ช่วงแรกเกิดถึง 10 ขวบถือเป็นช่วงสำคัญที่สุดสำหรับการเรียนรู้ เห็นได้จากเด็กๆ เรียนรู้ภาษาต่างประเทศและดนตรีได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย คุณพ่อคุณแม่ทราบไหมคะว่า เด็กปกติเมื่อคลอดมานั้นเกิดมาพร้อมกับจำนวนเซลล์สมองที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตเรียนรู้สิ่งต่างๆ หากเขาได้ฝึกการคิด การปฏิบัติ และใช้สมองในการแก้ปัญหา สมองจะยิ่งสร้างใยประสาทเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นที่มาของความรู้ความสามารถทั้งหลายที่พ่อแม่อยากเห็นลูกมีนั่นเอง แต่ส่วนใหญ่เราจะใช้สมองน้อยกว่าประสิทธิภาพสมองที่มีอยู่
จะทำอย่างไรให้ลูกๆ ใช้สมองได้อย่างเต็มที่ ก่อนอื่นจะต้องรู้ว่า สมองจะเรียนรู้ได้ในเวลาที่อารมณ์เป็นบวก ดังนั้นการได้เรียนรู้ผ่านการเล่นเด็กจะรู้สึกสนุก ผ่อนคลาย สมองก็เรียนรู้ได้อย่างเต็มที่
Expert said! ทำอย่างไรถึงจะเรียนด้วยความสนุก
คนสำคัญที่ขาดไม่ได้ในงานนี้คือ คุณพ่อคุณแม่ ที่จะสรรหากลยุทธ์หลากหลายเพื่อให้ลูกมุ่งสนใจสิ่งที่กำลังเรียนรู้อยู่ สร้างความท้าทาย ความสนุกสนาน ที่สำคัญคือ ให้ลูกได้เชื่อมโยงสิ่งที่เรียนรู้กับชีวิตจริงเสมอ เมื่อเขาเห็นจริงว่าความรู้นั้นมีประโยชน์กับเขา ความอยากรู้ก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น โดยคุณพ่อคุณแม่ร่วมเล่นด้วย แต่มีข้อแม้ว่า หากลูกตอบผิดหรือทำในสิ่งที่ผู้ใหญ่มองว่าไม่เข้าท่า อย่าใจร้อนตำหนิเขา เพราะบรรยากาศผ่อนคลายจะหายไป อารมณ์บวกหาย สมองก็ไม่อยากเรียนรู้
ดร.สุธาวัลย์ หาญขจรสุข ศูนย์พัฒนาอัจฉริยภาพเด็ก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร
เรียนวิชาการให้สนุกต้องมีเทคนิค
คณิตศาสตร์
อนุบาล เช่น เรียนเรื่อง “จำนวน” ด้วยขนมลูกชุบ ให้เด็กหยิบตามจำนวน ฝึกการรวมสิ่งของ (การบวก) การหักลบ ได้เห็นกันชัดๆ เด็กๆ จะรู้สึกสนุก ส่วนใหญ่คงจะต้องหักลบกันบ่อย เพราะหายไปอยู่ในท้องเด็กๆ นั่นเอง
ประถมต้น เช่น เรียนเรื่อง “เรขาคณิต” ด้วยการตัดกระดาษสีเป็นรูปเรขาคณิตต่างๆ สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม แล้วนำมาปะติดเป็นภาพ
ประถมปลาย เช่น เรียนเรื่อง “เศษส่วน” ด้วยพิซซ่า ให้แบ่งพิซซ่าออกเป็นส่วนๆ จาก เป็น และง่ายมากที่จะให้เปรียบเทียบว่าระหว่าง กับ แบบใดได้ชิ้นใหญ่กว่ากันเรียนสนุกแบบนี้เพิ่มพลังสมองอย่างไร
การได้ลงมือปฏิบัติ คิด และสรุปเป็นองค์ความรู้ของตัวเอง เหล่านี้เป็นการเชื่อมโยงสมองซีกซ้ายและซีกขวาให้ทำงานประสานกัน ทำให้ศักยภาพในการเรียนเพิ่มขึ้นค่ะ
ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ
อนุบาล เช่น เรียน “พยัญชนะ” ด้วยการใช้นิ้วจุ่มสีน้ำแล้วลากเป็นพยัญชนะ หรือผลัดกันเขียนพยัญชนะที่หลังหรือบนฝ่ามือ
ประถมต้น เช่น เรียน “มาตราตัวสะกด” โดยใช้เชือกแปลงร่าง ให้เด็กนำเชือกมาขดเป็นคำต่างๆ ที่สะกดด้วยแม่กบ แล้วนำมาแต่งประโยคหรือเรื่องราวจะช่วยให้จำตัวสะกดที่ไม่ตรงกับมาตราได้ง่ายผ่านการใช้มือสัมผัส การเห็นและการพูด
เรียนสนุกแบบนี้เพิ่มพลังสมองอย่างไร
การใช้ประสาทสัมผัสหลายด้านร่วมกันนอกจากจะทำให้เด็กสนุกและเกิดความเข้าใจที่ไม่ใช่ความทรงจำที่มาจากการท่องจำแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นกล้ามเนื้อสมองหลายๆ ส่วนให้ตื่นตัว เซลล์สมองมีการสื่อสารกันมากขึ้นและเกิดการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อีกด้วย
วิทยาศาสตร์
วัยอนุบาล เรียนเรื่อง “การจมการลอยของวัตถุ” ด้วยการทดลองหย่อนของลงในน้ำแล้วดูว่าจะจมหรือลอย โดยคุณพ่อคุณแม่ควรตั้งคำถามกระตุ้นให้เด็กสังเกต และคิดตามไปด้วย เช่น “เพราะอะไร…ก้อนหินจึงจมน้ำ แต่ทำไมตุ๊กตาเป็ดลอยน้ำได้”
ประถมปลาย เรียนเรื่อง “พลังงานกล” ที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนที่ของวัตถุ โดยการประดิษฐ์พาหนะจากเศษวัสดุ เช่น กล่องนม และใช้แรงยืดของยางหรือสปริงทำให้เคลื่อนที่ได้เรียนสนุกแบบนี้เพิ่มพลังสมองอย่างไร
ความสงสัย อยากรู้อยากเห็น เป็นลักษณะพื้นฐานของนักวิทยาศาสตร์
ดังนั้นการกระตุ้นให้เด็กเกิดคำถาม จินตนาการ สำรวจ ทดลอง ผ่านทางการเล่น ทำให้เซลล์สมองสร้างเครือข่ายเส้นใยสมองใหม่ๆ แตกแขนงเชื่อมติดต่อกันมากยิ่งขึ้น ทำให้เด็กสามารถสร้างความหมายและความรู้ขึ้นมาได้
บทความโดย: ดร.สุธาวัลย์ หาญขจรสุข