แผลแต่ละชนิดมีความแตกต่างกัน รวมถึงวิธีการดูแลรักษาก็แตกต่างกันด้วย ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงควรศึกษาวิธีการดูแลรักษาแผล เพราะเมื่อ ลูกเป็นแผล จะได้รักษาได้อย่างถูกวิธีและปลอดภัย
ปฐมพยาบาล ลูกเป็นแผล แผลสด แผลแห้ง ทำแผลอย่างไรให้ถูกต้อง?
เมื่อมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือเป็นอุบัติเหตุที่ค่อนข้างรุนแรง คุณพ่อคุณแม่มักจะตื่นตกใจที่ ลูกเป็นแผล จนทำอะไรไม่ถูก และไม่รู้วิธีการดูแลรักษาที่ถูกต้อง เรามักจะเคยชินกับการล้างน้ำ ทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ปิดแผล กับแผลทุกชนิด แต่รู้หรือไม่ว่า แผลมีหลายชนิด นอกจากนี้ วิธีการดูแลรักษาแผลแต่ละชนิดก็แตกต่างกันไปด้วย มาดูกันค่ะ ว่าแผลมีกี่ชนิด และดูแลรักษาอย่างไรถึงจะถูกวิธีและปลอดภัย
แผลมีกี่ชนิด?
ไม่ว่าจะเป็นแผลมีดบาด แผลน้ำร้อนลวก แผลผ่าตัด แผลถลอก แผลสด และแผลที่เกิดจากอุบัติเหตุอะไรก็ตาม ทางการแพทย์จะแบ่งชนิดของแผลออกเป็น 2 ชนิดเท่านั้นคือ แผลเปียก กับ แผลแห้ง
แผลเปียก คือ แผลใหม่ แผลที่ยังไม่แห้ง มีสารขับหลั่งมาก (ไม่ว่าจะเป็นแผลจากสิ่งใดก็ตาม หากแผลยังไม่แห้งเรียกแผลเปียกเหมือนกันหมด)
แผลแห้ง คือ แผลสะอาด แผลปิดที่ไม่มีอาการอักเสบ ไม่มีน้ำหรือสารขับหลั่งออกมาจากแผล เป็นแผลที่ไม่มีการอักเสบ และเป็นแผลเล็กๆ
วิธีการดูแลรักษาและการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อ..ลูกเป็นแผล
การดูแลแผลที่ไม่ถูกวิธี จะทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ที่เป็นแผล ทำให้ใช้เวลาการรักษาแผลนาน และอาจสูญเสียอวัยวะได้หากมีอาการติดเชื้อที่รุนแรงมาก เพื่อลดภาวะเสี่ยงในการติดเชื้อ และสูญเสียอวัยวะในภายหลัง เราควรทำแผลและล้างแผลลูกได้อย่างถูกวิธี ดังนี้
อุปกรณ์ที่ใช้ล้างแผล
- สำลี ผ้าก๊อซ
- น้ำยาฆ่าเชื้อ เบตาดีน หรือโปรวิดีน ไอโอดีน
- น้ำเกลือล้างแผล (โซเดียมคลอไรด์) แอลกอฮอล์ 70% ใช้สำหรับเช็ดผิวหนังรอบ ๆ
- พลาสเตอร์ และผ้าพันแผล แต่แผลบางชนิดอาจไม่ต้องใช้
ทำไมถึงต้องล้างแผล?
วัตถุประสงค์หลักของการล้างแผลคือ เพื่อให้แผลหายเร็วและไม่ติดเชื้อ นอกจากนี้การล้างแผลยังช่วย ดูดซืมสารคัดหลั่ง (เช่น เลือด น้ำเหลือง หนอง) และให้ความชุ่มชื้นของแผลไม่ให้แห้งจนเกินไป อีกด้วย และสำหรับการปิดแผล ยังช่วยจำกัดความเคลื่อนไหวของแผล เพื่อไม่ให้แผลกระทบกระเทือนต่อสิ่งอื่น ๆ และช่วยป้องกันแผลปนเปื้อนเชื้อโรคจากอุจจาระ ปัสสาวะ หรือสิ่งสกปรกอื่น ๆ ได้อีกด้วย
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่