จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้หลายคนเกิดความกังวลเมื่อต้องไปจับจ่ายซื้อของที่ตลาด โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกตัวน้อยรอคอยอยู่ในบ้าน มาดูวิธี ป้องกันโควิด-19 ตอนไปตลาด โดยสสส.
สสส.แนะวิธี ป้องกันโควิด-19 ตอนไปตลาด
จริง ๆ แล้ว ตลาดนั้นไปได้ เพียงแต่มีข้อระวังเล็กน้อย โดย Social Marketing Thaihealth by สสส. ได้โพสต์ว่า ตลาดไปได้ ! แต่ไปให้ปลอดภัย ต้องมีสติในการดูแลป้องกันตนเอง ระมัดระวังอยู่เสมอเมื่อต้องสัมผัสกับจุดเสี่ยงเหล่านี้ ที่สำคัญต้องอย่าลืม ! เช็คข้อมูลข่าวสารอยู่เสมอ เพื่อให้รู้ว่าตรงไหนเป็นจุดเสี่ยงที่ควรหลีกเลี่ยงบ้าง ปลอดภัยไม่พลาด : สวมหน้ากาก – ล้างมือ – เว้นระยะห่าง
5 สิ่งที่ต้องระวัง “ในตลาด คุณพลาดรับเชื้อ (โควิด) จากอะไรได้บ้าง?”
- ธนบัตรและเศษเหรียญ ล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัส เพราะธนบัตรและเศษเหรียญเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค การโอนเงินผ่านโทรศัพท์ จึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ลดโอกาสเสี่ยงในการสัมผัสกับเชื้อโรคต่าง ๆ
- ระวังการสัมผัสเนื้อสัตว์โดยตรง ล้างมือทั้งก่อนและหลังสัมผัส รวมทั้งนำเนื้อสัตว์ที่ซื้อกลับมาล้างให้สะอาดก่อนนำไปจัดเก็บหรือทำอาหาร รวมทั้งปรุงให้สุกทุกครั้งก่อนรับประทาน
- ระวังการสัมผัสผักและผลไม้โดยตรง ล้างมือทั้งก่อนและหลังสัมผัส รวมทั้งนำผักและผลไม้ที่ซื้อกลับมาล้างให้สะอาดก่อนนำไปจัดเก็บหรือทำอาหาร รวมทั้งปรุงให้สุกทุกครั้งก่อนรับประทาน
- ถุงพลาสติกอาจจะมีเชื้อโรคปะปนอยู่ บางครั้งเราก็แกะถุงพลาสติก และใช้มือหยิบอาหารเข้าปากทันที ทำให้เสี่ยงรับเชื้อโรคที่ปะปนอยู่บนถุงเข้าสู่ร่างกาย ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังสัมผัสถุงหูหิ้ว
- ระวังการเข้าไปในที่แออัด สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง และกลับถึงบ้าน ควรล้างมือให้สะอาดทันทีทุกครั้ง
ข้อสุดท้ายสำคัญมาก ๆ ล้างมือให้บ่อย ให้สะอาดทุกครั้งหลังสัมผัสสิ่งของหรือทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับ สวมหน้ากาก และ เว้นระยะห่างทางสังคม ช่วยลดโอกาสรับและส่งต่อเชื้อโรคไปสู่คนรอบข้างได้
อาหารทะเลกินได้ Covid-19 ไม่ติดและไม่แพร่
สำหรับคนที่ยังกังวลเรื่องการกินกุ้งหรืออาหารทะเลนั้น ขณะนี้ยังไม่พบว่ามีคนติดเชื้อ Covid-19 จากการบริโภคสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ แต่เพื่อการบริโภคที่ถูกสุขอนามัยควรปรุงสัตว์น้ำให้สุกก่อนบริโภค
คำแนะนำในการปรุงอาหารทะเลสดหรือแช่แข็ง
- ล้างมือหลังสัมผัสสัตว์น้ำก่อนและหลังปรุงอาหาร
- ไม่สัมผัสอาหารอื่นขณะเตรียมอาหารแช่แข็ง
- ไม่จับใบหน้าขณะซื้ออาหารแช่แข็ง
- ปรุงสุกก่อนบริโภค
