ส่อง 29 นโยบายเรียนดี ของผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ - Amarin Baby & Kids
29 นโยบายเรียนดี

ส่อง 29 นโยบายเรียนดี ของผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

Alternative Textaccount_circle
event
29 นโยบายเรียนดี
29 นโยบายเรียนดี

 

ส่อง 29 นโยบายเรียนดี ของผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

เรื่องการเรียนเป็นเรื่องสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ทุกคนคำนึงถึงเสมอ ทุกคนย่อมอยากให้ลูกได้เรียนโรงเรียนที่มีคุณภาพ และได้รับการศึกษาที่ดีที่เท่าเทียม ซึ่งคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. คนล่าสุด ก็ได้ร่างนโยบาย เรียนดี สำหรับโรงเรียนในสังกัดกทม. ไว้ถึง 29 ข้อ นับเป็นนิมิตหมายอันดีสำหรับเด็ก ๆ รวมทั้งคุณครูและพ่อแม่ ที่จะได้รับสิ่งดี ๆ เหล่านี้ค่ะ 29 นโยบายเรียนดี มีอะไรบ้างมาดูกันค่ะ

1. ให้การศึกษา พัฒนานักเรียนสู่พลเมืองโลก หนึ่งใน 29 นโยบายเรียนดี

การพัฒนานักเรียนสู่การเป็นพลเมืองโลก (global citizen) จำเป็นต้องปรับปรุงหลักสูตรให้เท่าทันเหตุการณ์ต่างๆ โดยเริ่มจากเพิ่มการศึกษาประวัติศาสตร์และประเด็นสังคมต่างๆ ในโรงเรียนสังกัด กทม.

2.เรียนฟรี ชุดฟรี ไม่มีเก็บเพิ่ม

กทม.จะเพิ่มเติมเงินสนับสนุนเพื่อให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกี่ยวกับการเรียน ได้แก่
1. เพิ่มเงินอุดหนุนค่าชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียนให้สอดคล้องกับราคาตลาด (ครอบคลุมราคา เสื้อ กางเกง ถุงเท้า รองเท้า กระเป๋า และอุปกรณ์การเรียนอื่น ๆ)

2. เพิ่มจำนวนการอุดหนุนให้สอดคล้องและครอบคลุมกับการใช้งานจริง

3.โรงเรียนเป็นแหล่งโภชนาการที่มีคุณภาพให้กับเยาวชนทั้งมื้อเช้าและมื้อกลางวัน

กทม.จะผลักดันให้โรงเรียนเป็นตัวกลางในการแจกจ่ายอาหารให้กับนักเรียนและชุมชนในพื้นที่ เพื่อไม่เป็นการผลักภาระในการดูแลเด็กนักเรียนให้กับผู้ปกครอง นอกจากนี้ กทม.จะร่วมกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคมในการออกแบบเมนูอาหารอย่างสร้างสรรค์ โดยให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการช่วยเลือกโดยคำนึงถึงคุณค่าทางอาหารครบถ้วนตามหลักโภชนาการ และพิจารณาจัดทำอาหารที่สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มคน เช่น สอดคล้องกับความเชื่อศาสนา เป็นต้น

4. After School Program เรียน เล่น หลังเลิกเรียน

กทม.จะพัฒนาโครงการหลังเลิกเรียน (After School Program) โดยการจัดกิจกรรมหลังเลิกเรียน พร้อมกับสนับสนุนอุปกรณ์สำหรับการทำกิจกรรม บุคลากร และค่าตอบแทนเพิ่มเติมสำหรับคุณครูที่อยู่ดูแลนักเรียน ทั้งนี้จะประสานและจัดตารางให้เครือข่ายและอาสามาช่วยดูแลนักเรียนและจัดกิจกรรมในโรงเรียนในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย

5. เปิดโรงเรียนวันหยุดเป็นพื้นที่กิจกรรม พื้นที่การเรียนรู้สำหรับนักเรียนและชุมชน

กทม.จะเพิ่มประสิทธิภาพในการเป็นพื้นที่การเรียนรู้ของโรงเรียนให้กลายเป็นพื้นที่กิจกรรม พื้นที่แห่งการเรียนรู้ของชุมชนและคนในพื้นที่ โดยการพัฒนากิจกรรมในโรงเรียนสำหรับวันหยุดร่วมกันระหว่างโรงเรียน นักเรียน และชุมชน (เช่น การแข่งขันกีฬา การจัดการแสดงดนตรี การจัดตลาดนัด การจัดกิจกรรมฝึกอาชีพ) ให้สอดคล้องกับความสนใจของประชาชนในพื้นที่

