ลูกเริ่มมีกลิ่นตัว - Amarin Baby & Kids

ลูกเริ่มมีกลิ่นตัว

Alternative Textaccount_circle
event

กลิ่นตัวเกิดจาก 2 ปัจจัย คือ การมีเหงื่อออก ร่วมกับการย่อยสลายไขมันของแบคทีเรียที่ผิวหนัง ต่อมเหงื่อมี 2 แบบ คือ ต่อมเหงื่อทั่วไป มีมากที่ฝ่ามือฝ่าเท้าและต่อมเหงื่อชนิดที่มีการสร้างไขมันจำเพาะออกมาด้วย มีมากที่รักแร้ หนังศีรษะ อวัยวะเพศ ต่อมเหงื่อชนิดนี้จะเริ่มทำงานเมื่อเริ่มมีการทำงานของฮอร์โมนเพศตอนเข้าสู่วัยรุ่น ซึ่งทำให้เกิดกลิ่นที่มีลักษณะเฉพาะไม่เหมือนกลิ่นเหงื่อจากต่อมเหงื่อทั่วไป

 
เด็กอายุ 7 ขวบ ปัญหากลิ่นตัวที่พบบ่อยมักเกิดจากเหงื่อออกจากการวิ่งเล่นมากๆ ร่วมกับการขาดการดูแลทำความสะอาดชำระล้างคราบไคลออก แบคทีเรียจึงย่อยสลายจนเกิดกลิ่นขึ้น วิธีแก้ไขคือ

 
– ทำความสะอาด ร่างกายและเสื้อผ้าไม่ให้มีคราบสกปรกตกค้าง

 
– เลือกใช้เสื้อผ้า ถุงเท้า รองเท้าที่เหมาะสม มีการถ่ายเทอากาศที่ดี

 
– การใช้แป้งที่มีฤทธิ์ระงับการหลั่งเหงื่อ (มีส่วนผสมของเกลืออะลูมินัม แต่อาจเกิดการระคายเคืองผิวหนังได้ในบางคน)

 
– การใช้ลูกกลิ้งทาตำแหน่งที่มีเหงื่อออกมาก ซึ่งไม่ได้ลดการหลั่งเหงื่อ แต่เปลี่ยนความเป็นกรดด่างที่ผิวหนังไม่ให้เหมาะสมกับการเติบโตของแบคทีเรีย

 
– ในรายที่ยังไม่ดีขึ้น อาจปรึกษาแพทย์ผิวหนัง ทำ Iontophoresis เพื่อลดการทำงานของต่อมเหงื่อ

 
สาเหตุอื่นที่ทำให้ลูกมีกลิ่นตัวเร็ว ได้แก่ ลูกมีอาการแสดงของการเข้าสู่วัยหนุ่มเร็วกว่าปกติ เช่นลูกอัณฑะโต ขนรักแร้หรือขนที่อวัยวะเพศ การเจริญเติบโตเร็วเกินปกติ (น้ำหนักตัวและส่วนสูงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว)

 
กรณีนี้คุณควรรีบปรึกษาแพทย์ เพราะลูกอาจมีความผิดปกติของฮอร์โมนเพศ จำเป็นต้องได้รับการรักษา มิฉะนั้นลูกอาจหยุดโตเร็วกว่าปกติ ทำให้ตัวเตี้ยกว่าที่ควร

 
นอกจากนี้โรคที่มีเหงื่อออกมากกว่าคนปกติ เช่น โรคไทรอยด์เป็นพิษ ก็ทำให้เด็กมีกลิ่นตัวได้เช่นกัน หรือโรคที่มีความผิดปกติในการเผาผลาญกรดแอมิโนบางตัวทำให้เด็กมีกลิ่นตัวจำเพาะ เมื่อรักษาโรคที่เป็นสาเหตุแล้ว กลิ่นตัวจะดีขึ้น

 
แม้แต่อาหาร เครื่องดื่ม หรือยาบางอย่างอาจถูกขับออกทางเหงื่อ ทำให้เกิดกลิ่นตัวได้ เช่น หัวหอม กระเทียม ชา กาแฟ แอลกอฮอล์ จึงควรลองหยุดอาหารเหล่านี้แล้วดูอาการ

 
บางครั้งกลิ่นอาจเกิดจากกลิ่นปาก กลิ่นหนังศีรษะ กลิ่นจากหู จึงควรตรวจสอบดูว่ามาจากตำแหน่งใด เพื่อการดูแลรักษาที่เหมาะสมต่อไป

 

 

บทความโดย: แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจกุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up