สถานการณ์ฟันผุในปัจจุบันนั้นค่อนข้างน่าเป็นห่วง พบว่าเด็กอายุ 2 – 3 ปี เริ่มฟันผุแล้ว ทั้ง ๆ ที่ฟันน้ำนมขึ้นได้ไม่นาน พอเด็กเริ่มโตขึ้นมามีอายุ 5 – 6 ปี ก็จะสามารถพบเห็นว่ามีเด็กที่มีฟันผุมากถึง 66 เปอร์เซ็นต์บางคนก็อาจจะไม่กี่ซี่ แต่บางคนต้องถอนหมดปากเลยก็มีค่ะ
สาเหตุของฟันผุ
กินของหวาน ระวังฟันผุ เพราะฟันผุเกิดจากการมีเศษอาหารไปค้างอยู่ตามซอกฟัน หรือมีน้ำตาลจากอาหารที่กินค้างคาอยู่ในปากและสัมผัสกับฟันอยู่เป็นเวลานาน จึงทำให้เชื้อแบคทีเรีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อ “Streptococcus mutans” (สเตรปโตคอคคัส มิวแทนส์) ซึ่งเป็นเชื้อที่อยู่บนแผ่นคราบฟัน เกิดกระบวนการย่อยสลายเศษอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลให้กลายเป็นกรดแลคติก (Lactic) ที่มีฤทธิ์ในการสลายแร่ธาตุซึ่งเป็นโครงสร้างของฟันจนทำให้ฟันผุกร่อนไปทีละน้อยจากชั้นเคลือบฟันภายนอกเข้าไปในเนื้อฟัน จนทะลุถึงชั้นโพรงประสาทฟัน (Pulp) ซึ่งจะทำให้เกิดอาการปวดฟัน หรือฟันอักเสบเป็นหนอง นั่นเอง
อาการฟันผุนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ระยะดังนี้
- ฟันผุระยะที่ 1 – เป็นระยะที่กรดเริ่มทำลายชั้นเคลือบฟัน ผู้ป่วยจะไม่มีอาการปวด แต่จะพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นที่ชั้นเคลือบฟัน โดยกรดจะเริ่มไปทำลายชั้นเคลือบฟันให้เปลี่ยนจากสีขาวใสมันวาวเป็นสีขุ่นขาวเล็ก ๆ บริเวณผิวเรียบของฟันหรือหลุมร่องฟัน
- ฟันผุระยะที่ 2 – เป็นระยะที่กรดเริ่มกัดกร่อนลึกลงไปถึงชั้นเนื้อฟัน ทำให้เป็นรอยสีเทาดำหรือสีน้ำตาล เห็นรูผุ มีเศษอาหารติดอยู่ และการผุจะลุกลามไปเร็วกว่าในระยะที่ 1 เนื่องจากชั้นเนื้อฟันจะมีความแข็งแรงน้อยกว่าชั้นเคลือบฟัน ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการเสียวฟันเมื่อรับประทานของหวานจัด ของเย็นจัด หรือร้อนจัด
- ฟันผุระยะที่ 3 – เป็นระยะรุนแรงขึ้น มีการทำลายลึกถึงชั้นโพรงประสาทฟัน มีการอักเสบของเนื้อเยื่อภายในโพรงประสาทฟัน ทำให้มีอาการปวด โดยอาจจะปวดตลอดเวลาหรือปวดเป็นพัก ๆ รวมถึงมีเศษอาหารไปติดอยู่ในโพรง ทำให้เกิดกลิ่นปากตามมาได้
- ฟันผุระยะที่ 4 – ถ้าผู้ป่วยทนเจ็บปวดจากการอักเสบจนผ่านเข้าสู่ระยะนี้ เนื้อเยื่อโพรงประสาทฟันจะถูกทำลายลุกลามไปที่ปลายรากฟัน ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บ ๆ หาย ๆ เป็นช่วง ๆ เกิดฝีหนองบริเวณปลายราก มีอาการบวมหรือมีฝีทะลุมาที่เหงือก ฟันโยก และเชื้ออาจลุกลามเข้าสู่กระแสเลือดและระบบน้ำเหลืองของร่างกายได้