ย้ำกันอีกครั้งเรื่องการล้างมือให้สะอาดอย่างน้อย 20 วินาที ด้วยน้ำกับสบู่จะดีที่สุด แต่ถ้าไม่สะดวกให้ใช้เจลล้างมือที่มีแอลกอฮอล์เข้มข้น 70% ขึ้นไปถูให้ทั่ว แล้วปล่อยให้แห้ง การล้างมือบ่อย ๆ จะช่วยลดโอกาสรับเชื้อจากการสัมผัส โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหารและหลังมื้ออาหาร หรือจับสิ่งของสาธารณะจะช่วยป้องกันเชื้อที่อาจติดมาได้ และที่สำคัญที่สุด เมื่อกลับถึงบ้าน พ่อแม่จะได้ไม่พาเชื้อโรคมาติดคนในบ้าน ลดความเสี่ยงลูกน้อยติดโควิด-19
การดูแลลูกในช่วงโควิด-19
กรมการแพทย์ โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี แนะนำพ่อแม่ให้ดูแลเด็กเป็นพิเศษในช่วงฤดูหนาว ว่า ความเย็นเป็นตัวเพาะเชื้ออย่างดีในการกระจายไวรัส ในส่วนของเด็กเล็กอาจต้องดูแลใกล้ชิด เพราะไม่สามารถปกป้องตัวเองได้ จึงเป็นหน้าที่ของผู้ปกครองต้องเฝ้าระวัง
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ฤดูหนาวที่อุณหภูมิลดลง เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ติดเชื้อโรคระบบทางเดินหายใจระบาดได้ง่าย โดยเฉพาะโควิด-19 ที่ยังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยไข้หวัดและโรคโควิด19 มีอาการคล้ายคลึงกัน แม้การติดเชื้อโควิด-19 ในเด็กมีไม่มากนัก แต่การเฝ้าระวังโรคทั้งตัวผู้ปกครองและตัวเด็ก ต้องมีมาตรการเพื่อป้องกันให้ห่างไกลจากไวรัสโควิด-19
วิธีดูแลรักษาสุขภาพเด็กให้แข็งแรง และสิ่งที่พ่อแม่ควรทำ มีดังนี้
- สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะหน้าหนาวนี้เชื้อโรคแพร่กระจายได้มาก เวลาที่ออกไปนอกบ้าน อาจไปสัมผัสกับเชื้อโรคและอาจนำมาติดลูกได้ การล้างมือบ่อย ๆ จึงเป็นวิธีลดโอกาสรับเชื้อและแพร่กระจายของเชื้อโรค ซึ่งสามารถป้องกันได้ทั้งโรคไข้หวัดและโรคโควิด-19
- หลีกเลี่ยงการนำเด็กเล็กหรือทารกไปสถานที่แออัด ไม่ว่าจะเป็นสวนสาธารณะ ห้างสรรพสินค้า โดยเฉพาะเด็กทารกเนื่องจากภูมิคุ้มกันโรคของเด็กยังมีน้อยจึงอาจติดเชื้อโรคได้ง่าย
- การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่และปรุงสุกร้อนใช้ช้อนกลางส่วนตัว
- ทำให้ร่างกายของลูกน้อยอบอุ่นอยู่เสมอ สวมใส่เสื้อผ้าที่อุ่นแต่นุ่มสบายไม่ทำให้อึดอัดหรือระคายเคืองผิว เวลานอนก็ควรห่มผ้าเพื่อเพิ่มความอบอุ่น เพราะผิวพรรณของเด็กก็มีส่วนสำคัญที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ ในช่วงหน้าหนาวผิวของเด็กแห้งก็จะทำให้เกิดการระคายเคือง คัน และผิวจะแตกลูกจะรู้สึกเจ็บ หลังอาบน้ำควรทาครีมบำรุงเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวของเด็ก
นอกจากดูแลสุขภาพของลูกแล้ว พ่อแม่ต้องดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอด้วย เพื่อป้องกันเชื้อโรคต่าง ๆ ไม่ให้ติดต่อไปยังคนในบ้าน
อ้างอิงข้อมูล : Social Marketing Thaihealth by สสส. และ สสส.
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม