ทำไมลูกตัวเหลือง? ที่ลูกที่เพิ่งลืมตาดูโลกจะต้องถูกพรากจากอกแม่ไปเพื่อเข้ารับการรักษาเพื่อให้สารเหลืองลดลงนั้นเป็นความผิดของใคร? มาหาคำตอบกันค่ะ
หมอแจง! ทำไมลูกตัวเหลือง? อันตรายจากตัวเหลืองในทารก
เด็กทารกทุกคนจะต้องได้รับการตรวจค่าของสารเหลืองหลังคลอด เมื่อค่าสารเหลืองอยู่ในระดับที่อันตราย ทารกจะต้องได้รับการรักษาอย่างทันที เพื่อไม่ให้สารเหลืองทำลายเนื้อเยื่อสมอง โดยการรักษานี้ สร้างความกังวลใจให้กับคุณพ่อคุณแม่เป็นอย่างมาก คุณพ่อคุณแม่บางคนก็โทษว่าเป็นความผิดของตัวเองที่ทำให้ลูกตัวเหลือง ขอบอกว่าที่ลูกตัวเหลืองนั้น เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุค่ะ และทุกสาเหตุก็เป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ มาทำความรู้จักกับภาวะตัวเหลืองในเด็กทารกกันค่ะ
ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดคืออะไร ?
ภาวะตัวเหลือง เกิดจากมีสารสีเหลืองที่เรียกว่า “บิลิรูบิน” ในเลือดสูงกว่าปกติ บิลิรูบินนี้ เกิดจากการสลายตัวของเม็ดเลือดแดง ซึ่งเกิดขึ้นตลอดเวลาในร่างกายของคนปกติ บิลิรูบินในเลือดจะผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ตับให้อยู่ในรูปที่ละลายน้ำมากขึ้นและถูกกำจัดออกจากร่างกายทางปัสสาวะและอุจจาระ แต่ในเด็กแรกเกิดที่ยังเจริญเติบโตไม่มากพอที่จะกำจัดสารบิลิรูบินและขับออกจากร่างกายทางอุจจาระ และ ปัสสาวะได้ จึงส่งผลให้ผิวหนังและตาขาวของทารกมีสีเหลือง โดยสามารถพบได้ถึง 50% ของเด็กแรกเกิดทั้งหมด
ภาวะตัวเหลืองอันตรายแค่ไหน?
หากภาวะตัวเหลืองในทารกยังไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงที บิลิรูบินจะเข้าไปสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อสมองและก่อให้เกิดความผิดปกติทางระบบประสาท อาจเกิดอาการเกร็งหลังแอ่น ชัก มีอาการไข้ และอาจร้องไห้เสียงแหลม หากยังไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอีก ในระยะเวลา 6-12 เดือนต่อมา ทารกจะมีการเคลื่อนไหวผิดปกติของร่างกายและแขนขา การได้ยินและการเคลื่อนไหวของลูกตาผิดปกติ พัฒนาการล่าช้า ระดับสติปัญญาลดลง ถ้าอาการเหล่านี้เกิดขึ้นในทารกแล้วจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้แม้ว่าจะลดระดับของบิลิรูบินจนเข้าสู่ภาวะปกติ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่