หากพูดถึง นิ้วล็อคในเด็ก คุณพ่อคุณแม่หลายคน อาจจะนึกภาพไม่ออก ว่าเจ้าโรคนี้ สามารถเกิดขึ้นกับเด็กเล็กๆ ได้อย่างไร เนื่องจากเท่าที่เราเคยได้ยิน หรือพบเห็นมา นิ้วล็อค มักจะเป็นโรคที่เกิดกับผู้ใหญ่ เช่น หนุ่มสาวออฟฟิศวัยทำงาน ที่ชีวิตส่วนใหญ่อยู่หน้าคอมพิวเตอร์ หรือ แม่บ้านที่ต้องออกไปจ่ายตลาดและต้องหิ้วของหนักๆ เป็นประจำ แต่จริงๆ แล้ว โรคนิ้วล็อค สามารถเกิดขึ้นได้กับทั้ง เด็กเล็ก เด็กโต และแม้กระทั้ง เด็กแรกเกิดค่ะ
พ่อแม่ต้องรู้! นิ้วล็อคในเด็ก ไม่ใช่เรื่องเล็กของลูก
โรคนิ้วล็อคในเด็ก และสาเหตุของโรค
โรค นิ้วล็อคในเด็ก เป็นโรคที่เส้นเอ็นที่นิ้วของเด็ก ไม่สามารถเคลื่อนที่เข้าไปในปลอกหุ้มเอ็นได้อย่างที่ควรจะเป็น โดยเกิดการอักเสบของเยื่อหุ้มเอ็น ซึ่งอาการอักเสบที่เกิดขึ้นในบริเวณนี้ จะทำให้เกิดการตีบ หรือหดตัวในการเคลื่อนไหวของเส้นเอ็นภายใน มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่า นิ้วล็อคในเด็ก เป็นภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้เองตั้งแต่ แรกเกิด แต่ก็พบกรณีที่มีเด็กมีอาการของโรคและแสดงอาการของโรคนิ้วล็อคหลังจากอายุ 1 ขวบ ได้เช่นกัน โดยสาเหตุ เกิดจากเข็มขัดรัดเส้นเอ็น หดรัดหนาตัวบีบจนเส้นเอ็นนิ้วโป้ง ไม่สามารถเหยียดตัวสุดได้ ทำให้นิ้วที่ล็อค อยู่ในท่างอ บางครั้งพบทั้ง 2 ข้าง หรือมีนิ้วอื่นร่วมด้วย
นายแพทย์ปุณยธร พัฒนธิติกานต์ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ โรคกระดูกและข้อเด็ก เผยว่า ” โดยทั่วไป จะพบการเกิดนิ้วล็อค ที่นิ้วหัวแม่มือบ่อยกว่านิ้วอื่น ๆ โดยผู้ป่วยจะมีอาการตั้งแต่เด็ก โดยพ่อแม่มักจะพามาพบแพทย์ตอนอยู่ในช่วงอายุประมาณ 3 เดือน ถึง 1 ปี ด้วยอาการ นิ้วโป้งอยู่ในท่างอ เหยียดไม่ออก ไม่สามารถเหยียดตรงออกได้ แต่เด็กที่มาหาหมอส่วนมากจะไม่มีอาการปวด ซึ่งไม่เหมือนนิ้วล็อคในผู้ใหญ่ที่มักจะอาการปวดร่วมด้วย “
จะสังเกตอย่างไร ว่าลูกอาจเป็นโรคนิ้วล็อค
หากสงสัยว่าลูกมีอาการของโรคนิ้วล็อคหรือไม่ คุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับนิ้วมือของลูกได้ ดังนี้
- เหยียดนิ้วมือได้ยาก หรือเหยียดนิ้วไม่ออก หรือนิ้วงออยู่ตลอดเวลา
- มีอาการนิ้วแข็งที่แย่ลง หลังจากทำกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องใช้นิ้ว
- บ่นเจ็บเมื่อเคลื่อนไหวข้อต่อที่นิ้ว
- นิ้วล็อกอยู่ในท่างอ ไม่สามารถเหยียดยืดให้ตรงได้
เมื่อนิ้วติดอยู่ในท่างอและไม่สามารถยืดตรงได้อีกต่อไป จำเป็นต้องได้รับการดูแลทางการแพทย์เพื่อป้องกันความเสียหายถาวร รีบไปพบแพทย์ทันที หากข้อต่อนิ้วของเด็กมีอาการบวมแดง
การรักษาโรคนิ้วล็อคในเด็ก
การรักษา นิ้วล็อคในเด็ก หากมีอาการไม่มาก มักหายไปเองได้ หรืออาการสามารถดีขึ้นได้ โดยการฝึกงอและเหยียดนิ้ว (โดยผู้ปกครอง) ในช่วงอายุ 1-2 ปี หากเด็กยังคงมีอาการนิ้วงอผิดรูปไม่หาย บางรายอาจจำเป็นต้องทำการผ่าตัด โดยการผ่าตัดปลอกหุ้มเอ็นบางส่วนออก นอกจากนี้ เรื่องของนิ้วที่เป็นยังมีผลต่อการรักษาด้วย หากเป็นที่นิ้วหัวแม่มือ มักจะให้ผลการรักษาที่ดี และทำได้ง่ายกว่า แต่หากเป็นนิ้วชี้กลางนางก้อย อาจรักษาได้ยากกว่า
