(ต่อ) อาการไข้เลือดออกในเด็ก ครั้งที่ 2
สำหรับอาการป่วย เป็นไข้เลือดออกครั้งที่ 2 นี้ คุณแม่เล่าว่า… น้องอยู่อยุบาล 2 อายุได้ 4 ขวบ น้องเป็นคนแรกในหมู่บ้านเลยที่เป็นไข้เลือดออก อาการไข้เลือดออกในเด็ก ที่น้องเป็น คือ มีไข้สูง สูงมากถึง 39.9 , 39.8 องศาเซลเซียส แม่เช็ดตัวเท่าไหร่ก็ร้อนเหมือนเดิม กินยาลดก็ไม่ลด ตัวร้อนเกินจนพูดละเมอเรื่อยเปื่อย ปากแห้ง หน้าแดงตาแดง ปวดเมื่อย
คุณแม่เลยรีบพาไปโรงพยาบาลเอกชน เพราะผลตรวจเร็ว พอไปถึงโรงพยาบาล ตรวจเลือด แอดมิท ผลเป็นไข้เลือดออก ไข้สูงมาก จนพยาบาลต้องมาเช็ดตัวทุกๆ ชั่วโมง ตรวจไข้ทุกๆ ชั่วโมง เพราะไข้สูง 40 41 42 องศาเซลเซียส แต่ดีที่น้องไม่มีประวัติชักมาก่อน หมอบอกน้องอยู่ในระยะแรก เจาะเลือดทุกวัน เพราะต้องดูเกล็ดเลือด
นับวันเกล็ดเลือดยิ่งลด ยิ่งลด จากหลักแสน ลงมาหลักหมื่น คุณแม่สงสารจับใจ น้องทานไม่ได้ ทานไม่ลง แขนก็เขียวเป็นจ้ำๆ ทั้ง2 ข้าง เพราะเจาะเลือดทุกวัน หมอบอกว่า ตอนไข้สูงยังไม่น่ากลัวเท่าไข้ลด
ระยะที่ 2 หมอบอกอันตรายอาจช็อกได้ พี่ๆพยาบาลดูแลเต็มที่ผลัดกันดูน้องแบบใกล้ชิด เพราะน้องเริ่ม อาเจียนมีเลือดปน และปวดท้องมาก ปวดจนตัวงอ ร้องไห้ บอกว่า ปวดท้อง จะจับท้องก็ไม่ได้ ลูกบอกเจ็บ
หมอบอกว่า ตับโต ท้องน้องบวมเล็กน้อย แล้วหน้าน้องก็บวมด้วย ปัสสาวะน้อยลง เกือบสวนปัสสาวะแล้วแต่น้องพยายามฉี่ด้วยตัวเองแล้วน้องหายใจก็ถี่ พยาบาลตรวจออกซิเจนทุกชั่วโมง น้องหายใจถี่ เริ่มเหนื่อย หมอจึงให้เพิ่มออกซิเจน สงสารน้องจับใจ
มาถึงระยะที่ 3 ไข้ลดดีขึ้นเรื่อยๆ น้องเริ่มทานอาหารได้นิดหน่อย จุดผื่นๆก็ผุดขึ้นเต็มตัวเลย ปัสสาวะมากขึ้น สดใสขึ้น ยิ้มร่าเลย ต้องขอบคุณหมอและพยาบาลให้กำลังใจน้อง เอาใจน้อง ดูแลน้องได้ดีสุดๆ น้องแอดมิทได้ 8 วัน หลังจากหายดีหมอก็ให้กลับบ้านได้
ขอบคุณภาพและข้อมูลจากคุณแม่ Dearna Nana
ทั้งนี้จาก อาการไข้เลือดออกในเด็ก ที่คุณแม่เล่ามาข้างต้น จะเห็นได้ชัดว่าการติดเชื้อครั้งแรกและครั้งที่สองมีความต่างกัน ซึ่งสังเกตได้ว่า การติดเชื้อที่ทำให้อาการรุนแรง คือ การติดเชื้อครั้งหลัง หรือครั้งที่ 2 ขึ้นไป เนื่องจากการติดเชื้อครั้งแรก ร่างกายจะมีภูมิต้านทาน แต่ภูมิต้านทานไม่ได้อยู่ถาวร หรือป้องกันชนิดอื่นๆ สามารถป้องกันได้เพียงสายพันธุ์ที่เคยติดมาแล้ว เมื่อสายพันธุ์อื่นเข้ามาสู่ร่างกาย จะไปกระตุ้นทำให้เกิดอาการรุนแรงขึ้น ขณะเดียวกันก็พบคนที่ติดครั้งแรกและอาการรุนแรง เพียงแต่พบน้อยกว่า ซึ่งกรณีของน้องที่คุณแม่เล่ามาข้างต้นก็น่าจะเป็น การติดเชื้อจากสายพันธุ์อื่น เพราะน้องเกิดภาวะแทรกซ้อนสูงร่วมด้วย
วิธีรักษาและป้องกัน อาการไข้เลือดออกในเด็ก
และปัจจุบัน ยังไม่มียาที่จะนำมารักษา อาการไข้เลือดออกในเด็ก ได้โดยตรง การรักษาจึงเป็นการประคับประคองไปตามโรคมากกว่า หากอาการยังไม่รุนแรงก็สามารถพักฟื้นที่บ้าน กินน้ำเกลือและอาหารอ่อนย่อยง่าย
อย่างไรก็ตามทุกกลุ่มอายุก็ถือว่าเสี่ยงเป็นไข้เลือดออกได้ แต่ปัจจุบันกลุ่มที่พบว่าป่วยมากที่สุดคือ เด็กโต หรือผู้ใหญ่ตอนต้น ซึ่งปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง ยังไม่มีการรายงานอย่างชัดเจน แต่ปัจจัยหนึ่งในนั้น คือ การตอบสนองของภาวะภูมิคุ้มกันของร่างกาย
โดยวิธีป้องกันโรคไข้เลือดออก ที่ดีที่สุดควรยึดหลักตามมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ เก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง เก็บขยะบริเวณรอบบ้าน และเก็บน้ำ ปิดฝาภาชนะที่ใส่น้ำให้มิดชิด เปลี่ยนน้ำในแจกันทุกสัปดาห์ ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ตามพาชนะโอ่ง ไห ยางล้อรถ หรือเศษกระเบื้องที่มีน้ำขัง รวมไปถึงการฉีดยากันยุง หรือพ่นยากันยุง ก็สามารถช่วยระงับการแพร่กระจายของเชื้อไข้เลือดออกได้
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก :
- ไข้เลือดออกเดงกี โรคระบาดที่มากับฤดูฝน
- ลูกป่วยรีบสังเกต! 10 สัญญาณเตือนอาการ ไข้เลือดออก
- หมอเตือนระวัง โรคไข้ปวดข้อยุงลาย (ชิคุนกุนยา) โรคที่มากับยุง
- แพทย์เผย! ข้อมูลใหม่ แม่ต้องรู้ก่อนให้ลูก ฉีดวัคซีนไข้เลือดออก
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.thairath.co.th
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่