออก จากหลอดลมโดยด่วน
- ถ้าลูกยังหายใจได้ พูดได้ ร้องไห้มีเสียง ไม่ควรพยายามเอาสิ่งแปลกปลอมออกด้วยตัวเอง เพราะทำให้ของเข้าไปลึกมากขึ้นจนอุดหลอดลมได้ หรือบางครั้งของนั้นอาจอยู่ในหลอดลมอยู่แล้วแต่ตำแหน่งไม่ได้อุดกั้น 100% การไปพยายามเคลื่อนไหวให้ของนั้นหลุด อาจทำให้เปลี่ยนลักษณะเป็นการอุดกั้น 100%ได้
- ให้คุณพยายามปลอบลูกไม่ให้ตกใจและรีบพาไปพบแพทย์ฉุกเฉินโดยเร็วที่สุด โดยสังเกตการหายใจของลูกอย่างใกล้ชิด
วิธีป้องกัน
- จับลูกเรอทุกครั้งหลังจากที่กินนมเสร็จ
- ห้ามใช้หรือเล่น ของเล่น ชิ้นเล็ก เหรียญ
- เลือกประเภทอาหารที่เหมาะสมเช่น เด็กที่อายุน้อยกว่า 3 ปี ไม่แนะนำให้กินถั่วเม็ดเล็ก ข้าวโพด เมล็ดทานตะวัน น้อยหน่า มะขาม
- ควรเริ่มฝึกให้เด็กนั่งกินข้าวได้เองที่โต๊ะอาหาร ไม่เล่น กระโดด นอนกิน หัวเราะ พูด
- สอนให้เคี้ยวอาหารให้ละเอียด ไม่มูมมาม
- ห้ามอมวัตถุแปลกปลอม
- เด็กเล็กกว่า 3 ปี ยังไม่ควรกิน เยลลี่ ขนมเหนียวหนึบ เป่าลูกโป่ง
- อย่าปล่อยให้เด็กอยู่ตามลำพัง
วิธีช่วยเหลือเบื้องต้น
สำลักนมธรรมดา จับเด็กนอนตะแคง ให้ศีรษะเด็กต่ำลง เพื่อป้องกันไม่ให้นมหรืออาหารที่อาจมีอยู่ในปากไหลย้อนกลับไปที่ปอด ที่สำคัญ ไม่ควรจับเด็กอุ้มขึ้นทันทีเมื่อเกิดอาการสำลัก