โดยทั่วไปในครั้งแรกที่พบแพทย์ แพทย์จะแนะนำให้มีการยืด เหยียด เอ็นบริเวณนิ้วนั้นบ่อยๆ หากอาการดีขึ้น นิ้วยืดตรงได้เป็นปกติ ก็ไม่ต้องทำการรักษาด้วยการผ่าตัด การรักษาสามารถเริ่มด้วยการยืด ดัด หรือดามนิ้ว ซึ่งพบว่ามีโอกาสประสบความสำเร็จประมาณร้อยละ 30 ส่วนในรายที่อาการไม่ดีขึ้น ควรพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัดเมื่ออายุประมาณ 1 ปี
เด็กที่มีอาการนิ้วล็อค เอ็นที่นิ้วอาจบวมและคลำได้เป็นก้อนบริเวณโคนนิ้วด้านฝ่ามือ คุณพ่อคุณแม่อาจพยายามนวด กดคลึง หรือดัดนิ้วลูกอยู่ระยะหนึ่งก่อนพามาพบคุณหมอ ซึ่งในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปี การนวดดัดอาจได้ผลและนิ้วเหยียดออกได้ชั่วคราว หรืออาจเหยียดออกได้ถาวร แต่การนวดนี้ก็ไม่มีข้อพิสูจน์ว่าทำให้หายได้จริง แต่คุณหมอบางท่านอาจลองให้ใส่เฝือกดามนิ้วไว้ แต่มือเด็กมีขนาดเล็กมาก เฝือกมักจะหลุดบ่อย ดูแลยาก นิ้วจึงไม่หายงอ เพราะว่าไม่มีการรักษาวิธีใดวิธีหนึ่งที่ได้รับการยอมรับว่าได้ผลดีอย่างชัดเจน สำหรับเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 1 ปี ส่วนใหญ่คุณหมอจะแนะนำให้รอดูอาการไปก่อน เพราะพบว่า 1 ใน 3 ของเด็กที่นิ้วล็อกอาจหายเองได้โดยไม่ต้องมาพบแพทย์เพื่อรักษา
สิ่งที่พ่อแม่ควรระวังเกี่ยวกับโรคนิ้วล็อค
โอกาสที่นิ้วล็อคจะหายไปเองได้จะยิ่งลดลงเมื่อเด็กโตขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากอายุ 3 ขวบ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องทำการการรักษาโรคนี้ให้เด็ก ตั้งแต่เนิ่นๆ (ก่อนอายุ 3 ขวบ) เพื่อไม่ให้โรคนี้ต้องเป็นอุปสรรคในกิจกรรมต่าง ๆ ในชั้นเรียนของลูกค่ะ ในกรณีที่ลูกอายุมากกว่า 1 ปี คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรรีบพามาหาคุณหมอ เพราะหากทิ้งไว้ไม่รักษาจนกระทั่งลูกอายุมากกว่า 3-4 ปี เมื่อตัดสินใจที่จะรักษาภายหลัง ผลการรักษาก็จะไม่ดี เพราะนิ้วที่งออยู่นานๆ เอ็นจะหดสั้นไม่ได้เจริญตามปกติ เมื่อรักษาแล้วนิ้วที่งออาจจะไม่สามารถเหยียดออกได้เต็มที่ และจะทำให้การหยิบจับสิ่งของชิ้นใหญ่ๆ ได้ยากเพราะมือใช้งานได้ไม่เต็มที่ค่ะ
การรู้ทันโรคนิ้วล็อคในเด็ก เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความใส่ใจและหมั่นสังเกตอาการตั้งแต่ลูกยังเล็ก หรือพูดคุยสอบถามลูกว่ามีอาการผิดปกติหรือรู้สึกเจ็บที่นิ้วหรือไม่ ซึ่งก็เป็นการปลูกฝังให้ลูก เป็นเด็กที่มี ความฉลาดในการดูแลรักษาสุขภาพ (HQ) ซึ่งก็คือความสามารถและรู้จักที่จะดูแลสุขภาพของตัวเองให้ดีเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ไม่เจ็บป่วย ทำให้เติบโตขึ้นอย่างสมวัยค่ะ
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : www.childrenscolorado.org,www.trigger-finger.net,www.kidbones.net,bonedoctorpattaya
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
อุทาหรณ์! ปล่อยลูกเล่นเกม 6 ชม. ติด ป่วยโรค ออฟฟิศซินโดรม
ลูกนิ้วขาด ทำไงดี วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น ถ้าอวัยวะขาด
ลายนิ้วมือ ทั้ง 10 นิ้ว บอกนิสัยและความถนัดของลูกได้
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่