ลูกเป็นหวัด มีเสมหะ เสี่ยงปอดอักเสบได้
รู้ได้อย่างไร ว่าลูกเสี่ยงป่วยปอดอักเสบ
ลูกเป็นหวัดมีเสมหะ ด้วยสาเหตุหลายๆอย่าง และสภาพอากาศในปัจจุบัน ที่ทำให้คนเรามีอาการป่วยเป็นหวัดได้ง่าย โดยเฉพาะกับเด็กเล็ก ที่ยังมีภูมิต้านทานต่ำอยู่มาก เมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ ยิ่งไปกว่านั้นหากเด็กอยู่ในภาวะหรือเป็นเด็กที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการป่วยอยู่แล้ว ก็จะยิ่งต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ คุณพ่อ คุณแม่ควรให้ความสำคัญและคอยหมั่นสังเกตอาการของลูกน้อยอย่างละเอียด เพื่อเป็นการรู้เท่าทัน ป้องกันไม่ให้อาการรุนแรงจนยากแก่การรักษา
อย่างที่กล่าวมาว่า ลูกเป็นหวัด มีเสมหะ เป็นเวลานานนั้น หากปล่อยไว้อาจจะเสี่ยงทำให้ลูกเกิดอาการปอดอักเสบได้ ซึ่งสำหรับอาการปอดอักเสบในเด็กนั้น คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตอาการได้ดังนี้
- ลูกน้อยมีอาการเป็นไข้ ไอ และหายใจหอบเหนื่อย
- เด็กบางคนอาจจะมีไข้ หรือบางคนก็ไม่มีไข้ แต่อาจจะมีแค่อาการซึม และไม่ยอมดูดนมหรือน้ำ บางรายถึงขั้นอาเจียน
- สำหรับในเด็กบางคน อาจมีอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง อาทิเช่น มีไข้ ร้องกวน งอแง อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ กระสับกระส่าย หรือมีอาการหนาวสั่น
- เด็กที่มีอาการปอดอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย จะแสดงอาการขึ้นอย่างเฉียบพลัน คือ ดูมีอาการป่วยหนัก มีการไออย่างมาก และเจ็บหน้าอก
- เด็กที่มีอาการปอดอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส จะเป็นไข้ มีน้ำมูก ไอมีเสมหะ จากนั้นก็จะหายใจลำบาก หายใจเร็วกว่าปกติ จนจมูกบาน ซี่โครงบาน และมีอาการตัวเขียว
ในทางการแพทย์ แพทย์จะทำการรักษาอาการปอดอักเสบที่เกิดขึ้นในเด็ก โดยการรักษาตามอาการ เนื่องจากเด็กแต่ละคนนั้นมีอาการรุนแรงไม่เหมือนกัน รวมถึงขึ้นอยู่กับว่าติดเชื้อโรคหรือไวรัสชนิดใดมา
สำหรับในผู้ป่วยเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี มักจะต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ ความรุนแรงของภาวะขาดน้ำ ภาวะพร่องออกซิเจน และอาจพิจารณาการให้สารน้ำทางหลอดเลือด ตามดุลยพินิจของแพทย์ ดังนี้
- การให้ออกซิเจน แพทย์จะพิจารณาให้ออกซิเจนในผู้ป่วยที่มีอาการหอบมาก ซึม กระวนกระวาย ไม่ยอมกินนมและน้ำ รวมถึงหายใจเร็วมากกว่า 70 ครั้งต่อนาที
- การให้น้ำและอาหาร ต้องให้พอเพียงกับความต้องการของผู้ป่วย เพื่อช่วยลดความเหนียวของเสมหะ และสามารถขับเสมหะออกจากร่างกายโดยการไอได้ง่ายขึ้น อีกทั้ง ยังช่วยลดการคั่งค้างของเสมหะที่อุดกั้นทางเดินหายใจในเด็กได้ และยังเป็นการทดแทนการสูญเสียน้ำจากร่างกายที่เกิดจากภาวะไข้สูง หายใจหอบเร็วได้อีกด้วย
- ใช้ยาปฏิชีวนะ สำหรับฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุทำให้ปอดอักเสบ ซึ่งการเลือกยานั้นต้องพิจารณาถึงอายุของผู้ป่วย ประวัติการสัมผัสเชื้อ โอกาสที่เชื้อจะดื้อยา และข้อมูลจากการสอบถามประวัติของอาการอื่นๆประกอบกันด้วย
คุณแม่ๆอ่านแล้วก็อย่าเพิ่งวิตกกังวลไปค่ะ การที่รู้ข้อมูลไว้ก็เพื่อจะได้ศึกษาเรียนรู้ และหาวิธีการป้องกันไม่ให้ ลูกเป็นหวัด มีเสมหะ เป็นระยะเวลานานเกินไป จนเกิดอาการปอดอักเสบขึ้นอย่างที่กล่าวมา ซึ่งคุณแม่ๆก็ต้องกลับไปที่จุดเริ่มต้น คือการศึกษาวิธีการล้างจมูกลูกให้ถูกวิธี เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาสุขภาพอื่นๆของลูกที่จะตามมาค่ะ
อ่านต่อหน้า 3 >>วิธีการเคลียร์น้ำลูกให้ลูกน้อย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่