ตอนนี้เขาชอบหลอกน้องว่า ตุ๊กตาหุ่นยนต์ของมีชีวิต และจะออกมาเดินเล่นตอนกลางคืน คุณแม่ออกปากบ่นทำเอาคนน้องกลัวจนไม่กล้านอนเลยค่ะ
นิสัยช่างแหย่นี้เป็นเรื่องปกติของเด็กวัยเรียน หนูๆ อายุ 5 – 6 ขวบจะชอบล้อเลียนกันด้วยชื่อตลกๆ หรือไม่ก็แลบลิ้นปลิ้นตาหลอก ขณะที่เด็กวัย 8 ขวบขึ้นไปจะเริ่มพัฒนา “มุก” คำพูดแบบต่างๆ บางครั้งเขาอาจหลุดคำหยาบหรือประโยคเสียดสีแบบผู้ใหญ่ออกมา อย่างเช่น ตอนที่ลูกสาวคนโตของคุณหันไปบอกน้องเล็กว่า “ผูกโบแบบนั้นน่ะน่ารักตายละ”
อย่างไรก็ตาม การพูดล้อเลียน แหย่ หรือแซวเล่น ก็ไม่ใช่เรื่องต้องห้ามเสมอไป หากว่าเป็นการหยอกเอินกันฉันมิตร แนนซี่มูลลิง – ไรนด์เลอร์ ผู้อำนวยการโครงการศึกษาเรื่องการกลั่นแกล้งและอารมณ์อันธพาล แห่งวิทยาลัยเวลเลสเลย์ อธิบายว่า การพูดล้อกันเป็นแบบทดสอบแสนท้าทายเรื่องการเข้าสังคม (ซึ่งทำให้ลูกเรียนรู้ว่า ขอบเขตของการพูดจริงจังกับการล้อเล่นอยู่ตรงไหน) นอกจากนี้ยังช่วยพัฒนาทักษะด้านการสร้างอารมณ์ขันของเขาด้วย
แต่ถ้าหากว่าคำพูดร้ายๆ ที่ออกมาจากปากเล็กๆ ไปทำร้ายจิตใจผู้อื่นเข้า คงต้องรีบแก้ไขแล้วละ
– อาจต้องใช้มุกหลอกล่อ
เช่น ลองบอกลูกสาวว่า “ถ้าหนูเล่นกับน้องดีๆ ไม่ว่าน้อง น้องก็จะแบ่งของเล่นให้หนูเล่นด้วยไงคะ” (แม้ว่าความจริงอาจไม่เป็นไปตามเหตุและผลที่คุณกล่าวอ้างก็ตาม)
– อย่าขู่เข็ญบังคับให้เอ่ยคำขอโทษ
ถ้าการยั่วเย้านำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้งคุณแม่ก็ไม่จำเป็นต้องบังคับให้ตัวต้นเหตุออกปากขอโทษในทันที ดึงเขาออกมาก่อน จนกระทั่งเขาอารมณ์เย็นลง แล้วค่อยพูดคุยหาสาเหตุ เพราะบางทีความรู้สึกอยากแกล้งคนอื่นก็อาจมาจากสภาพอารมณ์ที่ไม่ดีของเจ้าตัวก็ได้นะ
– ตัดไฟตั้งแต่ต้นลม
ถ้าสังเกตว่าลูกชักจะเล่นแรงเกินไปจนคุมไม่อยู่ รีบชวนเขาทำกิจกรรมอย่างอื่นทันที อาจเริ่มต้นร้องเพลงขึ้นมาสักท่อน หรือทำอะไรตลกๆ ดึงดูดความสนใจก็ได้
– รู้ว่าเมื่อไรควรหยุด
ถ้าลูกกวนจนเกินขอบเขตและไม่ฟังเหตุผล ก็ต้องหยุดกิจกรรมนั้นๆ พร้อมอธิบายเหตุผลที่คุณต้องพาเขากลับบ้านทั้งที่ยังเล่นไม่เสร็จด้วย
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสาร AMARIN Baby & Kids