ไมเกรนเป็นหนึ่งในอาการปวดศีรษะที่ผู้ใหญ่เรารู้จักกันดี ไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่ตอนปวดรุนแรง เพราะไม่เหมือนปวดศีรษะทั่วไป เป็นอาการปวดศีรษะที่รบกวนชีวิต เพราะอาการกำเริบตอนไหนก็ไม่รู้ กำเริบเมื่อไรก็ทำอะไรไม่ได้ไปพักใหญ่ ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่มีอาการไมเกรนเป็นโรคประจำตัว ลูกคุณก็อาจเป็นไมเกรนได้! เราก็ไม่อยากให้เด็กๆ ต้องทรมานกับอาการปวดศีรษะอย่างนั้น แต่….เด็กๆ ก็เป็นไมเกรนได้ค่ะ
หลายๆ โรคที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ นั้นจะวินิจฉัยจากคำบอกเล่าหรืออธิบายจากเด็กๆ เป็นเรื่องยาก ไมเกรนในเด็กคือหนึ่งในหลายโรคที่เป็นอย่างนั้น เพราะเขายังอธิบายอาการได้ไม่หมดหรือละเอียดเท่าผู้ใหญ่ จึงต้องอาศัยประสบการณ์ของคุณหมอผู้เชี่ยวชาญและการสังเกตของคุณพ่อคุณแม่ร่วมกัน
คุณหมอลัลลิยา ธรรมประทานกุล จะมาบอกเล่าถึงการสังเกตและวิธีการป้องกันอาการไม่พึงประสงค์นี้ในเด็กๆ ให้กระทบกับชีวิตประจำวันน้อยที่สุด คุณพ่อคุณแม่จะได้นำไปปรับใช้กันค่ะ
Q1 ไมเกรนในเด็กเหมือนกับในผู้ใหญ่หรือไม่คะ
คุณหมอลัลลิยา :อาการไมเกรนในเด็กหรือผู้ใหญ่มีทั้งที่เหมือนกันและต่างกัน ที่เหมือนกัน คือ ปวดศีรษะ ปวดข้างเดียว บางครั้งปวดย้ายข้างไปมาซ้ายขวา บางครั้งก็ปวดสองข้าง เป็นลักษณะปวดตุบๆ อาจมีคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย
ก่อนปวดศีรษะมักจะมีอาการนำ เช่น เห็นแสงวิบวับ เห็นจุดเล็กๆ หรือภาพที่เบลอ มีภาวะไม่ชอบแสงจ้า ไม่ชอบเสียงดัง บางคนอาจรู้สึกมึนๆ
ส่วนที่ต่างกันอย่างชัดเจนคือ ผู้ใหญ่จะบรรยายอาการได้ แต่เด็กไม่สามารถบอกได้ บางคนอาจเล่าได้ว่าปวดหัวตุบๆ เหมือนมีคนมาทุบหัว แต่ก็ไม่สามารถระบุได้ชัดว่าเขาปวดหัวแบบไหน บางคนไม่ได้ปวดข้างเดียว บางครั้งก็ปวดทั้งสองข้างค่ะ
Q2 พ่อแม่จะรู้ได้อย่างไรว่า ลูกปวดศีรษะธรรมดาหรือปวดไมเกรน และเด็กวัยไหนถึงจะเป็นไมเกรนได้คะ
คุณหมอลัลลิยา : จากการศึกษาเก็บข้อมูลโรคไมเกรนในเด็กไทยที่เราทำ พบเด็กเริ่มเป็นไมเกรนตั้งแต่ชั้นประถมต้นเลยค่ะ และเด็กส่วนใหญ่เมื่อซักประวัติแล้วจะพบว่าพ่อหรือแม่เป็นไมเกรนด้วย โดยทั่วไปแล้วเริ่มแรกเลยคุณพ่อคุณแม่จะนึกไม่ถึงว่าลูกเป็นไมเกรนค่ะ
โดยทั่วไปแล้ว เด็กที่มาพบหมอด้วยอาการปวดศีรษะ คุณพ่อคุณแม่จะพามาด้วยสองกรณี คือปวดศีรษะรุนแรงมาก อีกกรณีคือปวดศีรษะเรื้อรัง ปวดๆ หายๆ มานานแล้วไม่หาย เป็นบ่อย อาการปวดศีรษะรุนแรงขึ้น ซึ่งจากที่บอกก่อนหน้านี้ว่าเด็กๆ มักบอกเล่าอาการไม่ถูก การจะวินิจฉัยได้ว่าอาการปวดศีรษะนั้นเป็นเพราะสาเหตุใด ต้องมีการประเมิน จึงต้องใช้การสังเกตและถ้าจดบันทึกข้อมูลอาการปวดศีรษะแต่ละครั้งที่ลูกเป็นได้ เช่นอาการปวดเป็นอย่างไร ปวดนานเท่าไหร่ ทำอะไรแล้วหาย ก่อนปวดศีรษะทำอะไร อะไรน่าจะเป็นปัจจัยกระตุ้น ฯลฯ จะช่วยให้การวินิจฉัยแม่นยำมากขึ้นค่ะ
Q3 ข้อสังเกต อาการไมเกรนในเด็กมีอะไรบ้างคะ
คุณหมอลัลลิยา : จากการเก็บข้อมูลของเรา มีข้อสังเกตว่า “เด็กที่ปวดไมเกรน มักจะหนีออกจากตัวกระตุ้น เช่น มักจะเลือกไปนอนนิ่งๆ ในที่เงียบๆ มืดๆ เย็นๆ เพราะช่วยให้เขารู้สึกดีขึ้น ระหว่างมีอาการเขาไม่อยากทำอะไร บางคนอาจคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วยหรือบางคนอาจจะมีอาการนำ เช่น หนึ่งวันก่อนเป็นเขาจะหงุดหงิด งอแงผิดปกติ หรือบางคนจะง่วงนอนมากหนึ่งวันก่อนเป็น หรือบางคนก็มีอาการนำ เช่น เห็นแสงเป็นจุดๆ หรือวิบวับ เห็นภาพเบลอๆ เป็นต้น”
Q4 เมื่อเกิดอาการปวดศีรษะไมเกรน ทำอย่างไรได้บ้างคะ
คุณหมอลัลลิยา : การรักษาเบื้องต้นของอาการปวดศีรษะในเด็กไม่ว่าจากสาเหตุใด คือ กินยาบรรเทาปวดทั่วไปและนอนพัก (ยกเว้นกรณีฉุกเฉินทางการแพทย์ที่ปวดรุนแรงแบบที่ต้องเข้าพบแพทย์ทันที) ไมเกรนก็เช่นกัน ในขั้นแรกคือกินยาบรรเทาปวดและนอนพักในที่มืดและเงียบ ลดปัจจัยกระตุ้นไมเกรน แต่หากอาการรุนแรงมาก การบรรเทาอาการเบื้องต้นช่วยไม่ได้ ส่งผลกับชีวิตประจำวันและการเรียนมากๆ เช่น ขาดเรียนบ่อย ก็อาจต้องได้รับยาเฉพาะเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นไมเกรนบ่อยๆ ซึ่งเด็กหลายคนไม่จำเป็นต้องใช้
Q5 ไมเกรนในเด็กสามารถหายขาดได้หรือไม่
คุณหมอลัลลิยา : ไมเกรน ไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่ถ้าเป็นแล้วก็มักจะรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน และถ้าเป็นในเด็กอาจกระทบกับการเรียน และเด็กๆ อาจมีความกังวลกับอาการของตัวเอง ส่งผลกับการทำกิจกรรมต่างๆ ได้
จากการเก็บข้อมูลพบว่า “เด็กที่เป็นไมเกรน ครึ่งหนึ่งเมื่อโตขึ้น อาการจะหายไป ตรงกันข้ามหากปล่อยไว้ โดยไม่ได้รับการดูแล ก็อาจจะเป็นเรื้อรั้งไปทั้งชีวิต
ดังนั้นการสังเกตเพื่อวินิจฉัยให้ได้ และหาปัจจัยกระตุ้นได้ ก็สามารถหายได้ แต่แม้จะหาปัจจัยกระตุ้นไม่พบ การช่วยกันปรับการดำเนินชีวิตเพื่อลดการเกิดไมเกรน เช่น นอนให้พอดี เข้านอนเป็นเวลา กินอาหารตรงมื้อ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ก็สามารถช่วยลดการเกิดไมเกรน ทำให้เด็กๆ ใช้ชีวิตได้ปกติสุขขึ้นค่ะ”
อะไรเป็นปัจจัยกระตุ้นไมเกรนในเด็กได้บ้าง
คนเป็นไมเกรนแต่ละคนมีปัจจัยกระตุ้นต่างกัน การรู้ว่าอะไรเป็นปัจจัยกระตุ้นอาการเพื่อหลีกเลี่ยง จะช่วยลดการเกิดอาการได้มาก มาดูกันว่าอะไรบ้างจะเป็นปัจจัยกระตุ้นอาการไมเกรนของเด็กๆ
1. แสง แสงจ้า แสงที่สว่างเกินไป โดยเฉพาะแสงที่มาจากหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ
2. เสียง เสียงที่ดังเกินไป ก็สามารถกระตุ้นการเกิดไมเกรนได้
3. อาหาร การกินข้าวไม่ตรงเวลา อดอาหาร ดื่มน้ำไม่พอ หรือส่วนประกอบในอาหาร เช่น ผงชูรส คาเฟอีน สารกันบูดบางกลุ่ม หรือ เนยแข็ง เป็นต้น
4. อุณหภูมิ การเปลี่ยนอุณหภูมิอย่างรวดเร็ว เช่น ไปตากแดดจ้ามา แล้วเข้ามาในห้องแอร์
5. การนอน การนอนที่ไม่ปกติ เช่น นอนน้อยเกินไป หรือนอนมากเกินไป (เกินกว่าเวลาปกติที่เคยนอน)
6. ร่างกาย เมื่อใช้ร่างกายหนักเกินไป เช่น ออกกำลังกายอย่างหนักหน่วง หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ
7. ความเครียด ไม่ได้พบแต่ในผู้ใหญ่ เด็กๆ ก็เครียดได้
ข้อมูลจาก : พญ.ลัลลิยา ธรรมประทานกุล กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง
ภาพ: shutterstock