6. ยกระดับห้องแล็บคอมพิวเตอร์ทุกโรงเรียนให้ทันสมัยและเพียงพอ

เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับหลักสูตรและรูปแบบการเรียนการสอนที่จะเกิดขึ้น (เช่น นโยบายพัฒนาโรงเรียน 3 ภาษา สอนผ่านหลักสูตรไทย ต่างประเทศและเทคโนโลยีเพื่อการทำงาน) กทม.จะจัดสรรงบประมาณเพื่อปรับปรุงห้องแล็บคอมพิวเตอร์ในโรงเรียนให้มีความทันสมัยใช้งานได้จริงทั้งในด้าน Hardware ที่เพียงพอเหมาะสมกับการใช้งานและ Software ที่ถูกต้องตามกฎหมายและเป็นปัจจุบัน

7. พัฒนาฟรี Wi-Fi ทุกโรงเรียน รองรับการสอนผ่านสื่อการเรียนการสอนออนไลน์ และการสืบค้นข้อมูล

กทม.จะผลักดันให้มีการติดตั้ง Wi-Fi ฟรีสำหรับทุกโรงเรียนในกรุงเทพฯ โดยนอกจากจะให้นักเรียนใช้สำหรับการเรียนและการสืบค้นแล้วยังจะเปิดให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามาใช้งานได้ในวันหยุด เพื่อช่วยผลักดันให้โรงเรียนเป็นแหล่งการเรียนรู้ของชุมชน

8.ร่วมกับเอกชนในการจัดหาแท็บเล็ตให้นักเรียนใช้ โดยเฉพาะในช่วงการ study from home

กทม.จะร่วมมือกับเอกชนในการจัดหาแท็บเล็ตสำรองให้นักเรียนที่ขาดอุปกรณ์สามารถยืมกลับไปบ้านเพื่อใช้งานได้ โดยนอกจากแท็บเล็ตแล้ว กทม.จะจัดเตรียมซิมอินเทอร์เน็ตไว้ให้นักเรียนยืมเพิ่มเติมด้วย

9.คืนครูให้นักเรียน ลดภาระงานเอกสารด้วยเทคโนโลยี

กทม.จะลดภาระงานเอกสารของคุณครู และคืนคุณครูให้กับนักเรียนผ่านกระบวนการดังนี้

1. Digitalization : ยกเครื่องทั้งระบบ เปลี่ยนจากการทำงานบนกระดาษมาเป็นระบบดิจิทัล เพื่อคุณครูจะได้ไม่ต้องกรอกข้อมูลซ้ำซ้อนหากเป็นข้อมูลชุดเดียวกัน เพื่อช่วยลดเวลาและลดภาระงาน โดยมี Digital Talent เป็นผู้ช่วยฝึกและให้คำปรึกษาคุณครูด้านเทคโนโลยี

2. คืนข้อมูลให้คุณครู : หน่วยงานหรือต้นสังกัดต้องสรุปข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์ สังเคราะห์แล้วกลับไปให้โรงเรียนและคุณครูเห็นผลลัพธ์เพื่อพัฒนาต่อยอด หากข้อมูลไหนที่คุณครูได้รับมอบหมายให้เก็บแต่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ให้ตัดออกเพื่อลดภาระงาน

10.เพิ่มสวัสดิการครูให้เหมาะสม

กทม.จะเพิ่มสวัสดิการของครูในมิติต่าง ๆ ได้แก่

1. การจัดหาที่อยู่อาศัยให้กับครูเพิ่มเติมตามความต้องการ (มุ่งเน้นในพื้นที่ที่มีค่าเช่าสูง)

2. ช่วยเหลือด้านค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เพื่อสร้างให้สวัสดิการของครูมีความครอบคลุมค่าใช้จ่ายหลัก ๆ ในการดำรงชีวิตมากยิ่งขึ้น

11.เพิ่มครูผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ช่วยครู สำหรับวิชาเฉพาะทาง เช่น ภาษา เทคโนโลยี

กทม.จะพัฒนาครูผู้เชี่ยวชาญต้นแบบในประเด็นต่างๆ เช่น วิชาวิทยาการคำนวณ (coding), วิชาภาษาต่างประเทศ ที่มีความเข้าใจเชิงลึกในเนื้อหาวิชาและเทคนิคในการสอน โดยอาศัยโครงการการร่วมมือกับสถาบันอุดมศึกษา โครงการครูแลกเปลี่ยนระหว่างครูไทยและครูต่างชาติ เพื่อให้ครูผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้เวียนไปยังโรงเรียนต่างๆ หรือสอนผ่านออนไลน์ เป็นตัวอย่างให้ครูแต่ละโรงเรียนได้เรียนรู้ ทำความเข้าใจ และแลกเปลี่ยนแนวทางการเรียนการสอนกันเพื่อให้คุณครูแต่ละโรงเรียนสามารถพัฒนาแนวทางการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับครูและนักเรียนได้

เขตหลักสี่ขานรับนโยบายเรียนดี ของผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

12.ปรับหลักเกณฑ์การเลื่อนวิทยฐานะให้สอดคล้องกับการสอน ลดภาระการทำเอกสาร

กทม.จะศึกษาแนวทางในการประเมินผลวิทยฐานะใหม่ เช่น ระบบการตั้งเป้าหมายในการพัฒนาบุคลากรครูร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ ระบบการประเมินผลงานตามสมรรถนะ โดยระบบการประเมินใหม่นี้จะตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ไม่เป็นภาระงานเพิ่มเติมให้กับครูจนไม่มีเวลาให้กับนักเรียน

13.Digital Talent ผู้ช่วยด้านเทคโนโลยีให้กับคุณครู

กทม.จะสร้างทีม Digital Talent เพื่อช่วยเหลือในด้านความรู้และสร้างความคุ้นเคยสำหรับการใช้เทคโนโลยีให้กับครูกทม. โดยกำหนดให้ Digital Talent หนึ่งคนดูแลโรงเรียนประมาณ 5 โรงเรียนโดยจะมีการจัดกลุ่มให้โรงเรียนที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน (เช่น โรงเรียนมัธยมปลายเหมือนกัน อยู่ในพื้นที่ในบริเวณใกล้เคียงกัน) เพื่อให้สามารถช่วยดูแลครูได้อย่างทั่วถึงในแต่ละด้านที่กำหนดไว้

14.พัฒนาโรงเรียน 3 ภาษา สอนผ่านหลักสูตรไทย ต่างประเทศและเทคโนโลยีเพื่อการทำงาน

พื่อให้มั่นใจว่านักเรียนทั้งหมดที่อยู่ในการดูแลของ กทม. เมื่อจบการศึกษาไปแล้วจะสามารถสื่อสารภาษาต่างประเทศและใช้เทคโนโลยีสำหรับการทำงานได้ กทม.จะ

1. พัฒนาหลักสูตร 3 ภาษาโดยเพิ่มการเรียนบางวิชาที่ศูนย์คอมพิวเตอร์ เช่น คณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ เพื่อให้นักเรียนมีความคุ้นเคยกับการใช้คอมพิวเตอร์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะโปรแกรมพื้นฐานสำหรับการทำงาน เช่น Microsoft Office

2. ขยายความครอบคลุมของของหลักสูตร 2 และ 3 ภาษาให้ครอบคลุมโรงเรียนของ กทม. ให้ได้มากที่สุด

15.สร้างเครือข่ายร่วมกับภาคเอกชน โครงการพี่สอนน้องนอกเวลาเรียน

กทม.จะช่วยสนับสนุนให้โครงการเหล่านี้เข้ามาดำเนินกิจกรรมในโรงเรียนมากยิ่งขึ้น  ผ่านการออกแบบหลักสูตรร่วมกัน ทั้งในมิติวิชาการที่จะเป็นการเสริมความรู้เชิงลึกหรือการทดลองเพิ่มเติมนอกห้องเรียน และการเสริมในมิติการใช้ชีวิตและวิชาชีพ (เช่น design thinking, ร้องเพลง, เต้น) ซึ่งจะเป็นการช่วยเปิดโลกทัศน์ให้กับนักเรียนในสังกัด กทม.ได้ โดยนอกเหนือจากโครงการของเอกชนที่มีอยู่ในปัจจุบันแล้ว กทม.จะร่วมมือกับนิสิตนักศึกษาฝึกสอนตามสถาบันอุดมศึกษาเพื่อเข้ามาช่วยเป็นอีกแรงในการขับเคลื่อนโครงการเหล่านี้ด้วย

16.โรงเรียนประสิทธิภาพสูงด้วย open data

กทม.จะเปิดเผยข้อมูลของโรงเรียนในมิติต่างๆ เช่น การใช้งบประมาณ แผนการดำเนินการ ตัวชี้วัด ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ผลการประเมินคุณภาพโรงเรียน ขึ้นอยู่บน Cloud พร้อมกับการแสดงผลบน Dashboard ที่สามารถเข้าใจได้ง่าย เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่างๆ (เช่น โรงเรียน ภาคประชาสังคม ผู้ปกครอง เอกชน) ให้เข้ามาช่วยกันคิด แก้ไขปัญหา ออกแบบแนวทางการพัฒนาโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพและได้ผลลัพธ์ที่ดีต่อนักเรียนมากยิ่งขึ้น

17.พัฒนาการเรียนการสอนในโรงเรียนด้วยแนวคิด ‘โรงเรียนแห่งการเรียนรู้’ (Learning School)

กทม.จะนำแนวทางโรงเรียนแห่งการเรียนรู้ (Learning School) ที่เน้นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนักเรียน ครู ผู้บริหาร ผู้ปกครอง นักวิชาการ ชุมชน และภาคส่วนต่าง ๆ (school as a learning community) ซึ่งประกอบด้วยแนวทางหลัก ๆ ดังนี้

– นักเรียน: ส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติ (action-oriented) และเรียนรู้ร่วมกันจากเพื่อน ๆ ในระดับชั้นเรียน เพื่อให้เกิดสมรรถนะผู้เรียน (competency) ที่ทันต่อการเรียนรู้และการทำงานแห่งอนาคต

– ครู: พัฒนาครูจากการทำงานจริง และ จากคำแนะนำของครูท่านอื่น ๆ ‘ครูทุกคนเก่งขึ้นจากห้องเรียนของตนเอง’ ผ่านชุมชนแห่งการเรียนรู้ ‘ครูช่วยครู’ ทั้งภายในโรงเรียน ระหว่างโรงเรียนและจากการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันของเครือข่ายคุณครูต่าง ๆ

– ผู้อำนวยการ: ร่วมออกแบบ สะท้อนแนวคิด แนะนำการเรียนการสอนให้กับครู ไม่ว่าจะครูใหม่ หรือ ครูเก่า สร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นภายในองค์กร

18.พัฒนาศูนย์เด็กอ่อน-เด็กเล็กใกล้ชุมชนและแหล่งงาน

กทม.จะพัฒนาศูนย์ดูแลเด็กอ่อน-เด็กเล็กในประเด็นดังต่อไปนี้

1. เพิ่มปริมาณ – เพิ่มการจัดตั้งศูนย์ดูแลเด็กอ่อน-เด็กเล็กโดยเฉพาะศูนย์ขนาดเล็กในชุมชน ศูนย์บริการตามแหล่งงานให้มีความครอบคลุมกับความต้องการ

2. เพิ่มการบริการ – ขยายการดูแลให้ครอบคลุมเด็ก เริ่มตั้งแต่ 3 เดือน หรือ 6 เดือน ส่วนสำหรับช่วงอายุ 6 เดือน-2 ขวบครึ่ง จะเป็นการฝากรับเลี้ยงตั้งแต่ 7-8 โมงเช้า จนถึง 5-6 โมงเย็น และไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับการดูแลเด็กอ่อน

3. เพิ่มหนังสือ – จัดหาหนังสือดี มีคุณภาพ เหมาะสมสำหรับเด็ก 3 – 6 เดือน – 3 ปี (กรมอนามัยได้มีการคัดสรรนิทานที่เหมาะสำหรับเด็กอายุ 0 – 3 ปี จำนวน 100 เรื่อง)

4. เพิ่มบุคลากรและค่าตอบแทน –  กทม.จะร่วมมือกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาและอบรมบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถในการดูแลเด็กเล็ก เด็กอ่อน และเสริมความเชี่ยวชาญในการใช้หนังสือเพื่อพัฒนาเด็กให้เหมาะสมตามช่วงวัย พร้อมกับปรับค่าตอบแทนบุคลากรตามการฝึกฝนให้เหมาะสมกับค่าครองชีพและสอดคล้องกับค่าตอบแทนของตลาด

5. เพิ่มค่าอาหารสำหรับเด็กอ่อนและเด็กเล็ก – เพิ่มเงินสนับสนุนค่าอาหารแก่ศูนย์เด็กอ่อน-เด็กเล็ก ให้เป็น 40 บาท/วัน เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับค่าอาหารของระดับอนุบาล-มัธยมของโรงเรียนในสังกัด กทม.

6. ส่งเสริมหลักสูตร – เน้นให้เด็กทำเป็น เล่นเป็น เรียนรู้เป็น

19.ส่งเสริมหลักสูตร คิดเป็น ทำเป็น เรียนรู้เป็น สำหรับเด็กช่วง 0-8 ปี

กทม.จะนำแนวทาง คิดเป็น ทำเป็น เรียนรู้เป็น เข้ามาเป็นส่วนประกอบหลักในการดูแลเด็กทั้งในศูนย์ดูแลเด็กอ่อน เด็กเล็ก อนุบาล ในสังกัด กทม. ในโรงเรียนประถมโดยเฉพาะในช่วง ป.1-2 ควบคู่ไปกับการเรียนเนื้อหาวิชาการ โดยมีหลักการ เช่น

1. ตั้งคำถามแทนตอบคำถาม

2. ทำแทนการเรียนอย่างเดียว

3. วางแผนการทำงาน (วางแผนการทำอาหาร / วางแผนการเที่ยว)

4. ท้าทาย ลองผิดลองถูก

5. ทบทวนประสบการณ์ สรุปบทเรียน

20.พัฒนาห้องสมุดและห้องการเรียนรู้เคลื่อนที่

กทม.จะจัดหน่วยรถห้องสมุดเคลื่อนที่เวียนตามชุมชนและโรงเรียนต่างๆ เพื่อนำหนังสือไปให้นักเรียน ลดภาระการเดินทางและเพิ่มความสะดวกให้กับเด็กๆ ได้เข้าถึงแหล่งความรู้ได้ง่ายยิ่งขึ้น

– เพิ่มรถห้องสมุด

– เพิ่มรถห้องสมุดขนาดเล็กให้สามารถเข้าออกได้หลากหลายที่

– ขยายการให้บริการเป็น 7 วัน

– ขยายภารกิจให้บริการหลากหลายพื้นที่เพิ่มเติม เช่น สวนสาธารณะ ลานกีฬา เป็นต้น

– เพิ่มหนังสือนิทาน หนังสือภาพสำหรับเด็ก ให้มากและหลากหลายขึ้น รวมถึงการส่งเสริมกิจกรรมการอ่าน

21.ดูแลห้องสมุดชุมชน บ้านหนังสือ ให้มีความทันสมัยน่าใช้งาน

กทม.จะมีการดูแล ปรับปรุงสภาพ รูปแบบของพื้นที่ให้มีความร่วมสมัย เป็นมิตร น่าใช้งาน เช่น การปรับปรุงโครงสร้างอาคาร และสภาพแวดล้อมภายในอาคารให้เหมาะสม การอัพเดตหนังสือข้างในบ้านหนังสือให้เป็นปัจจุบัน และเพิ่มเติมนิทาน หรือหนังสือภาพสำหรับเด็ก ให้มีความหลากหลายและเพียงพอ รวมถึงการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน การติดตั้ง Wi-Fi ฟรี เพื่อสร้างให้บ้านหนังสือเป็นแหล่งการเรียนรู้ใหม่ ๆ สำหรับคนในพื้นที่

22.ห้องสมุดออนไลน์ (e-Library) อ่านอีบุ๊กได้จากทุกที่

กทม.จะเพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งความรู้และส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน โดย

– พัฒนาห้องสมุดออนไลน์ (e-Library) แพลตฟอร์มยืมหนังสือออนไลน์อ่านอีบุ๊กได้ฟรี โดยจะประสานงานสำนักพิมพ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ที่สามารถให้ประชาชนยืมหนังสือในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้

– จัดทำระบบสำรวจความต้องการหนังสือของประชาชนเพื่อพัฒนาคลังห้องสมุดออนไลน์ที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน

– เปิดโอกาสให้ประชาชนหรือเอกชนสนับสนุนการบริจาค e-Book ให้ห้องสมุดออนไลน์ของกทม. ได้

23.เพิ่มฟังก์ชั่นให้ห้องสมุดเป็น Co-working Space

กทม.จะเพิ่มฟังก์ชั่นห้องสมุดให้เป็น Co-working Space

– บริการ Wi-Fi ฟรีและเสถียร

– บริการปลั๊กไฟเพียงพอ

– แยกสัดส่วนพื้นที่ห้องเงียบและห้องใช้เสียง

– ปรับวันเวลาทำการให้สอดคล้องกับการใช้งานของประชาชนโดยให้เปิดบริการในวันหยุดนักขัตฤกษ์ และ เปิดให้บริการในวันจันทร์ในช่วงปิดภาคเรียน

24.ฝึกอาชีพพัฒนาทักษะยุคใหม่ตอบโจทย์ตลาดงาน

กทม.จะเพิ่มทางเลือกให้กับการศึกษาผ่านโรงเรียนและศูนย์ฝึกอาชีพ กทม. ทั้งการสนับสนุนการพัฒนาทักษะอาชีพที่ทำอยู่ในปัจจุบันเพื่อรองรับการประกอบอาชีพหลักหรืออาชีพเสริม และการสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรเข้าสู่ระบบแรงงานเอกชนโดยการพัฒนาหลักสูตรที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เช่น e-Commerce (ผ่านการสำรวจความต้องการจากเอกชนในพื้นที่ หรือการพัฒนาหลักสูตรร่วมกันกับเอกชน)

25.วิชาศิลปะนอกห้องเรียน ส่งเสริมความคิด ความสร้างสรรค์ ผ่านแนวร่วมศิลปินทั่วกรุง

กทม.จะเป็นตัวกลางในการประสานระหว่างเครือข่ายศิลปินในกรุงเทพ และหอศิลป์กรุงเทพฯ ในการร่วมกันพัฒนาวิชาศิลปะให้กับนักเรียนในสังกัด กทม. เพื่อให้วิชาศิลปะมีความน่าสนใจ ช่วยขยายกรอบความคิดสร้างสรรค์และการแสดงออกของนักเรียน นอกจากนี้ กทม.จะช่วยประสานระหว่างโรงเรียนและผู้จัดงานกิจกรรมเชิงศิลปวัฒนธรรมที่ถูกจัดขึ้นในพื้นที่ กทม. โดยเฉพาะที่จัดขึ้นจากนโยบาย เช่น นโยบาย ‘จัดแสดงงานศิลปะกลางแจ้งทุกมุมเมืองเป็นพื้นที่ศิลปะ’ ‘กรุงเทพฯ พื้นที่แห่งดนตรีและศิลปะการแสดง’ และการจัดแสดงงานศิลปะอื่น ๆ ในพื้นที่ของ กทม. หรือ กทม.เป็นผู้ประสานงานเพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสในการชมศิลปะและวัฒนธรรม ซึมซับศิลปะใกล้ตัว

26.ขยายขีดความสามารถของโรงเรียนและศูนย์ฝึกอาชีพ กทม. ให้สามารถดูแลและฝึกทักษะคนพิการได้

กทม.จะผลักดันให้โรงเรียนฝึกอาชีพและศูนย์ฝึกอาชีพ ของ กทม.

– พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามมาตรฐาน Universal Design ให้รองรับทุกคน

– พัฒนาหลักสูตรที่รองรับและเหมาะสมสำหรับคนพิการเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดเป็นอาชีพ สร้างรายได้แก่คนพิการอย่างยั่งยืน

27.ปรับเงื่อนไขทุนเอราวัณ เพิ่มโอกาสสร้างครู กทม.

กทม.จะดำเนินการ

– สำรวจและทบทวนวิชาที่โรงเรียนในสังกัด กทม.ขาดบุคลากร และกำหนดสาขาการศึกษาที่ขาดเปิดรับทุนให้สอดคล้องกับสาขาวิชานั้น ๆ

– หากมีผู้รับทุนไม่ครบเป้าหมาย 100 ทุนในแต่ละปี จะขยายกลุ่มเป้าหมายในการรับทุน โดยอาจเปิดโอกาสให้นักเรียนไม่จำกัดสังกัดสมัครขอรับทุนได้ หรือพิจารณาให้ทุนที่เหลือกับนักศึกษาที่กำลังศึกษาในสาขาวิชาที่ขาดแคลน

28.วิชาชีพเลือกเสรีสำหรับนักเรียน

กทม.จะพัฒนาหลักสูตรวิชาชีพเลือกเสรีให้กับนักเรียนระดับมัธยมใน กทม.โดย

– พัฒนาวิชาเลือกร่วมกับเครือข่ายต่าง ๆ เช่น สถาบันอุดมศึกษา สถาบันอาชีวะ โรงเรียนฝึกอาชีพ / ศูนย์ฝึกอาชีพ กทม. และองค์กรเอกชนต่าง ๆ  วิชาที่ควรขยายผลเบื้องต้น เช่น

1. วิชาการเป็นผู้ประกอบการ (entrepreneurship) – พัฒนาความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะการเป็นผู้ประกอบการ ตั้งแต่การผลิต การจัดการสินค้าและบริการ การขาย การตลาดทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ และความรู้ที่เกี่ยวข้องกับภาษี

2. วิชาการเงินส่วนบุคคลและบัญชีครัวเรือน – ให้ความรู้เกี่ยวความรู้ความเข้าใจทางการเงิน เช่น การจัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย การวางแผนทางการเงินในวัยต่าง ๆ การออมและการลงทุนการสร้างอิสรภาพทางการเงินของตนเองและครอบครัว เช่น

3. สอนเกี่ยวกับภาษีเงินได้ การประกันชีวิต การลงทุนประเภทต่าง ๆ

4. วิชาชีพอุตสาหกรรม (ช่าง) – สอนเกี่ยวกับข้อมูลพื้นฐานในการเป็นประกอบอาชีพต่าง ๆ เช่น ช่างไฟฟ้า ช่างยนต์ ช่างเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

5. วิชาคหกรรม เช่น  การทำอาหาร งานประดิษฐ์ งานฝีมือ งานบริการต่าง ๆ  เช่นการทำอาหารไทย อาหารต่างชาติ การอบขนม เป็นต้น

– กำหนดให้วิชาเหล่านี้เป็นวิชาเลือกให้กับนักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม. โดยที่การเรียนวิชาเหล่านี้จะถูกนำไปคิดเกรดของนักเรียนด้วย (โดยจะเน้นพัฒนาที่ระดับชั้นมัธยมปลายก่อนแล้วจึงขยายไปยังมัธยมต้นในวิชาที่เหมาะสม)

– ปรับเพิ่ม – ลดรายวิชาเลือกเพิ่มเติมตามความสนใจของนักเรียนในแต่ละปีเพื่อให้หลักสูตรมีความเป็นปัจจุบันและสอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนและตลาดแรงงานอยู่เสมอ

29.หลักสูตรการเรียนรวม คือการศึกษาสำหรับทุกคน

กทม.จะ

– เพิ่มทรัพยากร เพิ่มบุคลากรในโครงการจัดการศึกษาพิเศษ เช่น ครูการศึกษาพิเศษ ครูล่าม เป็นต้น

– เพิ่มองค์ความรู้ด้านจิตวิทยาและการดูแลเด็กพิเศษให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้อง

– สร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรร่วมกับนักเรียนคนอื่น ๆ เพื่อไม่ให้รู้สึกแปลกแยก

– ให้ความรู้ความเข้าใจกับผู้ปกครองถึงการยอมรับความช่วยเหลือและการรักษาที่ถูกต้อง

– สนับสนุนเครือข่ายของผู้ปกครองเด็กพิการเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนมุมมอง ความช่วยเหลือ และประสบการณ์การเลี้ยงดูบุตร

คุณพ่อคุณแม่สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

ขอบคุณข้อมูลจาก

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

อัพเดทล่าสุด! ค่าเทอมโรงเรียนอนุบาล 2022 รวม 60 แห่ง

6 ประเภท “โรงเรียนประถม” ที่พ่อแม่ต้องรู้ก่อนสมัครเรียน!

10 “โรงเรียนอนุบาล” ยอดนิยมพร้อมหลักสูตร ปี 2565

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up