เมื่อพ่อแม่/ผู้ดูแลป่วย ควรปฏิบัติตัวอย่างไร
อันดับแรก ควรไปพบแพทย์ และรีบรักษาอาการเจ็บป่วยให้หาย ยิ่งถ้ามีอาการเจ็บป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ ไม่รู้ว่าเป็นเชื้อโรคอะไร ก็ควรให้คุณหมอช่วยตรวจวินิจฉัย เพื่อหาวิธีป้องกันการแพร่เชื้อ รวมถึงได้รับยาที่ถูกกับโรค สมมุติว่า ในร่างกายผู้ป่วยมีเชื้อโรคอยู่ 100 ตัว ถ้าไปหาหมอ รู้ว่าเป็นเชื้อโรคชนิดไหน ได้ยาที่ถูกต้อง ฆ่าเชื้อโรคได้สัก 50 ตัว หรือทำให้เชื้อทั้ง 100 ตัวมีความรุนแรงน้อยลง โอกาสที่ทารกจะติดเชื้อก็น้อยลงไปด้วย
กรณีที่เจ็บป่วยโดยไม่ใช่โรคติดต่อ เช่น ปวดท้องด้วยโรคกระเพาะอาหาร หรือท้องเสียเพราะอาหารเป็นพิษ ไม่ติดต่อถึงทารก แต่ผู้ป่วยจำเป็นต้องดูแลเด็กเล็ก ก็ควรกะระยะเวลาพักผ่อนให้ดี เมื่อเด็กหลับ ผู้ดูแลต้องหลับด้วย ร่างกายจะได้พักฟื้นและสามารถดูแลเด็กได้เมื่อเด็กตื่น รวมถึงทำให้หายป่วยได้เร็ว
สิ่งสำคัญอีกประการคือ คุณแม่หรือผู้ดูแลควรหมั่นประเมินอาการของตัวเองเป็นระยะ โดยเฉพาะถ้าต้องอยู่เพียงลำพังกับเด็ก เมื่อรู้สึกว่าอาจดูแลเด็กไม่ไหว ควรรีบเรียกกำลังเสริมมาช่วยรับมือแทน ควรติดต่อขอความช่วยเหลือจากคนในครอบครัวแต่เนิ่นๆ ถ้าไม่สามารถหาคนในครอบครัวมาช่วยได้ก็อาจต้องโทรหาสายด่วนฉุกเฉิน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือให้ทันท่วงที
อาการเจ็บป่วยนั้นเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สามารถป้องกันไม่ให้ลูกน้อยป่วยไปด้วยได้ ด้วยการดูแลสุขอนามัย จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม รวมถึงป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคก็จะช่วยป้องกันทารกจากการติดเชื้อได้ในระดับหนึ่ง
แม่ให้นมกับการกินยา
ยาสามัญประจำบ้านทั่วไป เช่น พาราเซตามอลหรือยาลดน้ำมูกจะขับออกมาทางน้ำนมได้น้อยกว่าร้อยละ 1 มีเพียงยาเฉพาะโรคบางชนิดเท่านั้นที่อาจส่งผลโดยตรงต่อเด็ก เช่น ยาที่มีผลต่อจิตประสาท หรือยาต้านมะเร็ง อย่างไรก็ตาม คุณแม่ที่กำลังให้นมบุตรควรกินยาให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และหากจำเป็นต้องกินยา ก็ควรกินยาตามใบสั่งแพทย์ หรือซื้อยาจากเภสัชกร โดยไม่ลืมแจ้งแก่เภสัชกรว่า กำลังให้นมลูกอยู่
ถ้าคุณแม่ให้นมต้องกินยาแล้วรู้สึกกังวล แนะนำให้กินยาหลังจากที่เพิ่งให้นมลูกเสร็จ ก่อนนมมื้อถัดไปของลูก ประมาณ 3-4 ชั่วโมง เพื่อให้ฤทธิ์ยาหมดไปจากร่างกายแล้ว
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก!