ไวรัส RSV
เมื่อเข้าฤดูฝน ในระหว่างเดือนสิงหาคม – ตุลาคม เป็นช่วงที่เด็กๆ มักจะป่วยบ่อย เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงและมักจะรับเชื้อโรคได้ง่าย โดยเฉพาะไวรัส RSV ที่มีอาการคล้ายไข้หวัดแต่ส่งผลรุนแรง ถึงขั้นปอดอักเสบติดเชื้อได้
ไวรัส RSV คืออะไร
RSV หรือชื่อเต็มๆ ว่า Respiratory Syncytial Virus เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจโดยเฉพาะในเด็กเล็ก เชื้อไวรัสนี้สามารถทำให้เกิดภาวะปอดอักเสบได้เนื่องจากมักเกิดในส่วนของหลอดลมเล็ก (bronchiole) และถุงลม (alveoli) ทำให้มีการสร้างสิ่งคัดหลั่ง เช่น เสมหะ ออกมาในปริมาณมาก และมีการหดตัวของหลอดลมเนื่องจากการบวมของเยื่อบุหลอดลมและทางเดินหายใจต่างๆ ส่งผลให้เด็กมีอาการหอบ เหนื่อย และหายใจลำบาก เชื้อนี้ติดต่อกันได้โดยการสัมผัสใกล้ชิดกับสิ่งคัดหลั่งต่างๆ ของผู้ป่วย เช่น น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ
อาการของเด็กที่ติดเชื้อไวรัส RSV จะต่างจากการเป็นหวัดธรรมดาอย่างไร
เด็กที่เป็นหวัดธรรมดาจะมีอาการเป็นแบบหวัด คือ มีไข้ ไอ จาม น้ำมูกไหล กินน้ำ-นมได้ อาจกล่องเสียงอักเสบ หลอดลมอักเสบ ไอแบบมีเสมหะร่วมด้วยซึ่งจะหายได้ใน 5-7วัน
แต่อาการที่เกิดจากไวรัส RSV คือ อาการหอบ เหนื่อย บางคนหอบมากจนเป็นโรคปอดบวม หายใจหอบจนอกบุ๋ม หายใจแรงจนหน้าอกโป่ง หายใจลำบาก หรือหายใจมีเสียงวี้ดแบบหลอดลมฝอยอักเสบ บางรายไอมากจนอาเจียน ซึม ตัวเขียว กินข้าว น้ำ นมไม่ได้ ทางที่ดีถ้าเด็กมีไข้ 3 วันควรรีบพาไปพบแพทย์
ในเด็กเล็กที่อ่อนแอมาก เช่น เด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนด เด็กที่มีโรคหัวใจ โรคปอด และหอบหืดอยู่แล้ว อาจมีอาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว โดยอาจมีอาการหยุดหายใจเป็นช่วงๆ หรือหายใจล้มเหลว จนต้องนำเข้าหอพยาบาลผู้ป่วยวิกฤติ (ICU) และอาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจด้วย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ไวรัส RSV รักษาอย่างไร
ในปัจจุบันยังไม่มียารักษาหรือวัคซีนป้องกันโรคนี้โดยเฉพาะ ดังนั้นเมื่อเด็กได้รับไวรัสนี้จึงต้องรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาแก้ไอละลายเสมหะ ยาขยายหลอดลม ยาลดไข้ทุก 4-6 ชั่วโมงพร้อมกับเช็ดตัวลดไข้ หรือพ่นยา และนอนพักผ่อนเยอะๆ ร่างกายก็จะฟื้นตัวช้าใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์จึงจะหาย แต่หลังจากหายแล้วหลอดลมและถุงลมฝอยของเด็กจะมีอาการอักเสบได้ง่ายเมื่อติดเชื้อครั้งใหม่ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องดูแลเป็นพิเศษทั้งเรื่องอาหารและการออกกำลังกายในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง
ในผู้ป่วยที่มีอาการเหนื่อย หายใจไม่ค่อยดี และเริ่มมีออกซิเจนในเลือดต่ำลง การรักษาจะเป็นในรูปแบบประคับประคอง เช่น ให้สารน้ำทางหลอดเลือด ให้ยาพ่นขยายหลอดลม เคาะปอด ดูดเสมหะ รวมถึงให้ออกซิเจน ส่วนในรายที่มีอาการหนักมาก อาจต้องใส่ท่อช่วยหายใจและใช้เครื่องช่วยหายใจ โดยให้การดูแลในหอพยาบาลผู้ป่วยวิกฤติจนกว่าอาการจะดีขึ้น
ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่มีอาการหนักอาจมีการติดเชื้อแทรกซ้อนด้วยไวรัสชนิดอื่นๆ เช่น เชื้อไข้หวัดใหญ่ เชื้อไมโคพลาสมา หรือเชื้อแบคทีเรียอื่นๆ ร่วมด้วย ซึ่งแพทย์จะพิจารณาให้การรักษาที่ครอบคลุมการติดเชื้อเหล่านี้ตามความเหมาะสม
(บทความแนะนำ 5 อันดับยอดฮิต โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจในเด็กเล็ก)
แนวทางการป้องกัน ไวรัส RSV
เนื่องจากการติดต่อของไวรัส RSV เหมือนไข้หวัดใหญ่ เป็นการสัมผัสฝอยละออง ไม่ใช่ติดต่อทางอากาศ เป็นการติดต่อจากผู้หนึ่งไปสู่อีกผู้หนึ่ง มีอำนาจการแพร่กระจายโรคเท่ากับไข้หวัดใหญ่ วิธีป้องกันโรคไวรัส RSV นี้ คือการรักษาความสะอาด
- คนที่ใกล้ชิดเด็กเล็กควรล้างมือบ่อยๆ และหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดคนป่วย
- ล้างมือให้เด็กบ่อยๆ รวมถึงคนรอบข้างด้วยก็จำเป็นต้องล้างมือบ่อยๆ เช่นกัน
- เมื่อมีเด็กป่วยที่โรงเรียน หากเป็นไปได้ให้ผู้ปกครองรับกลับบ้าน แต่หากไม่สามารถรับกลับบ้านได้ ให้แยกเด็กและแยกเครื่องใช้ของเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค
- พ่อคุณแม่ที่มีลูกป่วย ควรแยกเด็กออกจากเด็กปกติเพื่อป้องกันการไอจามแพร่เชื้อให้กับผู้คนที่อยู่รอบข้าง ถ้าลูกเริ่มเข้าเนิร์สเซอรีหรือโรงเรียน คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกหยุดเรียนอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์จนกว่าจะหายเป็นปกติ